‘ปีนัง’ กำลังดี

‘ปีนัง’ กำลังดี

ไม่ใช่เมืองในฝัน แต่จอร์จทาวน์-ปีนังคือปลายทางที่จะเติมความหมายให้กับบางวันโดยไม่ต้องรอให้ฝันเป็นจริง

ของเหลวสีน้ำตาลถูกส่งผ่านปลายลิ้นไปแล้ว แต่ฟองนมรูปหัวใจยังทิ้งคราบบนริมฝีปาก ...ลาเต้ร้อนแก้วแรกของเช้าแรกในปีนัง ฉันว่ามันก็หมือนกับการเดินทางครั้งนี้ ขม มัน หวาน หอม = กลมกล่อม ...สำคัญคือคนที่นั่งจิบรสชาติแห่งความรื่นรมย์ข้างๆ กัน


ฉันใช้เวลาไม่มากในการตัดสินใจแพ็คกระเป๋าออกเดินทางพร้อมกับเพื่อนสาวต่างสไตล์ และใช้เวลาอีกเล็กน้อยในการหลงรักเมืองเล็กๆ แห่งนี้


ปีนังใต้เงาอดีต


ชื่อเสียงของปีนังคุ้นหูคนไทยตั้งแต่สมัยคุณปู่ แต่ยอมรับตามตรงว่า ฉันรู้เรื่องราวของเมืองนี้น้อยมาก นอกจากความตั้งใจที่จะมาเสพงานอาร์ตๆ ในบรรยากาศเมืองเก่าจอร์จทาวน์ เพื่อกระตุ้นอะดรีนาลีนในร่างกายแล้ว มีข้อมูลอีกนิดหน่อยเท่านั้นที่พกติดตัวมา...


“เมืองหลวงของปีนังชื่อจอร์จทาวน์ จอร์จทาวน์เป็นเมืองมรดกโลก ที่นี่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ปีนังเป็นรัฐหนึ่งในมาเลเซียที่มีคนเชื้อสายจีนอยู่เยอะที่สุด”


ฉันทวนความเท่าที่จำได้ขณะยืนอยู่หน้าสถาปัตยกรรมแบบจีนอันโออ่าของ บ้านสกุลคู (Khoo Kongsi) หนึ่งในบ้านประจำตระกูล 5 หลังในย่านจอร์จทาวน์ที่ยังประกาศความยิ่งใหญ่ของชาวจีนโพ้นทะเลที่มาลงหลักปักฐานทำมาหากินเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว


ว่ากันว่า สกุลคูคือชาวจีนกลุ่มแรกๆ จากมณฑลฮกเกี้ยนของจีนที่เดินทางเข้ามาในปีนัง ในช่วงทศวรรษที่ 1890 ...และบ้านประจำตระกูลหลังนี้ คือสิ่งที่พวกเขาทำเป็นอย่างแรก!


บันทึกไว้ด้วยว่าตัวบ้านเมื่อแรกสร้างใช้เสาไม้รองรับน้ำหนักของหลังคากระเบื้องสีแดงซึ่งมีรูปทรงโค้งเล็กน้อย ด้านบนหลังคามีรูปสลัก มังกร หงส์ และสัตว์ในตำนาน ตกแต่งประดับประดาด้วยภาพวาดจำนวนมากที่ได้รับความนิยมในหมู่ชาวจีน ภายในบ้านมีห้องโถงขนาดใหญ่ซึ่งตกแต่งด้วยงานไม้สลักละเอียดปราณีต และเสาที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ทั้งหมดเป็นผลงานของช่างฝีมือระดับปรมาจารย์ของจีน


นึกย้อนกลับไปในห้วงเวลานั้นความหรูหราของบ้านหลังนี้คงเทียบชั้นพระราชวังของจักรพรรดิจีนเลยทีเดียว แต่น่าเสียดายที่เพียงคืนแรกหลังสร้างบ้านเสร็จก็เกิดไฟไหม้โดยไม่ทราบสาเหตุ ยายเมี้ยนแถวปีนังเลยแอบเม้าท์ว่าน่าจะเป็นเพราะทวยเทพพิโรธกับความอหังการสร้างบ้านใหญ่โตเทียบชั้นเจ้านาย


จริงเท็จอย่างไรไม่มีใครบอกได้ แต่ด้วยความร่ำรวยและทรงอิทธิพลของตระกูลคู บ้านถูกสร้างขึ้นมาใหม่ในปี ค.ศ. 1902 และยังคงตั้งตระหง่านอยู่จนถึงปัจจุบัน


