กฏแห่งผลลัพธ์ที่ไม่ได้ตั้งใจ & การให้อภัยตัวเอง

กฏแห่งผลลัพธ์ที่ไม่ได้ตั้งใจ & การให้อภัยตัวเอง

หนูดี วนิษา สะท้อนเหตุแห่งความล้มเหลวของชีวิต เกิดจากการใช้ชีวิตเรื่อยๆ ขาดการวางแผนที่จะทำชีวิตให้ดี ซึ่งเป็นไปตามกฏของธรรมชาติแบบง่ายๆ

ไม่มีใครวางแผนให้ชีวิตของตัวเองล้มเหลวหรอกใช่ไหมคะ และไม่มีใครวางแผนให้ตัวเองสอบตก เอ็นทรานซ์ไม่ผ่าน ต้องติดโปร หรือ โดนรีไทร์จากมหาวิทยาลัยด้วยแน่ๆ รวมทั้งไม่มีใครหรอกที่อยากเป็นคนที่คนอื่นมองด้วยความดูถูกว่าเป็นคนที่ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ


แต่ที่เขาเป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่าเขาไม่ได้วางแผนให้ตัวเองประสบความสำเร็จนั่นเอง พูดง่ายๆ เลยว่า เขาไม่ได้ “เลือก” ที่จะทำอะไรกับชีวิตเขา คนเหล่านั้นเพียง ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ อะไรสนุกก็ทำ อะไรไม่สนุกก็ไม่ทำ มีใครมาชวนก็ออกไปข้างนอก ถ้าไม่มีเพื่อนๆ มาชวนก็เล่นเกม เล่นคอมฯ เล่นเน็ตไปวันๆ ชีวิตแบบนี้ เบาสบาย และดูเหมือนไม่เลวร้ายอะไร
คนที่ใช้ชีวิตแบบนี้ ไม่ได้วางแผนจะเป็นคนล้มเหลว แต่เพราะเขาไม่ได้วางแผนจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จและใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ในที่สุด ชีวิตก็พาพวกเขามาถึงผลลัพธ์ที่เขาไม่ได้วางแผนเอาไว้ นั่นก็คือ เป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จใดๆ เลยในชีวิต


ที่น่าเศร้าก็คือ คนกลุ่มนี้ เมื่อถึงอายุหนึ่ง ที่เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันพากันลงหลักปักฐานในชีวิตไปแล้ว พบกับความสำเร็จในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมกับวัยไปแล้ว เช่น มีงานดีๆ ทำ มีครอบครัวที่น่ารัก มีสุขภาพที่ดี ได้เดินทางท่องเที่ยวอย่างมีความสุข มีบ้านที่สวยและอยู่สบาย มีประกันชีวิต มีความมั่นคงทางการเงิน ฯลฯ พวกเขาถึงเพิ่งฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า “ฉันไม่อยากได้ชีวิตแบบของฉันตอนนี้ ฉันไม่เห็นมีอะไรเลย ทำไมเพื่อนๆ ทุกคนประสบความสำเร็จไปหมดแล้วยกเว้นฉันล่ะ” นี่คือความน่าเศร้า ของกฏแห่งผลลัพธ์ที่ไม่ได้ตั้งใจ
และที่น่าเศร้าคือ คนเหล่านี้ จะพบกับผลลัพธ์ที่มาพร้อมกับความเซอร์ไพรซคือ ฉันไม่ได้วางแผนนี่ แต่ทำไมชีวิตของฉันเป็นแบบนี้


คำตอบคือ มันคือกฏของธรรมชาติแบบง่ายๆ ถ้าเราไม่วางแผนทำชีวิตให้ดี ชีวิตก็จะไม่มีอะไรมอบให้เราเลยยกเว้น “ความไม่มี” หรือ ที่คนทั่วไปเรียกกันว่า ความล้มเหลว 

หากเราบอกว่า ฉันไม่ต้องการความสำเร็จในแบบที่คนรุ่นนี้ต้องการ ฉันไม่อยากเป็นหนึ่งในฝูงมดงานที่ชีวิตหาความสุขไม่ได้ เอาแต่ทำงานไปวันๆ เพื่อหวังว่าเมื่อเกษียณจะสบาย
ถ้าอย่างนั้น ภาพความสำเร็จในแบบของเราคืออะไรกันนะ เราไม่ควรเพียงพูดว่า จะไม่เอาสิ่งที่สังคมยึดถือกันว่าน่าทำ เพียงเพราะว่าเราอยากจะ “แนว” แค่ไม่เอา ไม่ได้เนอะ
เพราะถ้าเราคิดจะแนวจริง คิดอยากมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จอย่างแตกต่างออกไปและโดดเด่นจริงๆ เราต้องวางแผน เราต้องเขียนมันลงกระดาษได้อย่างเป็นรูปธรรม เราต้องเล่าถึงมันได้ เราต้องเห็นภาพมันอย่างชัดเจนในหัวของเรา เราต้องแทบจะล้ิมรสมันได้เลยด้วยซ้ำ


ถ้าเราไม่วางแผน และปล่อยชีวิตไปวันๆ ให้สถานการณ์ตัดสินตัวเอง สิ่งที่เราจะพบในอีกยี่สิบปีข้างหน้า คือตัวเราในวันนี้ ที่แก่ขึ้นยี่สิบปี และไม่มีอะไรที่น่าภาคภูมิใจที่เป็นของตัวเองเลย
กฏนี้ ยุติธรรมเสมอ ไม่ว่าเราจะรวย จะจน จะเก่ง จะอ่อนแอ จะเข้มแข็ง จะหล่อสวย หรือ หน้าตาธรรมดาๆ ถ้าเราไม่วางแผนชีวิตว่าต้องการอะไร และจะลงมือทำอะไร ชีวิตจะส่งมอบผลลัพธ์ที่ไม่ตั้งใจมาให้ และส่วนใหญ่ ผลลัพธ์นั้น ไม่เคยทำให้ใครมีความสุขได้เลย


