‘จันทร์ธนู สัตยาวัฒนา’ ผู้บริหารอนุรักษ์นิยม แห่ง ‘ตะนาวศรี’

‘จันทร์ธนู สัตยาวัฒนา’ ผู้บริหารอนุรักษ์นิยม แห่ง ‘ตะนาวศรี’

‘จันทร์ธนู สัตยาวัฒนา’ กรรมการผู้จัดการ วัย 63 ปี กลุ่มตะนาวศรี นั่งเปิดใจคุยเล่าวิสัยทัศน์เคลื่อนไก่บ้านไทยเวทีโลกในวันผลัดใบสู่ทายาท

“นี่เป็นครั้งแรกที่เปิดตัว ปกติผมไม่ค่อยเปิดหรอก ไม่อยากซ่า เดี๋ยวคนเขม่นเอา” (หัวเราะ)

ถ้อยคำแฝงอารมณ์ขันของ “จันทร์ธนู สัตยาวัฒนา”  กรรมการผู้จัดการ วัย 63 ปี แห่งบริษัท ตะนาวศรีไก่ไทย ที่บอกกับกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ในวันเปิดสาขา “ร้านข้าวมันไก่ตะนาวศรี” หน้ามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

คนวัยเกษียณ นั่งอยู่ในร้านที่ตกแต่งทันสมัย ขายข้าวมันไก่ ใช้เนื้อไก่บ้าน บริการตัวเองเหมือนฟาสต์ฟู้ด แถมยังมีไวไฟใช้ฟรี เอาใจลูกค้ายุคโซเชียลสุดๆ

“ลุ้คใหม่” ของคนขายไก่บ้าน ที่ห่างไกลคำว่า “บ้านๆ” 

ยิ่งเพิ่มความสนใจให้กับธุรกิจของพวกเขา

ธุรกิจร้านอาหาร คือ “จิ๊กซอว์” ตัวล่าสุดของกลุ่มตะนาวศรี หลังทำธุรกิจไก่ครบวงจรมา 2 ทศวรรษ (ก่อตั้งเมื่อปี 2538) ตั้งแต่ บริษัทตะนาวศรีไก่ไทย ทำฟาร์มและโรงชำแหละเนื้อไก่สด 

บริษัท ฟู้ด วิลเลจ ดูแลด้านการตลาดและการขาย บริษัท ที ลีดดิ้ง ฟู้ด โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร บริษัท ทีแล็บ ทำด้านวิเคราะห์และวิจัย 

และบริษัทเอเชี่ยน ที ทำธุรกิจร้านอาหาร โดยมี “ข้าวมันไก่ตะนาวศรี” เป็นพระเอกในสายธุรกิจใหม่

ทำไมตะนาวศรี รุกสู่ธุรกิจปลายน้ำ ต่อยอดมาทำร้านอาหาร ? 

ลองย้อนดูมูลค่าธุรกิจของทั้งกลุ่มที่มีอยู่ประมาณ 8,000 ล้านบาท จะพบว่า ระยะหลังจำนวนรายได้ที่มาจากธุรกิจ “ไก่บ้าน” ซึ่งพวกเขาปลุกปั้นมาหลายปี มีอยู่แค่ “หลักร้อยล้าน”  

ขณะที่รายได้กว่า 90% มาจาก “ไก่เนื้อ”

นี่คือ โจทย์ท้าทายที่ผลักให้พวกเขาต้องกลับมารื้อแผนรบใหม่ สู่ธุรกิจไก่บ้าน สร้างมูลค่าเพิ่มจากไก่เพื่อผลักดันรายได้ โดยมีเป้าหมาย “ฟื้นตลาดไก่บ้านพันธุ์ตะนาวศรี” ให้เติบใหญ่ทั้งในตลาดไทยและตลาดโลก 

ก้าวสู่การเป็นผู้นำไก่สายพันธุ์ดีระดับโลก (World Best’s of Chicken Creator) 

“เราเปิดสาขาแรกที่อาคาร BBC เอกมัย นี่เป็นสาขาที่สองที่กำลังทดลองอยู่ โดยแนวทางการดำเนินธุรกิจจะค่อยเป็นค่อยไป ค่อยศึกษา เพราะเราไม่ใช่บริษัทใหญ่ เพียงแต่หวังว่า ผลิตภัณฑ์ไก่บ้าน ซึ่งเราเป็นผู้พัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาเอง จะเป็นที่ยอมรับในระยะยาวทั้งในและต่างประเทศ”

หุ้นส่วนกลุ่มตะนาวศรี บอกเล่าวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนธุรกิจแบบ “ไม่บุ่มบ่าม” แม้ทีมตลาดจะประกาศชัดว่า ภายใน 2 ปี จะเริ่มขายแฟรนไชส์ และมีสาขาในปีแรกถึง 25 สาขา ในอนาคตก็หวังจะสยายปีกไปทั้งในและนอกบ้านให้ได้ถึง 1,000 สาขา ! 

