ลำดับเหตุการณ์คดี'หมอหยอง'

ลำดับเหตุการณ์คดี'หมอหยอง'

ลำดับเหตุการณ์คดีสุริยันต์ สุจิตพลวงศ์หรือ"หมอหยอง"16ต.ค.58 กระแสข่าวลือตำรวจกองปราบฯจับกุมตัว จนถึง9พ.ย.58 "พล.อ.ไพบูลย์"เผยเสียชีวิตแล้ว

ช่วงเย็นวันที่ 16 ตุลาคม 2558 เกิดกระแสข่าวลือว่า ตำรวจกองปราบปรามจับกุมตัว นายสุริยันต์ สุจิตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง ในคดีร้ายแรง ต่อมา พล.ต.ต. อัคราเดช พิมลศรี ผู้บังคับการปราบปราม ออกมาให้ข้อมูลกับสื่อว่า กองปราบฯ ไม่ได้จับกุมหมอหยองตามที่มีกระแสข่าว และไม่มีการนัดหมายประชุม คณะพนักงานสอบสวน ที่กองปราบฯ ตามที่มีการส่งข้อความต่อกันทางแอพพลิเคชั่นไลน์

18 ต.ค.2558 พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ลงนามในคำสั่งกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่ 267/2558 เรื่องให้ข้าราชการตำรวจไปปฏิบัติราชการ ที่ศูนย์ปฏิบัติการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จำนวน 8 นาย ได้แก่ 1) พ.ต.อ.ศิวพงษ์ พัฒน์พงศ์พานิช รอง ผบก.ป. 2)พ.ต.อ.ไพโรจน์ โรจนขจร ผกก.2 บก.ป. 3) พ.ต.อ.วสุ แสงสุกใส รอง ผกก.2 บก.ป. 4) พ.ต.ท.ธรรมวัฒน์ หิรัณยเลขา รอง ผกก.2 บก.ป. 5) พ.ต.ท.จีรวัฏฐ์ บุญวัฒนาภรณ์ สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจทางหลวง 6) พ.ต.ท.ณัทกฤช พรหมจันทร์ สารวัตรกองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม 7) พ.ต.ท.พิทยา กล่ำเอม สารวัตร กลุ่มงานถวายความปลอดภัย กองบังคับการตำรวจทางหลวง 8) พ.ต.ท.สุวัฒชัย ศรีทองสุข สารวัตรกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยยังไม่มีความชัดเจนถึงเหตุผลในการโยกย้าย

20 ต.ค.2558 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาแอบอ้างเบื้องสูงว่ามีทั้งตำรวจและพลเรือนที่มีชื่อเสียงเกี่ยวข้อง และยอมรับมีการออกหมายจับแล้ว ตำรวจมีหลักฐานว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้ มีพฤติกรรมแอบอ้างเบื้องสูงในการเรียกรับผลประโยชน์ แต่ยังไม่ขอเปิดเผยชื่อ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีหมิ่นเบื้องสูงร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของทหาร โดยมี พล.ต.ท. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นหัวหน้า

21 ต.ค.2558 พล.ต.ท.ศรีวราห์นำตัวผู้ต้องหา 3 คนที่ร่วมกันกระทำความผิดในคดีหมิ่นเบื้องสูง ได้แก่ 1) นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หมอดูชื่อดังและที่ปรึกษาพิเศษคณะกรรมการฝ่ายจัดงาน Bike for Mom 2) พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา สารวัตรกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และ 3) นายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ คนสนิทของนายสุริยัน มาที่ศาลทหารกรุงเทพในเวลาประมาณ 15.00 น.เพื่อขอฝากขังผัดแรก โดยทั้ง 3 คนถูกตั้งข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ โดยในส่วนของ พ.ต.ต.ปรากรม ยังถูกดำเนินคดีข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในความครอบครอง, มีใช้ซึ่งวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ และตั้งวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมอีกด้วย

ศาลอนุญาตให้ฝากขังผัดแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2558 และภายหลังเจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบสวนแล้วเสร็จ ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาขึ้นรถเรือนจำไปควบคุมตัวที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี มณฑลทหารบกที่ 11

พล.ต.ท.ศรีวราห์เปิดเผยว่าผู้ต้องหาทั้ง 3 คนเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ ทั้งสามคนให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและให้การพาดพิงถึงนายตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง 8 นายที่ถูกโยกย้ายเมื่อวันที่ 18 ต.ค. ผู้ต้องหากระทำความผิดมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 เดือนและมีความผิดมากกว่า 1 กรรมและอาจมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มอีก ตำรวจอยู่ระหว่างตรวจสอบหลักฐานว่ามีความความเชื่อมโยงถึงบุคคลใดบ้าง จะมีการดำเนินคดีและออกหมายจับเพิ่มเติม

22 ต.ค.2558 ตำรวจขยายผลค้นบ้านผู้ต้องหาโดยจุดแรกเป็นคอนโดมิเนียมในซอยพหลโยธิน 24 ห้องพักของ พ.ต.ต.ปรากรม ตำรวจอายัดรถยนต์หรูและรถจักรยานยนต์รวม 18 คัน พร้อมติดประกาศห้ามเคลื่อนย้ายหรือกระทำการใดๆกับทรัพย์สินทั้งหมด วันเดียวกันตำรวจยังเข้าตรวจค้นห้องพักของนายสุริยัน ภายในซอยพหลโยธิน 14 หลังจากนั้นพล.ต.อ.จักรทิพย์ให้สัมภาษณ์ว่า ได้อายัดทรัพย์สินผู้ต้องหาไว้จำนวนหนึ่งแล้ว

