สั่ง 'บินไทย-ขสมก.-ร.ฟ.ท.' ลดรายจ่ายภายใน 30 วัน

สั่ง 'บินไทย-ขสมก.-ร.ฟ.ท.' ลดรายจ่ายภายใน 30 วัน

"อาคม" สั่ง "การบินไทย-ขสมก.-ร.ฟ.ท." ทำแผนปรับลดสิทธิประโยชน์ผู้บริหารระดับสูง พร้อมทำแผนลดรายจ่ายเสนอนายกฯภายใน 30 วัน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงกรณี ครม.ได้พิจารณาเรื่องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ และมีคำสั่งให้กระทรวงคมนาคม พิจารณามาตรการปฏิรูปบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบใน 30 วันว่า กระทรวงคมนาคมกังวลมาก ถึงแผนปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหาขาดทุน ต้องฟื้นฟู ทั้ง การบินไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ดังนั้นจึงได้สั่งทั้ง 3 หน่วยงาน เร่งทำแผนการปรับลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ รวมถึงสิทธิประโยชน์ของผู้บริหาร ทั้งอดีตถึงปัจจุบัน รายงานกลับมายังกระทรวงคมนาคม ภายในเดือน พ.ย.นี้ ก่อนจะเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามเวลาที่กำหนด

“รัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหา อย่างการบินไทย ต้องฟื้นฟู และพนักงานในองค์กร ต้องทำความเข้าใจ ว่าโครงสร้างการดำเนินงานขององค์กร ไม่สัมพันธ์กับบุคลากร และเนื้องานที่ทำอยู่ จะเห็นว่าตัวองค์กรยังโต ค่าใช้จ่ายระดับบนมีสูง รับเงินเดือนมาก แต่ความรับผิดชอบน้อย และที่ผ่านมา การบินไทยพยายามปรับโครงสร้างฝ่ายบริหารกว่า 77 ตำแหน่ง แต่ต้องดูว่า เมื่อปรับแล้ว ทำไมค่าใช้จ่ายยังสูงอยู่ การปรับทำได้จริง หรือไม่”

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ไปปรับแผนดำเนินงานใหม่ทั้งหมด เพื่อให้องค์กรอยู่ได้จริง และวางแผนถึงอนาคตด้วย หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับองค์กร ก็ต้องมีแผนรองรับ ซึ่งนอกจากการบินไทยแล้ว รัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาขาดทุน เข้าแผนฟื้นฟู ก็ต้องปรับตัวในการทำแผน ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ กลับมายังคมนาคม ภายใน 30 วันเช่นกัน

ด้านนายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน และการบัญชี (ซีเอฟโอ) บริษัท การบินไทย กล่าวว่า การที่บริษัทขาดทุนนั้น เพราะได้รับผลกระทบจาก 2–3 ปัจจัย คือ ผลกระทบจากเหตุระเบิดในพื้นที่ราชประสงค์ ที่ส่งผลให้ช่วงเดือนต.ค.-ก.ย. มีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (โหลดแฟกเตอร์) ลดลง ฉุดภาพรวมรายได้ติดลบอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังประสบปัญหายอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และการปรับโครงสร้างงบดุลบริษัทฯ ยังไม่เห็นผลโดยเฉพาะการจัดการสินทรัพย์

“หากมองว่าเงินเดือนของตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง และผลตอบแทนของบอร์ดสูง ทำให้เป็นผลกระทบกับการขาดทุน คงไม่ใช่สาเหตุทั้งหมด เพราะปัจจุบัน ผลตอบแทนของบอร์ดเรียกได้ว่าเป็นศูนย์ จากการรายงานผลประโยชน์บอร์ดต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้แจงว่า 6 เดือนของปี 58 บอร์ดได้รับผลประโยชน์เป็นศูนย์ ซึ่งหมายความว่า ทั้งสิทธิประโยชน์บัตรโดยสาร หรือสิทธิอื่น ๆ ไม่มีอยู่แล้ว มีเพียงเบี้ยประชุมที่ได้ตามระเบียบทั่วไป ซึ่งไม่ได้เยอะ”

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มว่า รายละเอียดค่าตอบแทนบอร์ดการบินไทย และเจ้าหน้าที่บริหาร ตามมติในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 57 เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 57 ได้กำหนดให้ ค่าตอบแทนกรรมการบอร์ด คนละ 50,000 บาทต่อเดือน เบี้ยประชุมคนละ 30,000 บาท แต่ประธานกรรมการได้รับเบี้ยประชุมสูงกว่ากรรมการ 25% และรองประธานกรรมการได้รับเบี้ยประชุมสูงกว่ากรรมการ 12.5% คณะกรรมการ ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการย่อยอื่นๆ ได้อีก และจะได้รับเบี้ยประชุม และค่าตอบแทนอีกคนละ 10,000 บาท

นอกจากนี้ คณะกรรมการตรวจสอบ ให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือน คนละ 30,000 บาท เดือนใดไม่มีประชุม คงให้ได้รับค่าตอบแทนด้วย และคณะกรรมการ ได้รับเงินโบนัสคำนวณ 0.2% ของกำไรสุทธิก่อนผลกำไร ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จากงบการเงินรวม ในวงเงินรวมไม่เกิน 30 ล้านบาท แต่ขณะเดียวกันการบินไทยได้ยกเลิกสิทธิประโยชน์ด้านบัตรโดยสาร ตามมติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปแล้ว