ในที่สุด ไทยก็ตกรถไฟอีกขบวน

ในที่สุด ไทยก็ตกรถไฟอีกขบวน

ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเซีย-แปซิฟิก (TPP) ไม่ใช่แค่การค้าที่ลดภาษีศุลกากร 18,000 รายการเหลือ 0%

ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ค น่าสนใจว่า ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเซีย-แปซิฟิก (TPP) เริ่มจาก 4 ประเทศแรกในปี 2006 คือชิลี นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และบรูไน แล้วเจรจาขยายรวมสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย คานาดา ญี่ปุ่น เม็กซิโก เปรู เวียดนาม และมาเลเซีย รวมขนาดเศรษฐกิจเป็น 40% ของโลก

เจรจาบรรลุข้อตกลงต้นสัปดาห์นี้ เป็นความตกลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในรอบ 20 ปี ไม่ใช่แค่การค้าที่ลดภาษีศุลกากร 18,000 รายการเหลือ 0% แต่รวมบริการ การลงทุน การเงิน ประกันภัย มาตรฐานการผลิตตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงสินค้าสำเร็จ มาตรฐานการแข่งขันโดยไม่ยกเว้นรัฐวิสาหกิจ กำหนดมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมระดับสูง ทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ

แต่ละประเทศได้ประโยชน์แลกกับต้นทุนที่ยอมจ่าย สหรัฐฯได้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มเป็นบางส่วน (ไม่ได้ทั้งหมด เพราะคู่เจรจาถึงไงก็ไม่ยอม) ขณะที่ประเทศอื่นๆ ก็ได้ตลาดส่งออกไปสหรัฐฯที่เปิดกว้างที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ที่เจ็บปวดมากคือสมาชิกอาเซียนอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม แยกไปขึ้นรถไฟขบวน TPP ซึ่งให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจยิ่งกว่า AEC ที่มีขนาดแค่ 3.5% ของโลก

เวียดนามซึ่งล้าหลังไทยอย่างมากในทุกด้าน ทั้งกฎหมาย อุตสาหกรรม การค้าต่างประเทศ และรัฐวิสาหกิจ ยังกล้าแอ่นรับมาตรฐาน TPP ตอนนี้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ก็ได้ยื่นสมัครขอเข้าร่วมTPP ด้วยแล้ว ผลคืออาเซียนและ AEC จะลดความสำคัญลงอย่างมาก

ตอนนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีเยือนไทยสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ส่งเทียบเชิญไทยให้เข้าร่วมเจรจา TPP แต่รัฐบาลตอนนั้นบอกว่า "ขอศึกษาดูก่อน" เพราะบทเรียนสมัยทักษิณ-ไทยรักไทย ไปเจรจาเอฟทีเอไว้เยอะแยะ พอโดนพันธมิตร-เอ็นจีโอ ขับไล่ พวกนั้นก็ชูป้าย "เอฟทีเอ = ขายชาติ"!

ไม่เป็นไร เราก็ค้าขายอยู่กับลาว เขมร พม่า ไปก็แล้วกัน!