เขื่อนอุบลรัตน์วิกฤติ เตือนปชช.ลดทำนาปรัง-เลี้ยงปลา

เขื่อนอุบลรัตน์วิกฤติ เตือนปชช.ลดทำนาปรัง-เลี้ยงปลา

ปริมาณน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เข้าขั้นวิกฤติ เหลือน้ำใช้เพียงร้อยละ 4 เตือนกลุ่มเลี้ยงปลาและทำนาปรังลดใช้น้ำ

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2558  จากที่จังหวัดขอนแก่นได้รับแจ้งจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ว่าเข้าสู่ปลายฤดูฝน เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปีซึ่งอยู่ระหว่างตั้งท้องออกรวง จึงมีความจำเป็นต้องขอให้ทางชลประทานปล่อยน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงต้นข้าวในระยะนี้ ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์มีความจุ 656.27 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26.99 มีปริมาณน้ำใช้การได้ 74.60 ล้าน ลบ.ม. ซึ่ง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ได้หยุดขอใช้น้ำเพื่อการเกษตรแล้วตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 58 เพราะปริมาณน้ำเหลือน้อยมาก สำหรับพื้นที่เพาะปลูกกว่า 2 แสนไร่ จะเริ่มตั้งท้องออกรวงในช่วงเดือนตุลาคม จึงมีความจำเป็นต้องใช้น้ำในการรักษาผลผลิต จึงทำให้ต้องมีการประชุมในพื้นที่ 5 จังหวัดที่ใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแผนรับมือและวางแผนการใช้น้ำ รอถึงฤดูฝนในปีหน้า

ด้านนายกำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ ได้ประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดใน 5 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ที่ใช้ประโยชน์จากน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ให้ร่วมประชุมเพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในทุกจังหวัด

นายกำธร กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ปริมาณน้ำปีนี้น้อยกว่าทุกปี แม้ว่าช่วงต้นเดือนตุลาคมอยู่ในช่วงฤดูฝนที่ยังมีฝนตกลงมาบ้าง แต่ก็จะสิ้นสุดกลางเดือนนี้ สำหรับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ถือว่าน้อยกว่าทุกปี มีน้ำไหลเข้าอ่างเพียงร้อยละ 23-24 สำหรับการจัดการน้ำได้นำประสบการณ์จากปีที่แล้วมาใช้โดยการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจ

“ในพื้นที่เขตชลประทานหนองหวายกว่า 2 แสนไร่ เกษตรกรได้ขอให้ปล่อยน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าว ซึ่งอยู่ระหว่างตั้งท้องออกรวง ซึ่งต้องให้ความช่วยเหลือเพื่อไม่ให้ผลิตผลทางการเกษตรเสียหาย ขณะเดียวกันต้องเตรียมน้ำในการรักษาระดับ รักษาสภาพแวดล้อมด้วย มาตรการอื่นในการเตรียมพร้อมเรื่องน้ำอุปโภค บริโภค ได้ประสานให้ท้องถิ่นได้เตรียมสำรองน้ำไว้ใช้เป็นวัตถุดิบ ส่วนการใช้น้ำการทำการเกษตรต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกร ที่ต้องงดการปลูกพืชใช้น้ำ เพื่อป้องกันการขาดทุน และความเสียหายที่จะเกิดกับผลผลิตทางการเกษตร ทางจังหวัดเองได้เปิดศูนย์ให้คำปรึกษาเรื่องการปลูกพืชใช้น้ำน้อย จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงต้องมีการวางแผนการใช้น้ำล่วงหน้า เบื้องต้นจะต้องดูแลเรื่องการปล่อยน้ำเพื่อให้ข้าวนาปีได้ผลผลิตที่สมบูรณ์ ปีนี้ไม่สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ ลดการเลี้ยงปลาในกระชัง เพราะต้องเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภค บริโภค การเตรียมการรับมือจะแบ่งออกเป็นช่วงๆตามฤดูที่เหมาะสม” นายกำธร กล่าว