CPF - ซื้อ

CPF - ซื้อ

ผลประกอบการฟื้นตัวครึ่งปีหลังต่อเนื่องถึงปีหน้า

ประเด็นการลงทุน

เราเชื่อว่าผลประกอบการของ CPF จะค่อยๆ ฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ก่อนที่จะฟื้นตัวแรงในปี 2559 เนื่องจากฐานของกำไรหลักที่ต่ำมากในปี 2558 ธุรกิจกุ้งที่ฟื้นตัว อุปทานเนื้อสัตว์บกที่ลดลง ธุรกิจต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นยกเว้นตุรกี และการรวมธุรกิจไก่ของรัสเซียเข้ามาเต็มปีในปี 2559 ทั้งนี้เรามองว่ากำไรหลักของ CPF ถือว่าแตะจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงตั้งแต่ไตรมาส 4/2557 และครึ่งแรกของปี 2558 เรายังคงแนะนำ “ซื้อ” เนื่องจากกำไรหลักที่คาดว่าจะเติบโตก้าวกระโดดในปี 2559

ส่องกล้องไตรมาส 3/58 – กำไรหลักปรับตัวลง YoY

เราคาดกำไรสุทธิไตรมาส 3/58 ที่ 2 พันล้านบาท ลดลง 52% YoY และ 33% QoQ หากไม่รวมกำไรจากการเทรดดิ้งหุ้น CPALL (หลังหักภาษี) และรายการอัตราแลกเปลี่ยน เราคาดกำไรหลักที่ 1.1 พันล้านบาท ลดลง 62% YoY แต่เพิ่มขึ้น 313% QoQ ซึ่งการคาดการณ์กำไรหลักสำหรับไตรมาส 3/58 ในครั้งนี้ถือว่าสูงกว่าประมาณการเดิมของเราที่คาดไว้ที่ 800 ล้านบาทเนื่องจากมาร์จิ้นของธุรกิจหมูที่ดีกว่าคาด กำไรหลักที่ลดลง YoY เนื่องจากราคาเนื้อสัตว์บกในประเทศที่ลดลง ปริมาณยอดส่งออกที่ลดลง (เนื่องจากค่าเงินของประเทศผู้นำเข้าที่อ่อนค่าลงอย่างมาก) ยอดขายในประเทศที่ลดลง (เนื่องจากการบริโภคในประเทศที่ยังคงอ่อนแอ) ผลขาดทุนที่เพิ่มขึ้นของประเทศตุรกี รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อกระตุ้นยอดขายในประเทศ แต่ถึงแม้ว่ากำไรหลักไตรมาส 3/58 จะมีแนวโน้มลดลง YoY แต่เราเริ่มเห็นสัญญาณของการฟื้นตัว QoQ แล้วเนื่องจากผลกระทบด้านฤดูกาลซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น ปริมาณยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้น มาร์จิ้นของธุรกิจหมูที่เพิ่มขึ้น และผลขาดทุนของธุรกิจกุ้งส่งออกที่ลดลง

เราคาดอัตรากำไรขั้นต้นไตรมาส 3/58 ที่ 14% เทียบกับ 14.5% ในไตรมาส 3/57 และ 13.4% ในไตรมาส 2/58 เราคาดว่าประเทศตุรกีจะยังคงมีผลขาดทุนสุทธิที่ 300 ล้านบาทในไตรมาส 3/2558 ซึ่งใกล้เคียงกับไตรมาส 2/58 หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 400% YoY เนื่องจากการบริโภคในประเทศที่ชะลอตัวลง และยอดส่งออกที่ลดลงจากภาวะสงครามและความขัดแย้งในแถบตะวันออกกลาง ผลประกอบการของธุรกิจในต่างประเทศทั้งหมดยกเว้นประเทศตุรกีมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น YoY และ QoQ เราคาดว่าธุรกิจกุ้งในไทยมีแนวโน้มรายงานผลขาดทุนจากการดำเนินงานที่ 600 ล้านบาทในไตรมาส 3/58 หรือขาดทุนลดลง 21% QoQ โดยมีปัจจัยหลักมาจากนโยบายการลดค่าใช้จ่ายและการปิดโรงงานกุ้งแปรรูปชั่วคราวบางส่วน มากกว่าที่จะเป็นผลมาจากอุปทานกุ้งที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

กำไรสุทธิปี 2559 มีแนวโน้มดีดตัวแรงจากธุรกิจกุ้งและธุรกิจต่างประเทศ

การอ่อนตัวของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 3/58 ถือว่าส่งผลกระทบทางบวกต่อรายได้รวมเพียงเล็กน้อย เนื่องจาก CPF มีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกคิดเป็นเพียงแค่ 6% ของรายได้รวมและเนื่องจากค่าเงินสกุลอื่นๆ อ่อนค่าลงถ้าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าอ่อนค่าลงมากกว่าค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงถ้าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ การอ่อนค่าของเงินเรียลอย่างมากถ้าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้สินค้าไก่แช่แข็งนำเข้าจากบราซิลถูกมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การเจรจาต่อรองขอลดราคาส่งออกโดยเฉพาะสำหรับลูกค้ารายใหม่ที่ต้องการสินค้าไก่สดแช่แข็ง เราคาดว่าธุรกิจในต่างประเทศทั้งหมดยกเว้นประเทศตุรกีมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นหรือฟื้นตัวในปี 2559 นำโดยประเทศอินเดีย รัสเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในส่วนของประเทศตุรกีและจีนยังคงต้องติดตามและจับตาดูผลประกอบการในปี 2559 ต่อไป เราคาดว่าธุรกิจกุ้งในไทยจะกลับมามีกำไรจากการดำเนินงานได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 เนื่องจากแผนการลดค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน และอุปทานกุ้งโดยภาพรวมของอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

เป้ารายได้ของบริษัทที่ 4-5% ในปี 2558 เป็นไปได้ยากมาก

เนื่องจากรายได้รวมงวด 9 เดือนของปี 2558 ลดลง 2% YoY เรามองว่าเป้ารายได้รวมของบริษัทสำหรับทั้งปี 2558 ที่ตั้งไว้ที่ 4-5% ดูแล้วเป็นไปได้ยากมาก เราประมาณการรายได้รวมปี 2558 ทรงตัวเท่ากับปี 2557 การรวมธุรกิจไก่ในรัสเซียเข้ามาในงบของ CPF ตั้งแต่ไตรมาส 4/58 เป็นต้นไปและเข้ามาเต็มปีในปี 2559 จะช่วยผลักดันรายได้รวมไตรมาส 4/58 และปี 2559 (ซึ่งบริษัทตั้งเป้าไว้ที่ 5-10% สำหรับในปี 2559) เราประมาณการรายได้รวมปี 2559 เติบโต 6% YoY