'ฟรีแลนซ์'เปลี่ยนโลก เทรนด์ร้อนคนทำงาน

'ฟรีแลนซ์'เปลี่ยนโลก เทรนด์ร้อนคนทำงาน

แรงงานโลกเหลือมนุษย์เงินเดือนแค่1ใน 4 ขณะที่เจนใหม่อยากอิสระ กระโจนเข้าสู่แวดวง “ฟรีแลนซ์”แต่จะให้มั่นคง-มั่งคั่งอย่างไร ไปฟังรุ่นพี่ชี้แนะ

ลาออก..ไปเป็นฟรีแลนซ์..!!!

ความร้อนแรงของกระแส “ฟรีแลนซ์” หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ไม่เพียงเพราะได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์เรื่องดัง

ทว่า กำลังเป็นเทรนด์ร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลก !

ปัจจุบันมีผลวิจัยว่า ตลาดแรงงานโลกมีมนุษย์เงินเดือนเหลือเพียง 1 ใน 4 หรือมีไม่ถึง 25% ของคนทำงานทั่วโลก

ขณะที่ปี 2020 คาดกันว่า “ฟรีแลนซ์” จะกลายเป็นแรงงานกลุ่มสำคัญของอเมริกา โดยจะมีสัดส่วนมากถึง 40% จากปัจจุบันที่มีฟรีแลนซ์ประมาณ 53 ล้านคน! หรือคิดเป็นประมาณ 34% ของคนทำงานชาวอเมริกันทั้งหมด (เว็บไซต์ CloudPeeps)

อย่าคิดว่านี่เป็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นแค่ในตลาดโลก วกกลับมาดูที่ประเทศไทย

เด็กเจนใหม่ เริ่มไม่สนใจงานบริษัท ไม่อยากเป็นลูกจ้าง แต่อยากมีอิสระ สามารถทำงานที่จัด “ตารางชีวิต” ตัวเองได้

ขณะ “มนุษย์เงินเดือน” ที่ทำงานรับใช้องค์กรมานาน ก็เริ่มเห็นสัญญาณของการ “ลาออก” เพื่อมาเป็นฟรีแลนซ์กันมากขึ้น !

ภาพเหล่านี้กำลังสะท้อนอิทธิพลของ “มนุษย์ฟรีแลนซ์” ที่จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังป่วนโลกการทำงานในอนาคต

“เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภูมิศาสตร์การทำงานไปหมดแล้ว วันนี้เราสามารถทำงานตรงจุดไหนก็ได้ ขณะสภาพการเดินทางที่ไม่เอื้ออำนวยในปัจจุบัน ก็เป็นภาระต้นทุน ทั้งทางเงิน เวลา และอารมณ์ ความกดดัน และการบีบคั้นจากโลกการทำงานเหล่านี้ ทำให้เด็กรุ่นใหม่คิดอยากทำงานอิสระกันมากขึ้น”

“ภานุมาศ ทองธนากุล” ผู้เขียนหนังสือ “การลาออกครั้งสุดท้าย” ฟรีแลนซ์มืออาชีพที่อยู่ในวงการมา 9 ปี บอกสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับคนทำงานยุคใหม่ ที่หันมาให้ความสนใจกับอาชีพอิสระ
มากกว่าเป็น “มนุษย์เงินเดือน” เหมือนรุ่นพ่อแม่

แม้แต่กลุ่มพนักงานประจำ ก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า เศรษฐกิจไม่ดี องค์กรขอให้ทำงานกันหนักขึ้น ทว่าจะทำมาก ทำน้อย เงินเดือนก็ยังเท่าเดิม ไม่ขยับเพิ่มตามคุณภาพและปริมาณงานตามไปด้วย แถมตารางชีวิตก็ยังออกแบบเองไม่ได้ วันไหนอยากชิล อยากพัก อยากให้เวลากับครอบครัว ก็ทำได้แค่มโน เมื่อสเตตัสยังชัดว่าเป็น “พนักงานประจำ”

