ปูนปั้น เมืองเพชร

ปูนปั้น เมืองเพชร

เพชรบุรีเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,000 ปี

ตั้งแต่สมัยทวารวดี ในอดีตกาลเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนา และเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญในกลุ่มหัวเมืองฝ่ายตะวันตก เจ้าเมืองผู้ปกครองเพชรบุรีล้วนเป็นผู้ที่สืบเชื้อพระวงศ์ เมื่อเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ จังหวัดเพชรบุรีได้เปลี่ยนเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดปรานเมืองเพชรบุรีตั้งแต่ครั้งยังทรงผนวชอยู่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์จึงโปรดให้สร้างพระราชวัง วัด และพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นบนเขาเตี้ยๆ ใกล้กับตัวเมือง และพระราชทานนามว่า “พระนครคีรี” ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างพระราชวังขึ้นอีกแห่งหนึ่งในตัวเมืองเพชรบุรี คือ “พระรามราชนิเวศน์” หรือที่เรียกกันว่า “วังบ้านปืน” และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดให้สร้างพระราชวัง “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” ขึ้นที่ชายหาดชะอำในเวลาต่อมา เพื่อใช้เป็นที่ประทับรักษาพระองค์ ด้วยทรงเชื่อว่า อากาศชายทะเลและน้ำทะเลอาจบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ จังหวัดเพชรบุรีจึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองสามวัง” นับแต่นั้นมาปัจจุบันจังหวัดเพชรบุรีแบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ คือ อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอเขาย้อย อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอชะอำ อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอบ้านแหลม และอำเภอแก่งกระจาน

นั่นคือประวัติคร่าวๆ ของเมืองเพชร นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นเรื่องปูนปั้น เนื่องจากที่นี่เป็นแหล่งรวมช่างฝีมือจำนวนมาก

ว่ากันว่า ศิลปะปูนปั้น เป็นเทคนิคเฉพาะตัวของช่างไทยสมัยโบราณ ซึ่งมีทั้งการปั้นสดๆ หรือเรียกว่า ปั้นขึ้นรูปด้วยมือโดยตรง และการอัดปูนลงแม่พิมพ์เป็นรูปลาย แล้วตกแต่งผิวของปูนปั้น เพื่อความสวยงาม

นอกจากนี้ยังมีการลงรักปิดทอง มีทั้งลงรักประดับกระจก หรือลงสีเขียนระบายลวดลายปูนปั้นที่ประดับโบราณสถาน ซึ่งเทคนิคแต่ละยุคสมัยไม่เหมือนกัน ด้วยเทคนิคนี่เองที่เป็นสิ่งบ่งชี้ยุคสมัย

งานปูนปั้นของเมืองเพชร นิยมทำร่วมกับงานลงรักและประดับกระจก เพื่อให้ดูแข็งแรง ทนทานไม่หดตัวง่าย มีลวดลายแพรวพราว ช่วยเสริมให้งานประกอบปูนปั้นเด่นยิ่งขึ้น อาทิ งานปูนปั้นหน้าบันพระวิหารหลวง พระปรางค์ และงานปูนปั้นโดยทั่วไปของศาลาวัดมหาธาตุวรวิหาร

ช่างฝีมือทำงานปูนปั้นเมืองเพชร มีทั้งกลุ่มช่างวัดเกาะ กลุ่มช่างวัดมหาธาตุ โดยแต่ละกลุ่มมีเอกลักษณ์ที่ละเอียดและซับซ้อน นิยมปั้นตกแต่งอาคารพุทธสถาน ปราสาทราชวัง ซึ่งปัจจุบันลายปูนปั้นที่ประดับตามโบราณสถานค่อนข้างชำรุด เนื่องสภาพอากาศชื้น ทำให้ลายปูนปั้นหักพัง หลุดร่วง

ถ้าจะพูดงานปูนปั้นเมืองเพชร ในสมัยกรุงศรีอยุธยา หาดูได้ที่วัดใหญ่สุวรรณาราม วัดสระบัว วัดไผ่ล้อม วัดเขาบันไดอิฐ ส่วนงานปูนปั้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นงานที่พัฒนามาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา ใส่ลวดลายตามความคิดสร้างสรรค์ของช่างลงไป อาทิ หน้าบันพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุวรวิหาร รวมถึงปูนปั้นที่เป็นภาพล้อบุคคลด้านการเมืองที่แฝงถึงการเสียดสี และแง่คิดต่างๆ