หนูดีพบว่า สิ่งที่ช่วยมากๆ เวลาที่เราจะวางแผนอะไรล่วงหน้าแล้วกลัวว่าทำไปแล้วจะประสบความสำเร็จไหม คือการฝึกให้อภัยตัวเองล่วงหน้าไว้หากอะไรๆ ไม่เป็นไปดั่งจินตนาการ
ประโยคเหล่านี้เป็นตัวอย่างง่ายๆ ที่หนูดีเอาไว้บอกตัวเอง เพราะการให้อภัยคนอื่นที่ว่ายากแล้ว แต่สำหรับคนจำนวนมากในสังคมพบว่าการอภัยตัวเองยิ่งยากกว่าหลายเท่า


“ฉันให้อภัยตัวเองในทุกๆ เรื่องที่ตัดสินใจพลาด” ฉันเข้าใจว่าทุกคนสามารถพลาดได้ รวมทั้งตัวฉันเองด้วย สำหรับเป้าหมายต่างๆ


ฉันเข้าใจว่า เราอาจวางแผนล่วงหน้าได้ แต่เราไม่สามารถคาดเดาปัญหา โอกาส ตัวเลือกต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตล่วงหน้าได้เสียทั้งหมด  เราจึงทำได้เพียง “เพาะเหตุ” คือลงมือกระทำ แต่ “ผล” ที่จะเกิดขึ้นไม่ได้อยู่ในอำนาจของเราคนเดียว มีตัวแปรอีกมากมายที่เรากำหนดไม่ได้ เช่น สภาพเศรษฐกิจ ตลาด ความชอบของลูกค้า การให้คะแนนของอาจารย์ฯลฯ
แต่ทุกครั้งที่พลาด ฉันจะเรียนรู้ ทำความเข้าใจต้นเหตุที่ทำให้ครั้งนี้ฉันพลาดไป เพื่อที่ครั้งหน้า ฉันจะได้ไม่พลาดเรื่องเดิมซ้ำๆ หนหน้าฉันอาจจะพลาดในเรื่องอื่นๆ และฉันก็จะเรียนรู้ทุกครั้ง


เพราะคนเราจะฉลาดขึ้นจากประสบการณ์ ปีหน้าต้องฉลาดกว่าปีนี้ และฉันจะฉลาดขึ้นทุกๆ ปี ความผิดพลาดไม่ใช่คำตรงข้ามของ “ความสำเร็จ” แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จนั่นเอง พร้อมกับให้อภัยตัวเองแล้ว เวลาปัญหาถาโถมเข้ามาแล้วเราไม่เตรียมใจตัวเองไว้ก่อนเราจะพบว่ามันเหมือนกับเราเดินเข้าศึกสงครามโดยไม่มีอาวุธเลยสักชิ้น
อาวุธที่ไว้สู้ปัญหาคือปัญญาและการคิดฉลาดๆ นั่นเอง ประโยคที่ช่วยชีวิตหนูดีเสมอคือ

“ฉันไม่กลัวปัญหาเพราะฉันรู้ดีว่า โลกนี้จะไม่ส่งปัญหาที่ฉันรับมือไม่ได้มาให้ฉันในวันนี้”

ทุกครั้งที่เราโตขึ้น ปัญหาที่เราเจอจะเติบโตไปตามการเจริญเติบโตของเราด้วยเสมอ นั่นเป็นเพราะว่าโลกเหมือนจะรับรู้ความสามารถของเรา และส่งปัญหาที่ใหญ่กว่าฝีมือเรานิดๆ มาให้ตลอด เพื่อให้เราอัพเกรดฝีมือของเราไปทีละนิด เติบโตไปทีละหน่อย


ทุกครั้งที่เจอปัญหา สมองเราจะถูกบังคับให้คิดหาทางออก ทางแก้ และในกระบวนการแก้ไขปัญหานั้นเอง ที่ “ปัญญา” และ “ความเข้าใจโลก” จะเกิดขึ้น จนทำให้เราสามารถกล่าวได้ว่า “ปัญหามีมาเพื่อฝึกสมองให้เกิดปัญญา” ไม่มีใครหรอกชอบชีวิตที่เต็มไปด้วยปัญหา แต่เราต้องไม่ลืมว่า ก็ไม่มีชีวิตใครที่ไร้ปัญหาร้อยเปอร์เซ็นต์เช่นกัน เมื่อใดก็ตามที่เราเลิกกลัวปัญหา เมื่อนั้นปัญหาดูจะเล็กลงทันที


ชีวิตเรียบๆ ง่ายๆ ก็มีความสุขได้ เราไม่จำเป็นต้องวางแผนสำหรับสิ่งที่ยิ่งใหญ่และเคร่่งเครียดเสมอ แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าแม้ชีวิตที่มีความสุขอย่างเรียบง่ายก็ต้องการการวางแผนให้ชีวิตไม่วุ่นวายเช่นเดียวกัน เราอยากมีชีวิตแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับ “นิยามคำว่าสำเร็จและสุข” ในแบบเราที่ไม่ต้องเหมือนใคร แต่ที่สำคัญคือ กฏแห่งผลลัพธ์ที่ไม่ได้ตั้งใจจะทำงานเสมอเมื่อเราไม่ออกแรงแพลน

* บทความโดย วนิษา เรซ เผยแพร่ในกรุงเทพธุรกิจกายใจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม 2558