ชาวบ้านจ่อชุมนุมต้านเหมืองทองคำ คาดกระทบพื้นที่กว่าแสนไร่

ชาวบ้านจ่อชุมนุมต้านเหมืองทองคำ คาดกระทบพื้นที่กว่าแสนไร่

แกนนำชาวบ้านเมืองจันท์ เผยเตรียมชุมนุมต้านเหมืองทองคำ คาดกระทบพื้นที่กว่าแสนไร่

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 9 ต.ค. ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ต.พลับพลา อ.เมือง จ.จันทบุรี นายธีระ วงษ์เจริญ ประธานคณะทำงานโครงการพัฒนาต้นแบบจัดการผัก ผลไม้ปลอดภัย จ.จันทบุรี ได้ประชุมคณะทำงานโครงการพัฒนาต้นแบบฯ ่ประกอบด้วยผู้แทนจากหลายหน่วยงาน ตลอดจนผู้แทนภาคประชาชน ในการหารือแนวทางการดำเนินงานในประเด็นเร่งด่วนคือ การออกอาชญาบัตรพิเศษให้กับเหมืองแร่ทองคำ โดยพบว่า จ.จันทบุรี เป็น 1 ใน 12 จังหวัด ที่มีการเตรียมออกอาชญาบัตรพิเศษให้กับเอกชน

นายธีระ เปิดเผยว่า ในส่วนของภาคตะวันออกได้มีการติดตามข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม มีความต้องการที่จะออกประกาศกระทรวง ในเรื่องนโยบายและการทำเหมืองแร่ทองคำขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะให้สิทธิกับผู้มีอาชญาบัตรพิเศษ ที่มีเอกชนมาทำการขออนุญาตกับ กพร.ไว้ในพื้นที่ 12 จังหวัด จะได้เข้ามาทำเหมืองแร่ทอง ซึ่ง จ.จันทบุรี เป็น 1 ใน 12 จังหวัด โดย กพร.ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแค่ 2 จังหวัด คือ จ.พิจิตร และ จ.ลพบุรี เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นแล้ว ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการทำเหมืองแร่ทองคำใน 12 จังหวัด ก็จะจบกระบวนการ และเข้าสู่ ครม.พร้อมออกอาชญาบัตรพิเศษ

นายธีระ กล่าวต่อว่า ในส่วนของเครือข่ายภาคตะวันออกติดตามข้อมูล พร้อมทั้งหาแนวทางคัดค้านการออกอาชญาบัตรดังกล่าว เพราะเห็นว่าไม่ชอบด้วยขบวนการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากขาดการทำเวทีประชาคมรับฟังความคิดเห็นให้ครอบคลุมทุกจังหวัด ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ขณะที่แนวทางการคัดค้านนั้น เมื่อวันที่ 7 กันยายน ที่ผ่านมา ได้มีการหารือและมีมติร่วมกันว่า คนตะวันออกไม่เอาเหมืองแร่ทองคำ และคัดค้านการออกอาชญาบัตรพิเศษ พร้อมหาแนวทางต่อสู้ โดยชูแนวทางการต่อสู้ด้านการเกษตร เกษตรสีเขียว แหล่งผลิตอาหารปลอดภัย ซึ่งการทำเหมืองแร่ทองคำ ใช้สารไซยาไนท์ที่อาจมีการปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศ

นายธีระ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาข้อมูลผลกระทบของพิจิตรโมเดล ทางคณะทำงานเตรียมเปิดเวทีทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมาย 5 อำเภอ ของ จ.จันทบุรี คือ อ.แก่งหางแมว อ.สอยดาว อ.นายายอาม อ.เขาคิชฌกูฏ และ อ.โป่งน้ำร้อน ซึ่งหากมีการเข้ามาทำเหมืองแร่ทองคำใน จ.จันทบุรี จริง อาจจะได้รับผลกระทบครอบคลุมทั้ง 10 อำเภออย่างแน่นอน โดย จ.จันทบุรี มีพื้นที่ที่มีศักยภาพแร่ทองคำกระจายอยู่ใน 6 พื้นที่ รวมเนื้อที่ 100,262 ไร่