ขณะยอดขายไก่บ้านตะนาวศรีจะไปแตะที่ประมาณ 700 ล้านบาทต่อปี แต่จันทร์ธนูกลับแย้งว่า..

“ใจเย็นๆ ก่อน ผมขอเวลาหน่อย เราคงต้องใช้เวลาศึกษา เตรียมการ คงจะไม่เร็วนัก จนกว่าจะเกิดความมั่นใจ แน่ใจแล้ว ไม่ว่าจะในเชิงบริการ และด้านอื่นๆ เป้าน่ะต้องมีแน่ แต่มีแบบใกล้ตัว พวกคุณจะมองไปไกลๆ ผมไม่อยากตอบ เพราะเดี๋ยวทำไม่ได้ ต้องให้มั่นคงและแน่นอนก่อน”

ผู้บริหารหัวอนุรักษ์นิยม ตอบคำถาม ในฐานะผู้ที่คร่ำหวอดในวงการมานาน และรู้ดีว่าทำธุรกิจเกษตรนั้น “ไม่ง่าย” ดูได้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของเขา

จันทร์ธนู ไม่ได้เริ่มต้นที่ตะนาวศรี ความที่เขาเรียนจบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รุ่น 30 จากคณะเกษตร สาขาสัตวบาล เริ่มธุรกิจแรกโดยร่วมหุ้นกับรุ่นน้อง KU31 “ภาณุมาศ พฤฒิกุล” และ “สุเทพ วงศ์รื่น” อีกรายเป็นเจ้าของฟาร์มไก่เนื้อรายใหญ่ เปิดบริษัท ท็อปธุรกิจการเกษตร จํากัด และ บริษัท ท็อป ฟิด มิลล์ จํากัด ภายหลังทั้ง 3 คน มาพบกับ“ลิขิต สจิฆระ” รุ่นพี่เกษตรรุ่น 18 ซึ่งเป็นผู้พัฒนาไก่สายพันธุ์ตะนาวศรี 

จนนำมาสู่การก่อตั้งตะนาวศรีไก่ไทยขึ้น เมื่อ 20 ปี ก่อน

“เราเจ็บตัวมาก็เยอะ อย่างตอนเจอไข้หวัดนกเมื่อปี 2547 จะล้มละลายแล้วมั้ง ตอนนั้นลูกไก่ที่เราผลิตอยู่แถวๆ สองหมื่นตัวต่อสัปดาห์ ขายไม่ได้เลย ต้องเอามาเลี้ยง มาชำแหล่ะ แล้วเก็บเข้าห้องเย็น เพื่อรอเวลาขาย ความเสียหายในตอนนั้นน่าจะอยู่ที่ประมาณ 40-50 ล้านบาท”

เขาบอกวิกฤติครั้งสำคัญที่เกิดกับกลุ่มตะนาวศรี ในวันที่กำลังการผลิตยังอยู่ในหลัก 10-20 ล้านบาท พอเกิดความเสียหายทุกอย่างเลยทับถม กว่าจะฟื้นกลับมาได้ก็ต้องใช้เวลามากโข

“ที่ผ่านมาอุปสรรคเต็มไปหมด ทุกเรื่องนั่นแหล่ะ ก็ต้องค่อยๆ แก้กันไป” เขาบอกปัญหาที่ขยันแวะมาทักทาย

ทว่า ในวิกฤติก็มีโอกาส ทำให้ตะนาวศรีเกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ จากการทำฟาร์มเลี้ยงไก่อย่างเดียว หลังวิกฤติไข้หวัดนก พวกเขาเริ่มขยายมาทำโรงชำแหละที่ได้มาตรฐานเพื่อการส่งออก พร้อมพัฒนาไก่คุณภาพดี ปลอดภัย ใช้สมุนไพรในการเลี้ยง ไม่ใช่ฮอร์โมนเร่งโต ชูคอนเซ็ปต์ “ไก่บ้านเลี้ยงด้วยสมุนไพร ปลอดภัยต่อสุขภาพ” มีฟาร์มเลี้ยงระบบปิดตามมาตรฐานการจัดการฟาร์มที่ดี (GAP) และมีโรงงานผลิตไก่บ้านที่ได้รับการรับรองระบบมาตรฐาน GMP, HACCP, HALAL ทั้งมาตรฐานการส่งออก (EST 197) เมื่อฐานแข็งแรงพร้อมก็ขยายมาทำธุรกิจครบวงจร ตั้งแต่ฟาร์มเพาะเลี้ยง เนื้อแปรรูป จนสู่ร้านอาหารในปัจจุบัน