ฉันใช้เวลาชมห้องนั้นห้องนี้ซึ่งจัดแสดงวิถีชีวิตของชาวจีนในปีนังเมื่อศตวรรษก่อน รวมถึงแผนผังลูกหลานแดนมังกรสกุลนี้อยู่พักใหญ่ จินตนาการว่ายุคนั้นคงบรรยากาศคล้ายๆ กับหนังจีนแนวเจ้าพ่อ ที่ตระกูลใหญ่ห้ำหั่นกันทั้งในเรื่องการค้าขายและชิงอำนาจความยิ่งใหญ่


เอ...แล้วชาวพื้นเมืองไปอยู่ที่ไหน ระหว่างที่หาคำตอบไม่ได้ มีคำแนะนำให้ไปชมบ้านอีกหลังหนึ่งซึ่งแสดงถึงการผสมกลมกลืนของสองวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี นั่นคือ คฤหาสน์ ปีนัง เปอรานากัน (Pinang Paranakan Mansion) หลังนี้เป็นตึก 2 ชั้น ออกแบบโดยผสมผสานความเป็นจีนและมาเลย์เข้าด้วยกัน เจ้าของเป็นของคหบดีชาวจีนที่มาตั้งรกรากในปีนังจนกลายเป็นชาวพื้นเมืองที่เรียกว่า Baba-Nyonya คล้ายๆ กับทางภาคใต้ของไทยที่ออกเสียงว่า “บาบ๋า ย่าหยา” ซึ่งหมายถึง กลุ่มลูกครึ่งมลายู- จีนที่มีวัฒนธรรมลูกผสม โดยชื่อ “เปอรานากัน” นั้นหมายถึง “เกิดที่นี่”


ส่วนอีกหลังที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่แพ้กัน เรียกสั้นๆ ว่า “Blue Mansion” ชื่อเต็มๆ คือ คฤหาสน์เฉิงฟัตเจ๋อ (Cheong Fatt Tze Mansion) ใครจะมาชมต้องวางแผนเรื่องเวลาให้ดี เพราะที่นี่เปิดแค่ 3 รอบต่อวัน โดยจะมีมัคคุเทศน์นำชมพร้อมข้อมูลแน่นปึ๊ก โดยเฉพาะเรื่องฮวงจุ้ย


บ้านสีฟ้าอันโอ่อ่านี้สร้างขึ้นในทศวรรษที่ 1880 เคยเป็นที่พักของเฉิงฟัตเจ๋อ บุคคลสำคัญของจีนในสมัยที่มีการจัดตั้งเขตช่องแคบปีนังในช่วงศตวรรษที่ 19 สร้างโดยปรมาจารย์ช่างฝีมือชาวจีน


ตัวอาคารประกอบด้วยห้อง 38 ห้อง ลานบ้านมีทางเดินหินแกรนิต 5 แห่ง มีบันได 7 จุด และมีหน้าต่าง 220 บาน ทุกองค์ประกอบล้วนมีพื้นฐานจากความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ย รอบๆ บ้านประดับด้วยรูปปั้น รูปสลัก ผ้าและวัตถุโบราณมากมาย


ฉันมองไปรอบๆ เห็นชัดว่า ทุกรายละเอียดคืองานฝีมือชั้นครู ไม่ว่าจะเป็น งานไม้แกะสลักแบบจีน หน้าต่างบานเกล็ดแบบโกธิก กำแพงอิฐสีน้ำตาล งานตัดและตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบและกระจก งานหล่อเหล็กแบบสกอต ก่อนจะไปหยุดที่กระเบื้องปูพื้นที่นักท่องเที่ยวทั้งเอเชียและยุโรปกำลังเหยียบยืนอยู่ เขาบอกว่ากระเบื้องนี้สั่งทำจากต่างประเทศ อายุการใช้งานนับร้อยปีแล้ว แต่ยังคงสวยงามแข็งแรง (ไม่เหมือนของสมัยนี้!)


แม้ว่าบ้านหลังใหญ่จะปลูกสร้างเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของผู้เป็นเจ้าของ แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านหลังนี้กลับหนักไปทางดราม่าน้ำตาริน เพราะท่านเฉิงมีลูกมาก นิสัยใจคอก็แตกต่างกันไปไม่ได้อย่างใจผู้เป็นพ่อ ความไม่ลงรอยกันเป็นเหตุให้ครั้งหนึ่งคฤหาสน์อันแสนสุขได้กลายเป็นที่อยู่ของคนจร และทรุดโทรมลงเป็นอันมาก ก่อนจะได้รับการบูรณะจากกลุ่มอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในทศวรรษที่ 1990