“พ่อผมเป็นสุดยอดมนุษย์เงินเดือน ทำงานบริษัทเดียวมา 20 ปี ผมมีโอกาสรู้จักพ่อน้อยมาก เพราะไม่ค่อยมีเวลาให้ วันหนึ่งท่านเจ็บหนักต้องเข้าโรงพยาบาล วันนั้นเป็นวันที่สั่นคลอนผมมากว่า ตกลงเราจะจบแบบนี้จริงๆ ใช่ไหม สุดท้ายบั้นปลายชีวิตต้องมาเจ็บหนัก แล้วเอาเงินเก็บของชีวิตมารักษาเยียวยาตัวเอง ผมรู้สึกว่า..ต้องไม่ใช่รูปแบบนี้”

ตัวอย่าง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ภานุมาศ เป็นรอยแผลเดียวกันที่ใครหลายคนกำลังรู้สึก และสะกิดให้คนทำงานส่วนหนึ่งที่ไม่อยากติดกับดักมนุษย์เงินเดือน ไม่อยากเสียสมดุลชีวิต คิดกระโจนเข้าสู่อาชีพฟรีแลนซ์

“งานที่เรามีสิทธิ์เลือกรับได้ และมีโอกาสในการจัดสรรรูปแบบชีวิตตามที่ตัวเองปรารถนา”

เขาให้นิยามคำว่าฟรีแลนซ์ไว้อย่างนั้น

ในอดีตอาชีพอิสระไม่ถูกพูดถึงมากเท่าวันนี้ เมื่อคนรุ่นก่อนยังอยากทำงานองค์กรเพราะมองเรื่อง “ความมั่นคง” เป็นหลัก

แต่กับเจเนอเรชั่นใหม่ พวกเขามี “ทางเลือก” มากขึ้น และมีต้นแบบความสำเร็จที่หลากหลายขึ้น
แน่นอนว่า ไม่ใช่อาชีพมนุษย์เงินเดือนอย่างเดียว แต่มีทั้ง ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และ “รุ่นพี่ฟรีแลนซ์” ที่ประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว

ขณะที่หลายคนก็มี “ความฝัน” มี “แพสชั่น” ซึ่งการเป็นพนักงานประจำไม่สามารถตอบโจทย์พวกเขาได้

เช่นเดียวกับ “มณฑล กสานติกุล” ฟรีแลนซ์นักเดินทาง เจ้าของบล็อก “I Roam Alone” ที่ฝันอยากเดินทางท่องเที่ยวรอบโลก ถามว่างานประจำแบบไหนจะตอบโจทย์เธอได้ หลังเรียนจบเลยเริ่มเป็นฟรีแลนซ์ โดยสร้างรายได้จากการเขียนรีวิวและงานโฆษณา หาเงินจากการเขียนบล็อก เขียนหนังสือ ทำรายการทีวี บอกเล่าทริปการเดินทางท่องโลกฉบับผู้หญิงฉายเดี่ยว ถึงวันนี้เธอเดินทางไปแล้ว 70 ประเทศ และยืนยันว่า “อยู่ได้” กับอาชีพฟรีแลนซ์ แถมยังมีเงินหมุนเป็นทุนท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องด้วย

คิดจะเป็นฟรีแลนซ์ เธอว่า ไม่ควรมาจากคนอื่น แต่ควรมาจาก “ตัวตน” และ “ความชอบ” ของตัวเองจริง ๆ

“ถ้าเราทำอะไรที่เป็นตัวตนของเรา มีแพสชั่น มีโปรเจคใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ ก็ไม่ต้องไปสนว่า คนอื่นทำอะไรอยู่ ฉะนั้นมันจะเกิดความแตกต่าง ซึ่งพอแตกต่าง งานและเงินก็จะตามมาเอง” เธอว่าอย่างนั้น

คนส่วนหนึ่งใช้ฟรีแลนซ์เป็นบันไดสู่การเป็นเจ้าของกิจการ เมื่อยังไม่ชัวร์ ไม่พร้อม ที่จะเป็นเถ้าแก่เต็มตัว ก็ลองมาเริ่มจากการเป็นฟรีแลนซ์

