รุมจวกดาราลงรูปคู่น้ำเมา ขาดจิตสำนึกต่อสังคม

รุมจวกดาราลงรูปคู่น้ำเมา ขาดจิตสำนึกต่อสังคม

"นักวิชาการ" รุมจวกดารา ขาดจิตสำนึกต่อสังคม ลงรูปคู่น้ำเมาปั่นกระแสมอมเมาเด็ก

วันนี้(10ตุลาคม2558) ผศ.ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กล่าวถึงกรณีที่ศิลปินดาราและผู้มีชื่อเสียง โพสต์ภาพที่กำลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อหนึ่ง พร้อมเขียนข้อความในลักษณะเชิญชวนว่า ปัจจุบันการสื่อสารการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางบริษัทใช้วิธีการจ้าง “influencer”หรือซื้อปากคนดังมาปั่นกระแสผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ให้กระจายข้อมูลข่าวสารและสร้างการรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงในตัวแบรนด์ วิธีการดังกล่าว คือ การใช้ให้ดารานักแสดงในวงการบันเทิงโพสต์ภาพตนเองกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอิริยาบถต่างๆ มีคำบรรยายหรือข้อความใต้ภาพโพสต์ประกอบ ในลักษณะอวยรสชาติ ให้ข้อมูลในเรื่องของแพคเกจในรูปแบบใหม่ ดีไซน์ใหม่ รวมถึงเรื่องของราคา เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างแบรนด์กับผู้รับสาร แทนการโฆษณาในรูปแบบเดิมๆ

“สิ่งที่นักการตลาดอาจทำเป็นลืมไป นอกจากจะผิดกฎหมายตามมาตรา32พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551วรรคหนึ่ง ที่ห้ามมิให้“ผู้ใด”โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่ม โดยตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งคำว่า“ผู้ใด”ในที่นี้ มีความหมายถึง“ทุกคน”แต่ยังลืมนึกถึงแรงเหวี่ยงกลับในเรื่องความน่าเชื่อถือของแบรนด์ที่ถูกทำลายลงด้วยการตลาดมักง่าย ทำลายภาพลักษณ์แบรนด์แบบนี้ด้วย” ผศ.ดร.นิษฐา กล่าว

ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) กล่าวว่า การโพสต์คู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะด้วยเจตนา หรือรับค้าจ้างหรือไม่ก็ตาม อาจเป็นการชี้นำหรือส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนเลียนแบบ ในฐานะที่เป็นดารา นักแสดง นักร้อง คนดังในวงการบันเทิง ก็เปรียบเสมือนเป็นคนของประชาชน ดังนั้น ควรคิดให้รอบคอบว่ามีผลกระทบอะไรตามมา ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะคุณเป็นบุคคลสาธารณะ และควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่คนในสังคมไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ยิ่งเป็นคนดังมีชื่อเสียงจะทำอะไรก็ควรทำให้เหมาะสม เพื่อเด็กจะได้ไม่ลอกเลียนแบบ และอาจมีความผิดไปติดคุก ไม่คุ้มกับค้าจ้าง โดยเฉพาะคนขายคนผลิตยิ่งควรรับผิดชอบต่อสังคม เบื้องต้น คือ ปฏิบัติตามกฎหมาย อย่าพยายามเลี่ยงกฎหมายด้วยวิธีต่างๆนานา และไม่ดึงเยาวชนไปเป็นเหยื่อ เพื่อสร้างกำไรอย่างไม่รับผิดชอบ

ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ไชยสงค์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า การเปลี่ยนฉลากหรือรูปทรงของบรรจุภัณฑ์ไปในรูปแบบใหม่หรือไม่ก็ตาม แอลกอฮอล์ที่บรรจุอยู่ข้างในก็มีอันตรายและมีผลกระทบต่อสุขภาพเหมือนเดิม ทั้งต่อระบบประสาทส่วนกลาง ความเป็นสารพิษของแอลกอฮอล์ และสมบัติของการเป็นสารเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงไม่ใช่สินค้าธรรมดาที่จะนำมาโฆษณาเชิญชวนให้เกิดการสนับสนุนการดื่ม

ขอบคุณภาพ http://etcserv.pnru.ac.th