และในปี ค.ศ.2000 ยูเนสโกก็เลือกให้เป็นการบูรณะบ้านหลังนี้เป็นโครงการยอดเยี่ยมในกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คืนความโดดเด่นให้ Blue Mansion ซึ่งปัจจุบันบางส่วนเปิดเป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย


ปีนังหลังพิงกำแพง


ทุกคนล้วนมีอดีต....แต่ถ้ามัววนเวียนอยู่กับเรื่องราวในอดีตคงไม่ดีแน่ ฉันและเพื่อนร่วมทางเลือกเดินไปข้างหน้าเพื่อค้นหาบางสิ่งที่ซ่อนอยู่ ณ ปัจจุบันของเมืองมรดกโลก ‘จอร์จทาวน์’


ใช่แล้ว, ศิลปะบนกำแพงที่ทำให้เมืองเก่ากลายเป็นเมืองชิคๆ ตั้งแต่ปี 2012


เรื่องมีอยู่ว่า… ในเทศกาลประจำปีของเมืองจอร์จทาวน์ (Georgetown Festival) เออร์เนสต์ ซาคาเรวิก (Ernest Zacharevic) ศิลปินเป็นชาวลิธัวเนียนที่พักอยู่ในปีนังช่วงนั้นได้เสนอไอเดียภาพวาดตามกำแพงสะท้อนวิถีชีวิตของชาวปีนังให้กับคณะกรรมการงานฯ และไอเดียนี้ก็ได้รับการตอบรับ ชั่วข้ามคืน...ไม่เพียงภาพวาด แต่ภาพที่ใช้ของเก่าเป็นองค์ประกอบ รวมถึงศิลปะเหล็กดัด ได้มอบคุณค่าใหม่ให้เมืองเก่าและโปรยเสน่ห์ไปยังนักเดินทางจากทั่วโลก


ถึงจะไม่ใช่อาร์ตตัวแม่ แต่งานเหล่านี้คือแรงดึงดูดอันดับหนึ่งที่ดึงฉันออกจากบ้านให้มาเดินกลางแดดแบบไม่แคร์ยูวี


นาทีนี้มีเพียงแผนที่กับสองเท้าเท่านั้นเป็นตัวช่วย เราอุ่นเครื่องกันด้วยภาพรุ่นใหม่ของมาริลิน มอนโร กับ มิสเตอร์บีน ...แน่นอนว่าท่าโพสอย่างง่ายคือให้หลังพิงกำแพงไว้ก่อน เดินเรื่อยๆ ไม่ทันเหนื่อยก็ถึงผลงานไฮไลท์ที่อยู่ลิสต์ ภาพ Old Motorcycle ผลงานเออร์เนสต์ ที่เล่นเอาหลอน เพราะสีเริ่มซีด ดวงตาของเด็กผู้ชายบนมอเตอร์ไซค์เริ่มหายไป แต่ยังไงก็ยังปลื้มอยู่ดีที่ได้เห็นของจริง


ลัดเลาะผ่านถนนโน้นออกถนนนี้ มีทั้งภาพวาด ภาพเหล็กดัด ให้ได้หยุดแชะแอนด์แชร์ ถ้าเป็นงานใหม่สีสันก็จะยังสดใส แต่ถ้าเป็นงานเก่า ภาพออกจะเลือนๆ ไปบ้าง แต่ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่หาไม่เจอ เพราะแทบทุกมุมทุกภาพมีนักท่องเที่ยวเป็นจุดสังเกต อย่างภาพ Kids on Bicycle อันโด่งดัง ใครอยากเข้าไปอยู่ในเฟรมต้องต่อคิวกันเลยทีเดียว


แม้สีสันจะไม่สดใส แต่ภาพนี้ยังคงถ่ายทอดความสุขของสองพี่น้องบนจักรยานคู่ใจได้อย่างน่ารัก เช่นเดียวกับภาพ Boy on chair บนถนนอีกเส้นหนึ่ง ที่เด็กชายกำลังเขย่งปลายเท้าบนเก้าอี้ และภาพ Kungfu Girl สาวน้อยกังฟู บนกำแพงขาวข้างถนน ที่ดูแล้วอดยิ้มตามไม่ได้


ความสนุกของการชมภาพเหล่านี้ นอกจากการ’ค้นหา’ ก็คือการเอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในภาพ ราวกับเป็นงานศิลปะชิ้นใหม่ ฉันใช้เวลาจนเกือบหมดวันเพื่อไล่ตามเรื่องราวที่ศิลปินได้พยายามสอดแทรกไว้ในงานของพวกเขา ซึ่งทุกปีจะมีงานศิลปะใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นมา อย่างเช่นล่าสุด กับโปรเจ็กท์ 101 Lost Kitten ถูกใจคนรักแมวอย่างยิ่ง เพราะไม่ว่าจะไปทางไหน ก็จะเห็นภาพแมวเหมียวทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ส่งสายตามาทักทายตลอด
ทอดน่องท่องจอร์จทาวน์กันจนสองขาเริ่มล้า แสงตะวันเริ่มอ่อนแรง ใครบางคนชวนเติมความสุนทรีย์ด้วยการไปชมพระอาทิตย์ตกที่หมู่บ้านชาวประมงริมทะเล...