เช่นเดียวกับ “ก้องกัลป์ วิริยะลัมภะ” สถาปนิกและนักออกแบบเจ้าของแบรนด์ Elementseden ที่เริ่มจากเป็นพนักงานประจำ แล้วออกมาเป็นฟรีแลนซ์ สุดท้ายสามารถพัฒนาจากอาชีพอิสระจนเป็นเจ้าของธุรกิจได้ เขาเริ่มจากเรียนรู้ที่จะทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ตั้งแต่ การหางาน คุยกับลูกค้า ออกแบบดีไซน์ ไล่ไปจนการบริหารจัดการชีวิต และจัดการเงินของตัวเอง เหล่า “วิชาบังคับ” ที่ฟรีแลนซ์ต้องลงมือทำ “ด้วยตัวเอง” ต่างจากตอนทำงานบริษัท

สิ่งที่ซ่อนอยู่ในคำว่า “อิสระ” ของการเป็นฟรีแลนซ์ จึงเป็น “ความรับผิดชอบ” และ “การมีวินัย” อย่างยิ่งยวด

“คุณต้องมีความรับผิดชอบ ต้องทำจริง และสิ่งที่ตัดสินใจแล้วว่าจะทำ อย่าทำแบบครึ่งใจ แต่ต้องใส่ลงไปให้เต็มที่ ถึงตอนนั้นอยากพัก อยากเที่ยว ก็เป็นสิทธิ์ของคุณ” เขาบอก

เหตุผลต่างๆ ทำให้คนหลั่งไหลมาเป็นฟรีแลนซ์กันมากขึ้น แต่ถนนเส้นนี้ไม่ได้ง่าย โดยเฉพาะการเข้าถึงคำว่า เป็นฟรีแลนซ์ที่ประสบความสำเร็จ

“ฟรีแลนซ์ คือ งานประจำอย่างหนึ่ง”

ความเข้าใจที่ตรงกันของคนทำฟรีแลนซ์ ที่เขย่าฝันคนอยากใช้ชีวิต “สโลว์ไลฟ์” ให้ต้องตื่น เมื่อโลกความจริง “ฟรีแลนซ์” ก็คืองานประจำอย่างหนึ่ง แถมงานนี้ยังโหดด้วย เพราะต้องทำทุกวัน ไม่มีวันหยุด

“ฟรีแลนซ์ต้องรับผิดชอบ เพราะไม่มีใครมาบอกเราได้อีกแล้วว่า ต้องทำอะไร ตื่นกี่โมง เวลาไหนต้องอยู่ที่โต๊ะ แล้วนั่งทำงาน ฉะนั้นเวลาที่คนอื่นออกไปเที่ยว เราอาจต้องทำงาน และต้องมีระเบียบวินัยที่สูงมาก”

เป็นมนุษย์เงินเดือนยังมีหัวหน้า ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน คอยชี้แนะ คอยสะกิด คอยเรียกสติให้กลับมาทำงาน แต่กับฟรีแลนซ์ ถือเป็นความรับผิดชอบของเจ้าตัวล้วนๆ

นอกจากนี้ท่ามกลางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ผู้ว่าจ้างมีตัวเลือกฟรีแลนซ์เต็มสนาม ความท้าทายในวันนี้ คือ การสร้างความแตกต่าง สร้างผลงานที่โดดเด่น และเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าในสายตาผู้ว่าจ้าง

“งานไหนก็เผชิญการแข่งขันที่สูงทั้งนั้น ฉะนั้นเราต้องพัฒนาตัวเอง ไม่หยุดนิ่ง ต้องเต้นฟุตเวิร์คอยู่บนสังเวียนนี้ตลอดเวลา การที่แค่ตะโกนตีฆ้องร้องป่าว อวดโชว์ผลงานของตัวเองในโซเชียล อาจไม่เท่าการทำงานที่โดดเด่น เป็นที่น่าจดจำอย่างแท้จริง เพราะถ้าฝีมือเราถึงขั้นนั้น เพียงแค่เรากระซิบคนก็อยากเงี่ยหูฟังแล้ว” ภานุมาศ แสดงความเห็น

ก่อนบอกว่า ฟรีแลนซ์ยุคนี้ ต้องยืดหยุ่นและมีทักษะที่หลากหลายขึ้น เช่น เป็นช่างภาพ ที่สามารถถ่ายวิดีโอได้ พูดนำเสนอ หรือจัดรายการได้ มีทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษได้ดี เพื่อสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับตัวเอง ฟรีแลนซ์จึงต้องรู้จักเปิดช่องว่างให้ตัวเอง โดยหมั่นศึกษา เรียนรู้ และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้อาชีพนี้

