เสธ.ทบ.แจงโครงสร้างศปป. ใช้การพูดคุยทำความเข้าใจชาวบ้าน

เสธ.ทบ.แจงโครงสร้างศปป. ใช้การพูดคุยทำความเข้าใจชาวบ้าน

เสธ.ทบ. แจง โครงสร้างศปป. ใช้มาตรการพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ดำเนินการร่วม "กกล.รส.-ศูนย์ดำรงธรรม-กอ.รมน." พร้อมนรด. ลงปฏิบัติงานทุกพื้น

พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร เสนาธิการทหารบก กล่าวถึงบทบาทการทำหน้าที่ของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ว่า ศปป. ยังคงทำงานตามปกติ เพียงแต่เปลี่ยนโครงสร้าง จากที่ขึ้นตรงกับปลัดกระทรวงกลาโหม ให้มาขึ้นตรงกับเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.ท.จีระพันธ์ มาลีแก้ว รองเสนาธิการทหารบกเป็น ผอ.ศปป.โดยการทำงานหลักๆจะสนองตอบนโยบายของรัฐบาลมากขึ้น พร้อมทั้งให้ชุดปฏิบัติการศปป.ลงไปในพื้นที่เข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจการทำงานรัฐบาลให้ถึงระดับหมู่บ้านตลอดจนถึงการแก้ปีฝัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผ่านศูนย์ดำรงธรรม ระดับอำเภอและจังหวัดอย่างใกล้ชิดร่วมกับกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ในพื้นที่ และกอ.รมน.จังหวัด เพื่อนำเอาปัญหาของชาวบ้านมาพิจารณา ถ้าปัญหาใดสามารถแก้ไขได้จะดำเนินการทันที หากแก้ไขไม่ได้จะส่งไปยังส่วนกลาง 

เมื่อถามว่าบทบาททำความเข้าใจกับประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ศปป.จะดำเนินการอย่างไร พล.อ.พิสิทธิ์ กล่าวว่า เราจะนำสิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดทุกวันศุกร์มาแปลงเป็นศัพท์ง่ายๆ ไปพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ อาทิ สูตร6-4-6-4ว่าคืออะไร หมายความว่าอย่างไร เพราะในแต่ละภูมิภาคจะมีสำเนียงแตกต่างกัน พร้อมทั้งจะอธิบายถึงการร่างรัฐธรรมนูญทำอย่างไร และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทำอะไรกันบ้าง เพราะบางครั้งชาวบ้านไม่ได้ติดตามข้อมูลข่าวสาร เราจึงต้องเข้าไปทำความเข้าใน 

"เราจะเพิ่มเติมข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ไปชี้แจง โดยจะไม่รบกวนเวลาทำงานของชาวบ้าน เพื่อให้พวกเขาทำงานตามปกติ เพราะในช่วงเย็นหลังเลิกงานชาวบ้านจะมานั่งคุยกันตามศาลาประจำหมู่บ้าน มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาพูดคุยกันในสภาตำบล สภาหมู่บ้าน หรือเป็นการประชุมประจำอำเภอที่มีการประชุมเป็นประจำ เจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไป โดยมีการประสานกับนายอำเภอ และกำนันผู้ใหญ่บ้านว่ามีการประชุมวันใดบ้าง" เสธ.ทหารบก กล่าว 

เมื่อถามว่า บทบาทศปป.ในการเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันการครหาการไม่มีส่วนร่วมจากประชาชน พล.อ.พิสิทธิ์ กล่าวว่า ในส่วนเวทีรับฟังร่างรัฐธรรมนูญ เราคงไม่เปิด เพียงแต่ไปชี้แจงทำความเข้าใจ อาจจะคล้ายเปิดเวทีเป็นกลุ่ม และการปฏิรูป11ด้าน ซึ่งเราใช้การชี้แจงทำความเข้าใจ เช่น ปีนี้น้ำน้อย ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลห้ามชาวปลูกข้าว แต่เราจะชี้แจงว่าเมื่อน้ำน้อยให้ไปปลูกพืชอื่นๆ ทดแทนการปลูกข้าวไปก่อนระยะหนึ่ง อีกทั้งการไปแนะนำชาวบ้านปลูกมะม่วง ปลูกมะพร้าว เมื่อได้ผลผลิตเราก็จะไปหาตลาดให้ ไม่ใช่ห้ามปลูกข้าว แต่ในช่วงภัยแล้งจะต้องปลุกพืชใช้น้ำน้อยที่สร้างรายได้เช่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การให้นักศึกษาวิชาทหาร และเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชน ใช้กำลังพลมากน้อยเพียงใด พล.อ.พิสิทธิ์ กล่าวว่า ในแต่ละจังหวัดมีการศึกนักศึกษาวิชาทหาร โดยมณฑลทหารบกเป็นผู้ฝึก เราจะให้นักศึกษาวิชาทหารไปเป็นจิตอาสาช่วยไปชี้แจง โดยความคาดหวังจะต้องการให้ไปพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ เหมือนลักษณะวัยรุ่นต้องคุยกับวัยรุ่น ตามดำริของพล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก บอกว่านักเรียนนายร้อย และนักเรียนพยาบาลไปพูดคุยกับคนวัยเดียวกัน ส่วนจะถามจำนวนเท่าใดนั้น ตนไม่แน่ใจว่านักศึกษาวิชาทหารในแต่ละจังหวัดมีกี่คน แต่เราจะใช้นักศึกษาวิชาทหารทั่วประเทศลงไปในพื้นที่ทั้งหมด และจะดำเนินการพร้อมกันทุกกองทัพภาคด้วย