ปลายสะพานไม้ทอดยาวลงไปในผืนน้ำ ความสงบนิ่งเข้ามาแทนความเคลื่อนไหว ฉันลำดับภาพปีนังทีละภาพๆ


อาคารโคโลเนียลสไตล์ชิโน-โปรตุกิส ศิลปะแบบอังกฤษและโปรตุเกส มรดกยุคอาณานิคม, คฤหาสน์ชาวจีนผู้มั่งคั่ง, งานศิลปะตามตรอกซอกซอย, อาคารบ้านเรือนที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี, รอยยิ้มและไมตรีของเจ้าของบ้าน นี่คือส่วนผสมที่กำลังดีของปีนัง คือรสชาติกลมกล่อมของการเดินทาง
ปีนังในม่านหมอก(ควัน)


สโลว์ไลฟ์หรือเปล่าไม่รู้ แต่ฟ้าใสๆ ในปีนังเปิดโอกาสให้เราได้ละเลียดความสุขแบบช้าๆ และเต็มอิ่ม เสียดายที่วันสุดท้ายก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ หมอกควันไฟจากอินโดนีเซียซึ่งพ่นพิษไปทั่วทั้งภูมิภาคเคลื่อนตัวเข้าปกคลุมปีนังจนท้องฟ้าขมุกขมัว คำบางคำผุดขึ้นมาในความคิด... “ความสุขมักผ่านไปเร็วเสมอ”


แต่ใช่ว่าจะถอดใจกันง่ายๆ สี่สาวนักเดินทางยังเลือกทำตามแผนเดิม นั่นคือ ใช้เวลาตั้งแต่เช้าตรู่ขึ้นไปที่ Penang Hill


การเดินทางในปีนังนั้นถ้าใครเคยผ่านการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯมาแล้วต้องบอกว่าง่ายแสนง่าย นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ถ้าไม่เดินเท้าก็ขี่จักรยาน เพราะแต่ละจุดอยู่ไม่ห่างกันมากและผังเมืองก็ดูไม่ซับซ้อน แต่กับจุดหมายวันนี้ที่อยู่ไกลถึงบนเขา ฉันเลือกใช้บริการรถโดยสารประจำทาง ซึ่งถ้าเป็นสายที่วิ่งในเมืองมีรถฟรีให้เลือกด้วย


อากาศแบบนี้อาจไม่เหมาะกับการขึ้นไปชมวิวพาโนรามา ณ จุดที่สูงที่สุด แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคในการไปสักการะเจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่ ณ วัดเก็กลกสี่ (Kek Lok Si) หรือในอีกชื่อ Temple of Supreme Bliss


วัดนี้ตั้งอยู่ที่อีร์อิตัม บนเนินเขา“ฮีซาน” หรือเนินเขานกกระเรียน เป็นหนึ่งในวัดดังของปีนัง ว่ากันว่าบริเวณนี้ฮวงจุ้ยดี จึงสร้างวัดขึ้นในปี ค.ศ. 1893 โดยจักรพรรดิแมนจู กวนซู พระราชทานพระราชานุญาตให้สร้าง รวมทั้งพระราชทานแผ่นจารึกและพระไตรปิฎกจำนวน 70,000 ฉบับแก่วัด


จากจุดลงรถโดยสาร นักท่องเที่ยวต้องเดินเท้าต่อไปอีกพอสมควรกว่าจะไปถึงตัวอาคารหลัก ซึ่งในบริเวณนี้มีทั้งหอสวดมนต์ เจดีย์ หอระฆัง และสระเต่าให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมทำบุญตามศรัทธา


เราแวะสักการะพระพุทธรูปในหอสวดมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล ได้รับคำแนะนำว่า ถ้าใครอยากขอพรเพิ่มเติม ให้เลือกริบบิ้นพร้อมคำอธิษฐานที่ทางวัดเตรียมไว้ให้ สวดมนต์ไหว้พระเสร็จก็นำไปแขวนไว้ที่กิ่งไม้ในกระถางด้านหน้า ...ฉันทำตามอย่างว่าง่าย จากนั้นจึงเดินต่อไปตามป้ายบอกทางสำหรับคนที่ต้องการใช้บริการรถกระเช้าขึ้นไปบนยอดเจดีย์ เพื่อชื่นชมรูปหล่อเจ้าแม่กวนอิมสูงกว่า 30 เมตร