24 ต.ค.2558 ช่วงเช้ามีข่าวลือในสื่อสังคมออนไลน์ว่า พ.ต.ต.ปรากรม 1 ใน 3 ผู้ต้องหาเสียชีวิตแล้วระหว่างถูกคุมขังที่เรือนจำชั่วคราว มทบ.11 แต่ยังไม่มีการยืนยัน กระทั่ง15.00 น. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเปิดเผยว่าได้รับรายงานจากกรมราชทัณฑ์ เหตุนักโทษผูกคอฆ่าตัวตายในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี มทบ.11 ซึ่งได้ส่งตัวไปยังโรงพยาบาล แต่เสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นทันที

15.45 น. กรมราชทัณฑ์ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ผู้ต้องหาคดี ม.112 เสียชีวิตแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ได้รับรายงานเมื่อเวลาประมาณ 22.00 น.ของวันที่ 23 ต.ค.2558 แถลงการณ์ระบุว่าพ.ต.ต.ปรากรมได้พยายามฆ่าตัวตายด้วยการผูกคอ เจ้าหน้าที่ได้ช่วยเหลือและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา ได้มีการส่งชันสูตรพลิกศพที่สถาบันนิติเวช สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรมราชทัณฑ์แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี พ.ต.ต.ปรากรมเสียชีวิต และได้กำชับให้ดูแลผู้ต้องหาอีก 2 คน คือ นายสุริยันและนายจิรวงศ์อย่างใกล้ชิด ด้าน พล.ต.อ.จักรทิพย์เปิดเผยว่าจากการตรวจค้นห้องพักภายในคอนโดมิเนียมของ พ.ต.ต.ปรากรมพบทรัพย์สินของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาแอบอ้างสถาบันเบื้องสูงไปแล้วก่อนหน้านี้ รวมอยู่ด้วย

25 ต.ค.2558 นายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ได้กำชับเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ต้องขังคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง หลังมีกรณีพ.ต.ต.ปรากรมฆ่าตัวตาย และพบว่านายสุริยันป่วยด้วยโรคความดันกำเริบ สั่งแพทย์ทหารดูแลอย่างใกล้ชิด สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ระบุว่าได้รับการประสานงานจากตำรวจให้เข้าตรวจสอบการทำธุรกรรมของนายสุริยันและปปง.พร้อมเข้ามาตรวจสอบในวันที่ 29 ต.ค.2558 ยังไม่มีการส่งศพ พ.ต.ต.ปรากรมมาชันสูตรที่สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ

26 ต.ค.2558 พล.ต.ต.นายแพทย์พรชัย สุธีรคุณ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจยืนยันว่ายังไม่มีการส่งศพ พ.ต.ต.ปรากรมมาชันสูตร ขณะที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งพล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา ที่ปรึกษาสบ.10 เป็นโฆษกตร.แทน พล.ต.อ.ประวุฒิ ถาวรศิริ ซึ่งมีรายงานว่าลาพักร้อนไปต่างประเทศ

27 ต.ค.2558 ญาติของ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา เดินทางมารับศพไปประกอบพิธีทางศาสนาแล้ว หลังเจ้าหน้าที่ดำเนินการชันสูตร โดยไม่ได้ส่งศพไปสถาบันนิติเวช เจ้าหน้าที่เผยญาติไม่ติดใจสาเหตุการเสียชีวิต

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเสนอให้ปิดเรือนจำชั่วคราว แขวงถนนนครไชยศรี ภายในมณฑลทหารบกที่ 11 ว่าเรือนจำชั่วคราวยังมีความจำเป็นเนื่องจากยังคงอยู่ในช่วงสถานการณ์พิเศษ ขณะที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ยืนยันว่าการเปลี่ยนตัวโฆษก ตร.เป็นไปตามวาระ ไม่เกี่ยวข้องกับกระแสข่าวลือใดๆ

28 ต.ค.2558 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.นำทีมพนักงานสอบสวนคดีหมิ่นเบื้องสูงแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยชี้แจงว่าผู้ต้องหาทั้ง 3 คนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดรวม 13 คดี ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการแอบอ้างสถาบันเบื้องสูงเพื่อขอการสนับสนุนจากเอกชนในการจัดทำสิ่งของและได้รับประโยชน์จากการกระทำดังกล่าว

29 ตุ.ค.2558 พล.ต.อ.ประวุฒิ ถาวรศิริ ที่ปรึกษา (สบ10) ยื่นหนังสือลาออกจากราชการตำรวจ แต่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ยืนยันว่ายังไม่ทราบเรื่อง ก่อนจะยอมรับในเวลาต่อมาว่า พล.ต.อ.ประวุฒิ ลาออกแล้ว โดยให้เหตุผลต้องการพักผ่อนเพราะกรำงานหนักมาตลอด โดยยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งจนถึงวันนี้ พล.ต.อ.ประวุฒิ ยังไม่ปรากฏตัว

ระหว่างนี้มีกระแสข่าวออกมาเป็นระยะว่า มีทหารระดับพันเอกไปจนถึงพลตรี หลายคน อยู่ในข่ายต้องถูกดำเนินคดี กระทั่งวันที่ 8 พ.ย.2558 มีกระแสข่าว พล.ต.วิจารณ์ จดแตง เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดี พ.อ.คชาชาติ บุญดี ตามมาตรา 112 ซึ่งมีกระแสข่าวว่าเข้าไปยุ่งกับความไม่ชอบมาพากลในโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ และเสื้อโครงการสำคัญ

9 พ.ย. 2558 พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง ผู้ต้องหาคดีความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี มณฑลทหารบกที่ 11 ได้เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 7 พ.ย.