เผยพ.ร.บ.ประกันสังคมใหม่เพิ่มสิทธิประโยชน์มากขึ้น

เผยพ.ร.บ.ประกันสังคมใหม่เพิ่มสิทธิประโยชน์มากขึ้น

"พล.ต.สรรเสริญ" เผย พ.ร.บ.ประกันสังคมใหม่มีผลบังคับใช้ 20 ต.ค. นี้ ชี้เพิ่มสิทธิประโยชน์ครอบคลุมมากขึ้น

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานจึงได้ปรับปรุง พ.ร.บ.ประกันสังคม ให้มีสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดย พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ต.ค.นี้ จะเพิ่มสวัสดิการ ทั้งในเรื่องการดูแลสุขภาพ รักษาพยาบาล ทุพพลภาพ การคลอดบุตร ว่างงาน และเสียชีวิตให้ดีมากกว่าเดิม

โดย พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ มุ่งดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคม ซึ่งขณะนี้มีมากถึง 13.9 ล้านคนให้ได้รับความอุ่นใจ มีหลักประกันในชีวิตเรื่องค่ารักษาพยาบาล ซึ่งแต่ละครั้งต้องใช้เงินมากจนส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัว ดังนั้นการปรับปรุงกฎหมายจึงช่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้ใช้แรงงานทุกคน ไม่ว่าจะมีเงินเดือนมากน้อย แค่ไหนก็จะได้รับสิทธิที่ดีเท่าเทียมกัน และสอดคล้องกับสภาพความจริงทางเศรษฐกิจและสังคม

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ คือ การได้รับเงินค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในหลายกรณี เช่น การส่งเสริมสุขภาพ, การตรวจเพื่อป้องกันโรค ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นจากความเสียหายที่เกิดจากการรักษา นอกเหนือไปจากเดิมที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามปกติ, การคลอดบุตร ซึ่งปกติประกันสังคมจะให้แบบเหมาจ่าย คราวละ 13,000 บาท แต่ไม่เกิน 2 ครั้ง ปรับปรุงใหม่เพิ่มเป็นไม่จำกัดจำนวนครั้ง และเงินสงเคราะห์บุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี เดือนละ 400 บาท จากเดิมจำกัดแค่ 2 คน ก็เพิ่มเป็น 3 คน

นอกจากนี้ยังเพิ่มสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน ซึ่งเดิมผู้ประกันตนจะได้รับชดเชยเฉพาะกรณีลาออกหรือเลิกจ้าง แต่ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ยังครอบคลุมไปถึงกรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว เช่น น้ำท่วม เป็นต้น ส่วนผู้ใช้แรงงานที่ต้องพิการ ทุพพลภาพ แม้สูญเสียสมรรถภาพทางร่างกายไม่ถึง 50% ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนเต็มที่ และเพิ่มโอกาสให้ผู้ทุพพลภาพ ก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2538 ได้รับเงินทดแทนตลอดชีวิต จากเดิมที่ได้รับเพียง 15 ปีเท่านั้น

ส่วนกรณีเงินสงเคราะห์ผู้เสียชีวิต ถ้าจ่ายเงินสมทบมาอย่างน้อย 36 เดือน แต่ไม่ถึง 120 เดือนให้คำนวณเงินชดเชยที่ 50% ของค่าจ้าง แล้วคูณด้วย 4 จากเดิมจ่ายแค่ 1.5 เดือน แต่ถ้าผู้ประกันตนนั้นจ่ายเงินสมทบมาเกิน 120 เดือน ให้จ่าย 50% ของค่าจ้าง แล้วคูณด้วย 12 ซึ่งเพิ่มจากเดิม ที่จ่ายแค่ 5 เดือน เป็นต้น