ในวันที่ฟ้าเปิด มองจากบนนี้จะเห็นเมืองปีนังได้เกือบทั้งเมือง แต่วันนี้ที่ดีที่สุดคือการเดินชมรอบๆ เจดีย์ พิสูจน์คำบอกเล่าที่ว่า นี่คือการผสมผสานระหว่างฐานเจดีย์แบบจีน ตัวเจดีย์ตามแบบไทย และยอดเจดีย์แบบพม่าเข้าด้วยกัน ทว่า สิ่งที่ฉันเห็นแล้วต้องอมยิ้มกลับเป็นรูปปั้นเล็กๆ ที่มีทั้ง เณรน้อย มิกกี้เม้าส์ สุนัข แมว และอื่นๆ


ปีนังช่างกรุ่นกลิ่นอายศิลปะจริงๆ เราใช้เวลาอยู่สักพักก็กลับลงจากยอดเขามุ่งหน้าเข้าเมืองเพื่อเติมเสบียง


สำหรับนักท่องเที่ยวแล้วเสน่ห์อีกอย่างของเมืองนี้คือ อาหาร และอาหารหลายๆ อย่างก็มีหน้าตาคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็น Char Koay Teow อาหารยอดนิยมที่คล้ายผัดซีอิ๊วบ้านเรา จุดเด่นอยู่ตรงใช้เตาถ่านในการปรุงและใส่กุ้งขนาดกำลังดีมาให้ด้วย, ฮกเกี้ยนหมี่ รสชาติจัดจ้านโรยหน้าด้วยเนื้อไก่ ไข่ต้ม และกระเทียมเจียว หรือขนมหวานที่ละม้ายคล้ายลอดช่องชื่อ Cendol


แต่ที่ได้ใจไปเต็มๆ ต้องยกให้ร้านกาแฟเก๋ๆ ที่มีให้เลือกมากมายหลากหลายสไตล์ เติมเต็มความชิลล์ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง


วันนั้น, เราเลือกอำลาปีนังด้วยการนั่งอ้อยอิ่งกันที่ร้านเล็กๆ ชื่อ Mugshot Café ดีกรีความอาร์ตบวกปริมาณคาเฟอีนทำให้ฉันแทบจะเปลี่ยนใจใช้เวลาจิบความกลมกล่อมของปีนังต่ออีกสักหลายๆ วัน แต่นั่นก็เป็นแค่ความคิด...


ฉันใช้เวลาที่เหลือเฝ้ามองเงาอดีตเคลื่อนไหวในจังหวะปัจจุบัน ดูผู้คนที่เดินทางอยู่บนถนนศิลปะอย่างมีชีวิตชีวา ยิ้มให้กับคนข้างๆ ที่เรียกได้เต็มปากว่า “เพื่อนร่วมทาง”


ไม่มีคำพูดใดๆ เพื่อเอ่ยลา มีเพียงเสียงหัวใจที่บอกว่า...แล้วพบกันใหม่ ‘ปีนัง’

................


การเดินทาง


สายการบินแอร์เอเชียบินตรงจากสนามบินนานาชาติดอนเมือง (กรุงเทพฯ) - สนามบินนานาชาติปีนัง และปีนัง-ดอนเมือง ทุกวัน หรือจะใช้บริการรถไฟก็มีขบวนกรุงเทพ-บัตเตอร์เวอร์ธ แล้วนั่งเรื่อเฟอร์รี่ข้ามฟากไปปีนัง สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 0 2223 7010, 0 2223 7020, 1690 ทางรถยนต์มีรถตู้จากหาดใหญ่-ปีนัง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง


หากเดินทางโดยเครื่องบิน จากสนามบินเข้าตัวเมืองจะมีรถแท็กซี่และลิมูซีนให้เลือก โดยสามารถซื้อคูปองค่าโดยสารได้ที่เคาน์เตอร์บริการรถแท็กซี่ภายในสนามบินก่อนขึ้นรถ แต่ราคารถลิมูซีนจะแพงกว่าแท็กซี่ ส่วนการเดินทางภายในเกาะปีนังสามารถใช้บริการรถโดยสารสาธารณะได้อย่างสะดวกสบาย สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวได้ที่ Penang Global Tourism โทรศัพท์ +604 264 3456 หรือ www.visitpenang.gov.my