ไฟเขียวบีโอไอ อัดแพ็กเกจภาษีเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ไฟเขียวบีโอไอ  อัดแพ็กเกจภาษีเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ครม.ไฟเขียว บีโอไอเพิ่มสิทธิประโยชน์ภาษีในการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพิ่มอีก 4 ปี พร้อมตั้ง "PPP ฟาสแทร็ก" 6 โครงการ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่าการประชุมครม.ในวันนี้ กระทรวงการคลัง ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เพื่อพิจารณาในเรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยจะปรับเปลี่ยนเป็นคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ จากเดิมเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมามีการเรียกผู้ประกอบการแต่ละคลัสเตอร์เรียบร้อยแล้ว

"กระทรวงการคลังมองว่าขณะนี้นักลงทุนยังมีความลังเลในการตัดสินใจลงทุน เพราะสถานการณ์ทางการเมืองไม่แน่นอน จึงได้ออกมาตรการเพื่อให้มีการจูงใจพิเศษ เพื่อให้นักลงทุนตัดสินใจได้ง่าย ตอนนี้นักลงทุนชั่งใจเพราะรอปัจจัยทางการเมือง เพราะเรื่องภาษีเขาไม่ได้กังวล ทางกระทรวงการคลังจึงได้ร่วมกับบีโอไอ เพื่อศึกษาแพคเกจ ถ้าสนใจลงทุนตอนนี้มีมาตรการจูงใจอะไรบ้าง"นายสมคิด กล่าว

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังร่วมกับบีโอไอ โดยกำหนดแพคเกจออกมา 2 เรื่อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในปีนี้และปีหน้า ซึ่งในส่วนของบีโอไอนั้น หากผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอยู่แล้วนั้น และมีการลงทุน 70% ในช่วงมกราคม 57 - มิถุนายน 59 จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ภาษีเพิ่มขึ้นอีก 4 ปี และหากลงทุนได้ 50% จากโครงการรวมทั้งหมด จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ 3 ปี แต่หากลงทุนไม่ทันตามระยะเวลาแต่ยังสามารถลงทุนได้ภายในธันวาคม 59 จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี 2 ปี แต่หากลงทุนได้ในปี 60 จะได้รับสิทธิทางภาษี 1 ปี ซึ่งมองว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีความสามารถลงทุนได้เร็วจะได้รับการส่งเสริมมากขึ้น แต่ทั้งหมดจะต้องไม่เกิน 8 ปี

สำหรับแพคเกจของกระทรวงการคลังนั้น หากเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ แต่มีการลงทุนในปีนี้และปีหน้า ทางกระทรวงการคลังจะให้สิทธิประโยชน์หักลดหย่อนภาษีจากการลงทุนเป็น 2 เท่า แต่หากเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับบัตรจากบีโอไอให้เลือกว่าจะรับสิทธิประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องแจ้งความประสงค์ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะทำให้การลงทุนในประเทศไทยมีการขยายตัวดีขึ้นในปีนี้ และปีหน้า และเชื่อว่ามาตรการที่ออกมาจะช่วยเร่งการลงทุนภาคเอกชน และให้เอกชนสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

"คลังเห็นว่าที่ผ่านมาไทยมีการลงทุนน้อย ผลผลิตภาพการผลิตไม่ดี เราไม่มีเทคโนโลยีใหม่ เราต้องการปรับโครงสร้างการผลิต ต้องการส่งเสริมให้คนลงทุนได้ เพื่อปรับประสิทธิภาพของตัวเองให้ดีขึ้น และสิ่งที่จะให้รัฐหักได้ 2 เท่าของเงินลงทุน คือ เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ สิ่งปลูกสร้าง คอมพิวเตอร์ รถยนต์ที่ใช้งาน ซึ่งมองว่าจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย"นายอภิศักดิ์ กล่าว

ส่วนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ พีพีพี นั้น เนื่องจากเห็นว่าจะต้องใช้เวลา 1 ปี 10 เดือนกว่าจะถึงกระบวนการในการจัดซื้อจัดจ้าง จึงได้จัดตั้งเป็น "พีพีพี ฟาสแทร็ก" ซึ่งจะปรับเปลี่ยนในส่วนของกระบวนการต่างๆที่มีความยุ่งยาก ที่จะต้องดำเนินงานจากหน่วยงาน จึงได้รวมหน่วยงานทั้งหมดมาทำพร้อมกันในเวลาเดียว ไม่ต้องส่งไปหน่วยงานต่างๆกลับไปกลับมา ซึ่งประมาณการว่า จะแล้วเสร็จภายใน 9 เดือนซึ่งจะทำให้รวดเร็วขึ้น

สำหรับเบื้องต้นการลงทุนในพีพีพีมีทั้งสิ้น 6 โครงการ 347,570 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) โรงงานขยะอบจ.นนทบุรี โรงงานขยะเทศบาลนครราชสีมา และโครงการ Maritime business center (กทม.)