สสจ.ห่วงวิกฤติหมอกควัน แนะขั้นตอนดูแลสุขภาพ

สสจ.ห่วงวิกฤติหมอกควัน แนะขั้นตอนดูแลสุขภาพ

สสจ.ระนอง ออกประกาศแนะนำชาวบ้านรับมือสถานการณ์หมอกควัน พร้อมแนะขั้นตอนดูแลสุขภาพ

นายแพทย์สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์หมอกควันจากประเทศอินโดนีเซียที่พัดเข้ามาปกคลุมพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดระนองอีกครั้งในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เด็ก และคนชรา ทาง สสจ.ระนองจึงได้ออกประกาศประชาสัมพันธ์แนะนำการปฏิบัติตัวให้กับประชาชนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

จากข้อมูลดาวเทียมNOAA-18 พบยังมีไฟไหม้ป่าบนเกาะสุมาตรา ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย จำนวนหลายร้อยจุด ส่งผลกระทบ ให้เกิดหมอกควัน ในประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างและภาคใต้ตอนบนบางส่วนในขณะนี้ ทำให้คุณภาพอากาศมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกระจายในพื้นที่อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

ล่าสุด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง จึงออกประกาศข้อแนะนำสำหรับประชาชนในการปฏิบัติตน กรณีเกิดปัญหาหมอกควันที่รุนแรง ดังนี้ ปิดหน้าต่าง ประตู เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นควันเข้าบ้าน ไม่อยู่ในบริเวณที่มีหมอกควันปกคลุม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก คนชรา ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด ผู้เป็นโรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคปอด เด็ก และคนชรา ควรพักผ่อนอยู่ในบ้าน โดยผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม หากมีการระคายเคืองนัยน์ตา ให้ทำการล้างนัยน์ตาด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำยาล้างตาซึ่งสามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาทั่วไป หรือที่สถานีอนามัยทุกแห่ง ผู้ที่ใช้คอนแทคส์เลนส์ หากเกิดการระคายเคือง ควรงดการใช้คอนแทคส์เลนส์ชั่วคราว 

ส่วนผู้ที่มีอาการจาม น้ำมูกไหล คอแห้ง และไอ ควรดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ และหากอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ผู้ที่มีอาการผิดปกติรุนแรง หรือมีอาการผิดปกติหลังจากสูดดมหมอกควัน เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ควรรีบไปพบแพทย์ หรือไปรับบริการที่สถานบริการสาธารณสุขงดเว้นการสูบบุหรี่และควรดื่มน้ำบ่อยๆ ในช่วงที่มีฝุ่นควันรบกวนควรงดกิจกรรมที่นอกบ้านเป็นเวลานาน ๆ และควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและการทำงานหนักที่ต้องออกแรงมากในบริเวณที่มีฝุ่นควันรบกวน ติดตามรับฟังข่าวสารและข้อมูลจากทางราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และมีการปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องงดการรองรับน้ำฝนไว้ใช้อุปโภคบริโภคชั่วคราว แต่ถ้าหากจำเป็นต้องรองน้ำควรปล่อยให้ฝนตกลงมาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนรองน้ำไว้ใช้ ในกรณีที่ต้องออกนอกอาคาร ควรปิดปาก และจมูกด้วยหน้ากากอนามัย หน้ากากที่มีประสิทธิภาพที่ดี ชนิดครอบทั้งปากและจมูก หากไม่มีสามารถใช้หน้ากากผ้า หรือผ้าชุบน้ำหมาด ๆ แทนได้ชั่วคราว