“เลือกเส้นทางที่ไม่เหมือนคนอื่น แล้วไล่ล่าความเป็นเลิศในสายของเราเอง มันจะมีผลตอบแทนที่คุ้มค่าตามมาเอง”

พวกเขาบอกความสำคัญของการสร้าง “ของดี” ที่จะทำให้เราสามารถฉีกตัวเองออกจากสารพัดตัวเลือกในสนามฟรีแลนซ์ โดยไม่ต้องเผชิญการแข่งขัน การถูกตัดราคา แถมยังจะช่วยคัดกรอง “ผู้ว่าจ้างที่ดี” ให้กับเราได้อีกด้วย

ท่ามกลางสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป ฟรีแลนซ์ ต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นแค่ “ผู้รับจ้าง” มาสู่การเป็น “พันธมิตร” กับผู้ว่าจ้างมากขึ้น นั่นคือต้องทำงานช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ตอบโจทย์และสมประโยชน์ร่วมกัน

“ลองสำรวจดูว่า โลกเคลื่อนที่ไปถึงจุดไหนแล้ว ทำอย่างไรให้เราขยับจากการเป็นแค่ผู้รับว่าจ้างงาน ไปสู่การเป็นพันธมิตร และคิดแบบพันธมิตร กับผู้ว่าจ้าง กอดคอเป็นเพื่อนกัน และทำงานที่สมประโยชน์ร่วมกัน” พวกเขาบอก

ฟรีแลนซ์ที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่จะเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน นั่งสร้างผลงานที่โดดเด่น แล้วรอผู้ว่าจ้างเรียกใช้อีกต่อไปแล้ว

แต่ฟรีแลนซ์ยุคนี้ จะต้องรู้จัก “ประชาสัมพันธ์ตัวเอง” และ “ขายของเป็น”

อย่าคิดว่าเป็นเรื่องยาก เมื่อภูมิศาสตร์ในการโชว์ผลงาน แนะนำตัว หรือการสร้างคอนเนคชั่น ในวันนี้ ได้เกิดในพื้นที่ใหม่แล้ว นั่นคือ “พื้นที่ออนไลน์” ที่เหล่าฟรีแลนซ์สามารถเปิดตัวสู่โลก และโปรโมทตัวเองได้โดยไม่มีต้นทุน

“ถ้าเราสร้างงานที่ดีพอ เท่ากับเป็นนามบัตรอย่างดีโดยที่ไม่ต้องไปร้านพิมพ์นามบัตรด้วยซ้ำ อย่างสมมติเราเป็นช่างภาพ มีหน้าเพจของตัวเอง ก็แค่นำผลงานที่ดี มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไปโชว์ในนั้น นั่นเท่ากับประตูที่เปิดกว้างให้ทุกคนมองเห็นเราแล้ว และประตูบานนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานของเราต่อไปในอนาคต” เขาบอก

ในวันนี้ คนกลุ่มหนึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ฟรีแลนซ์เป็นอาชีพที่มั่นคงได้ ถ้าสามารถบริหารจัดการตัวเองได้ดี และพัฒนาไม่หยุดนิ่ง ที่สำคัญเราอาจจะพบโอกาสใหม่ๆ มากมายในโลกของฟรีแลนซ์

“ตอนที่ผมตัดสินใจออกจากงาน ผมตั้งใจมาเขียนหนังสือ แต่วันนี้กลายเป็นว่า งานหลักที่ให้รายได้ผมมากที่สุดคือการเป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ ทุกอย่างค่อยๆ กลืนเข้ามา เช่น พอเขียนหนังสือคนก็มาสัมภาษณ์ พอคุยเรื่อยๆ ก็เริ่มเกิดคอนเทนต์บางอย่างที่สามารถไปเผยแพร่ต่อได้ พูดขึ้นเรื่อยๆ ทักษะก็เพิ่มพูน ซึ่งไม่ว่าจะการพูดหรือการเขียนก็มาจากแกนกลางเดียวกันนั่นคือ การที่ผมอยากให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น” ภานุมาศ บอกโอกาสที่เกิดขึ้นในโลกของฟรีแลนซ์