“ที่ผ่านมายอดขายไก่บ้าน เพิ่มขึ้นประมาณ 20% ถือว่าไม่ได้เยอะมากเมื่อเทียบกับกลุ่มไก่เนื้อ แต่นี่เป็นสิ่งที่เรายึดมานานแล้ว แต่การที่จะเพิ่มยอดผู้บริโภคยังทำได้ช้า เราเลยต้องมาเปิดร้านข้าวมันไก่ มาทำเรื่องแปรรูป และเริ่มทำตัดแต่งชิ้นส่วนมากขึ้น เพื่อกระตุ้นผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ เจนใหม่ๆ หรือผู้ที่รักการบริโภคเนื้อไก่บ้าน ให้เข้าถึงสินค้าเราได้มากขึ้น ซึ่งอยู่ในแผนที่เตรียมการมาได้สักสองปีแล้ว”

จันทร์ธนู บอกว่า หลายอย่างยังอยู่ระหว่างการทดลอง เพื่อสร้างความมั่นคงให้ธุรกิจในอนาคต

ทุกอย่างคือการทดลอง ไม่ใช่ว่าเราเชี่ยวชาญ แต่จะไปพึ่งคนอื่นก็ไม่ได้ เราถึงต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง เพราะรู้ว่าไก่บ้านตะนาวศรี เราคือหนึ่งเดียวในเมืองไทย และหนึ่งเดียวในโลกก็ว่าได้ นี่เป็นจุดแข็งสำคัญ เป็น Selling Point ของเรา ซึ่งเชื่อว่าอนาคตมันจะยังไปต่อได้” เขาบอกความเชื่อมั่น

พันธกิจท้าทายในวันนี้ ยังถูกส่งต่อให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ วัย 30-40 ต้นๆ ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในตะนาวศรีมากขึ้น โดยมี “กณพ สูจิฆระ” ทายาทของลิขิต นั่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการ ตะนาวศรี ไก่ไทย ทำงานคู่กับจันทร์ธนู

“ตอนหลังผมไม่ค่อยได้ทำแล้ว คุณกณพเป็นคนทำ ปล่อยให้เขาได้แสดงฝีมือร่วมกับน้องๆ รุ่นใหม่ กณพเป็นคนเก่งคนหนึ่ง เราทำงานคู่กัน เขาเป็นตัวหลักในแง่การปฏิบัติ ส่วนผมก็ดูนโยบาย”

เขาบอกบทบาทใหม่ ในยุค “เลือดผสม” ของตะนาวศรี ที่กำลังถูกหลอมรวมให้เป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้แนวคิด “The Power of  One” เพื่อปลูกฝังให้พนักงานที่มีอยู่กว่าพันคน เกิดความรักความผูกพันกับองค์กร เชื่อในเป้าหมายเดียวกัน และพร้อมก้าวเดินไปด้วยกัน

ที่ให้ความสำคัญกับ “คน” อยู่มาก 

เพราะเขาย้ำว่า หัวใจที่ทำให้ตะนาวศรียั่งยืนมาจนถึงวันนี้ได้ นอกจากการมีโปรดักท์ที่แตกต่างแล้ว 

ก็เพราะ “ยามยาก ทุกคนช่วยเหลือกัน”

ถามถึงเป้าหมายอยากเห็นไก่บ้านไทยเติบโตไปไกลถึงไหน เขาว่า ก็อยากเห็นพวกมัน “โกอินเตอร์” แต่ก็ไม่ได้ไปหวังสูงนัก ขอแค่ยังขยายไปได้เรื่อยๆ เพราะวงการนี้ไม่แน่นอน 

อนาคตอาจเกิดอุปสรรคอีกรอบก็ได้ เขาว่า คิดแบบมาร์เก็ตติ้ง คิดง่าย วางแผนการตลาด วางง่าย 

แต่จะประสบผลสำเร็จแน่นอนหรือเปล่า อาจไม่แน่ และไม่ง่าย

“สำหรับตะนาวศรี เราคงไม่ได้หวังจะประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่มากมาย คิดแบบคอนเซอเวทีฟ แต่จะว่าไม่มองไกลก็ไม่ใช่ คิดไว้ไหม มีคิด แต่ไม่ได้คิดหรอกว่า จะต้องไปถึงเร็วๆ ขอให้มันไปเรื่อยๆ ของมันเถอะ ไม่เป็นไร ฉะนั้นถามว่า ความสำเร็จอยู่ตรงไหน ไม่อยากตอบ มีไหม มี แต่เมื่อได้แค่นี้ ก็พอใจแล้ว ไม่ต้องการจะไปเลอเลิศอะไร และไม่ได้ผลักดัน เพราะธุรกิจเกษตร จะผลักดันเร็วไม่ได้” เขากล่าวย้ำในตอนท้าย  

 ก็แค่ธุรกิจที่ร่วมก่อตั้งกันมายังคงเติบโตต่อไปได้ นั่นอาจเติมเต็มคำว่า “สำเร็จ” แล้ว สำหรับผู้นำเช่นเขา