นี่คือเหล่าความคิดเห็นของ “รุ่นพี่ฟรีแลนซ์” ที่ฝากข้อแนะนำให้คนที่อยากกระโจนมาเส้นทางสายนี้ว่า โลกของฟรีแลนซ์ไม่ได้มีแต่สีชมพู

ทว่ายังมี “ด้านมืด” ที่สาหัสสากรรจ์ที่จะต้องเรียนรู้และรับมือด้วยตัวเอง เพื่อให้ประสบการณ์สอนให้เราเก่งขึ้น คิดทำงานนี้ต้องอดทน ล้มได้แต่อย่าล้มเลิก ล้มแล้วต้องลุกให้เร็ว ต้องตั้งใจจริง บริหารเวลา มีวินัย และรับผิดชอบสูงยิ่ง ก่อนเข้ามาทำ ควรศึกษาทั้งด้านดีและด้านไม่ดี แล้วเตรียมรับมือให้พร้อม ที่สำคัญการทำฟรีแลนซ์ต้องมีคอนเนคชั่น และการสร้างคอนเนคชั่นได้นั้น อาจเริ่มได้จากการทำงานองค์กร เพื่อให้องค์กรช่วยฟูมฟัก และพัฒนาฝีมือ ก่อนเข้ามาลงสนามเป็นผู้ประกอบการฟรีแลนซ์อย่างเต็มภาคภูมิ

“เข้ามาในเส้นทางนี้ อย่าไร้เดียงสา ทุกอย่างไม่ได้มีแต่ด้านดีอย่างเดียว ลองไปดูด้านมืด ด้านที่ไม่ดี ด้านที่เป็นข้อจำกัดของมันดูก่อน แล้วดูว่าเราพอจะรับมือได้ไหม ถ้าคิดว่าได้ ก็ค่อยเข้ามาลุย”

เพื่อไม่ใช่แค่ได้ความอิสระ มาตอบชีวิตสโลว์ไลฟ์

แต่คือการปักหลักยืนระยะได้จริงในเส้นทาง...ฟรีแลนซ์

.........................
“หลอมรวม+ผสมผสาน”
สูตรปรับองค์กร & ฟรีแลนซ์ยุคใหม่

ฟรีแลนซ์ในวันนี้กำลังเปลี่ยนโลก และโลกของฟรีแลนซ์ ก็เปลี่ยนไปจากเดิมมากด้วย เทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น กำลังท้าทายโลกการทำงานในยุคต่อจากนี้

“ก้องกัลป์ วิริยะลัมภะ” สถาปนิกและเจ้าของบริษัทออกแบบแบรนด์ Elementseden เป็นตัวอย่างของบริษัทที่เลือกจ้างงานแบบฟรีแลนซ์ ไม่ใช้ระบบพนักงานกินเงินเดือน

จากอดีตที่พนักงานทำงานมากหรือน้อย กลับบ้านเร็วหรือช้า บริษัทก็ยังต้องจ่ายเงินเดือนเท่าเดิม แม้เดือนไหนไม่มีงานเข้า แต่ก็ยังมี “ฟิกซ์คอสต์” ที่ต้องแบกรับไม่เว้นแต่ละเดือน ขณะพนักงาน ทำงานเยอะ ขยันมาก ก็ยังได้ค่าจ้างเท่าๆ กับเพื่อนคนอื่น ซึ่งเขาว่า แบบนั้น “ไม่แฟร์” ทั้งกับเขาและคนทำงาน

“ดังนั้นเรามาหาจุดตรงกลางโดยเปลี่ยนมาจ้างในระบบฟรีแลนซ์ ที่คุณทำมาก ได้มาก ทำน้อย ได้น้อย โดยผมจะให้เป็นโพรเจคๆ ไป ทำอย่างนี้เขามีโอกาสได้เงินมากขึ้น แต่ต้องมีความรับผิดชอบพื้นฐานของเขาเองด้วย”

ผลของโซลูชั่นใหม่ ทำให้ได้ผลงานที่ดีมากขึ้น เนื่องจากพนักงานทำงานเต็มที่ขึ้น และวินกับองค์กรในฐานะคนจ่ายเงิน ที่ไม่ต้องแบกรับทุกอย่าง ขณะที่พนักงานยังสามารถไปรับงานอื่นได้ด้วย หน้าที่ก็แค่ดูแลโพรเจคของตัวเองให้ดี ไม่มีเวลาเข้าออก แต่จะดูแค่สามารถทำงานออกมาให้ทันเดทไลน์ และได้งานคุณภาพ ที่ทุกคนต้อง “ชอบ” ก็เท่านั้น

การปรับตัวของ Elementseden สอดรับกับการศึกษาของ CloudPeeps ซึ่งเป็นบริษัท Startup ในสหรัฐอเมริกาที่ให้บริการแพล็ตฟอร์มสำหรับเชื่อมโยงฟรีแลนซ์ กับธุรกิจที่มองหาฟรีแลนซ์ ที่ให้ข้อมูลว่า เทรนด์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ บริษัทเกิดใหม่หรือ Startup จะใช้ฟรีแลนซ์มาทำงานมากขึ้น ทั้งเพื่อสร้างการเติบโตและรักษาความคล่องตัวของธุรกิจ โดยการจ้างฟรีแลนซ์ที่มีประสบการณ์และมีความหลากหลายนั้น จะทำให้บริษัทสามารถทดลองกลยุทธ์หลายๆ อย่าง เพื่อหาวิธีที่ดีที่สุด ในการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ วิธีนี้ไม่มีพันธะผูกพันในระยะยาว แถมยังช่วยธุรกิจ“ประหยัด” ได้อีกด้วย เพราะไม่ต้องแบกภาระต้นทุนเหมือนการจ้างพนักงานประจำ ที่อาจต้องมีเรื่องของสวัสดิการพนักงานพ่วงมาด้วย เป็นต้น 

เวลาเดียวกับที่ องค์กรต่างๆ มีแนวโน้มการจ้างงานแบบ “Sign contract” มากขึ้น โดยเซ็นสัญญาจ้างงานที่มีระยะเวลา เช่น 1 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี หมดสัญญาก็ดีลค่าตอบแทนกันใหม่ ถ้าดีก็ค่อยต่อสัญญา เช่นเดียวกับเทรนด์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ขณะที่ฟรีแลนซ์ จะเริ่มรับงานแบบผูกปิ่นโตกับองค์กรใดองค์กรหนึ่งมากขึ้น

“อนาคต บริษัทอาจจะใจกว้างมากขึ้น โดยให้พนักงานสามารถทำงานจากจุดที่แฮปปี้ และพอใจได้ เช่น ไม่ต้องทำงานทุกวัน ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ถ้าเขาสามารถทำผลงานที่มีคุณภาพและน่าพอใจได้ ในขณะที่ฟรีแลนซ์เอง ก็จะเริ่มผูกกับองค์กรมากขึ้น คือไม่ต้องไปขวนขวายหรือวิ่งไล่ผู้จ้างงานไปเรื่อยๆ แต่เป็นการผูกอยู่กับบางที่ ผมว่าโมเดลนี้ จะค่อยๆ เกิดขึ้น และกลืนกลายกันไปในที่สุด”

“ภานุมาศ ทองธนากุล” ผู้เขียนหนังสือ การลาออกครั้งสุดท้าย ฟรีแลนซ์มืออาชีพที่อยู่ในวงการมา 9 ปี บอกแนวโน้มการปรับตัวขององค์กรและฟรีแลนซ์ในวันนี้

“อนาคตจะมีสูตรที่ทับซ้อนกันมากขึ้น อย่างบริษัทจะอยากให้คนเป็นฟรีแลนซ์มากขึ้น จะเริ่มมีฟรีแลนซ์ที่รวมตัวกันเป็นกึ่งๆ บริษัท ผมเองก็เป็นฟรีแลนซ์ แต่ผูกปิ่นโตกับบางบริษัทอย่างเหนียวแน่น จนกลายเป็นรูปแบบใหม่คือ ‘ฟรีแลนซ์ประจำ’ ซึ่งทุกอย่างจะดิ้นได้ ทั้งพนักงานบริษัท บริษัท และฟรีแลนซ์ โดยเราจะเจอรูปแบบที่ประสานกันมากขึ้น” เขาบอก

เทรนด์ของโลกบอกว่า มนุษย์เงินเดือนจะน้อยลง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ชัดเจนว่าไม่อยากเป็นลูกจ้าง แต่อยากมีอิสระในการทำงาน แล้วองค์กรจะรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างไร เมื่อทุกวันนี้ “แรงงาน” ก็หายาก

“รัชดา เสริมศิลปะกุล” ผู้อำนวยการการตลาดและการขาย ME by TMB บอกว่า ปรากฏการณ์ฟรีแลนซ์กำลังส่งผลต่อตลาดแรงงานทั่วโลก

โดยล่าสุดพบว่า ปัจจุบันมีมนุษย์เงินเดือนเหลือไม่ถึง 25% หรือเพียงแค่ 1 ใน 4 ของคนทำงานทั่วโลกเท่านั้น แม้ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นนี้ โดยเชื่อว่ายังมีสัดส่วนพนักงานประจำอยู่เกินครึ่ง แต่มองว่า การที่เด็กรุ่นใหม่ ไม่อยากเป็นมนุษย์เงินเดือน กำลังส่งสัญญาณบางอย่างให้องค์กรต้องเตรียมรับมือ

โดยสิ่งที่องค์กรจะทำได้คือ การทำให้พนักงานรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ (Ownership) ในบริษัทมากขึ้น ให้รู้สึกว่า สิ่งที่เขากำลังทำอยู่คือของๆ เขา ไม่ใช่ทำเพื่อบริษัท เขาก็จะทำเต็มที่ และในเมื่อทำเต็มที่แล้ว บริษัทก็ควรให้รางวัล ไม่ว่าจะเป็นการโปรโมท ชื่นชม ตลอดจนให้ผลตอบแทนที่ดี ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะท้าทายองค์กรมากขึ้นนับจากนี้

“มองว่าองค์กรในอนาคต Business Model จะค่อยๆ เปลี่ยนไป เช่น การจ้างงานในระบบฟรีแลนซ์มากขึ้นหรือการให้ผลตอบแทนแก่พนักงานประจำที่คุ้มค่าเหมือนฟรีแลนซ์ คือ ทำมาก ได้มาก มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น และยังได้รับความมั่นคงแบบพนักงานประจำด้วย เหล่านี้ก็เพื่อรักษาคนของเราไว้”

นี่คือคอนเซ็ปต์ที่กำลังเกิดขึ้นกับโลกการทำงานยุคใหม่ ซึ่งแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

................................................
“สูตรบริหารเงิน”แบบฟรีแลนซ์

“อาชีพฟรีแลนซ์ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ทั้งรายได้และจำนวนงานที่ถูกว่าจ้าง ดังนั้น การออมเงินจึงต้อง “ออมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้” โดยถ้าเป็นไปได้ให้แบ่งรายได้มาออม 50% ทันทีที่ได้รับเงิน ที่เหลือค่อยจับจ่ายใช้สอย พอรายได้เริ่มมากขึ้น ก็อาจลองหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินในตลาดที่จะทำให้เงินนั้นงอกเงยขึ้นได้ เช่น แบ่งมาลงทุน โดยเริ่มจากที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ ไม่ว่าจะเป็นพวกประกันหรือกองทุน พอได้ผลตอบแทนเพียงพอ ความเสี่ยงน้อยลง ก็อาจจะลงทุนเพิ่มขึ้น อย่างไรในชีวิตฟรีแลนซ์จะมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น ดังนั้นควรมีเงินออมที่มีความคล่องตัวสูงอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง เพื่อความปลอดภัยของชีวิต และความจำเป็นเร่งด่วน” 

“รัชดา เสริมศิลปะกุล” ผู้อำนวยการการตลาดและการขาย ME by TMB 

“ประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมพบว่า เรื่องเงินไม่ใช่การมีเงินแล้วออมทีละเยอะๆ แต่เป็นเรื่องของความสม่ำเสมอ ซึ่งสิ่งที่ยากสุด คือ พฤติกรรมการบริหารเงิน และวินัยในการจัดการเงินของเราเอง การประหยัดไม่ค่อยดีหรอก สู้การจับจ่ายใช้สอยตามใจไม่ได้ แต่นั่นคือสิ่งที่ทำให้เรายืนระยะได้ในการเป็นฟรีแลนซ์ ความรู้ทางการเงิน ไม่ใช่อะไรยากๆ แต่เป็นเรื่องใกล้ๆ ตัว ที่ทำให้เรารู้จักจัดการกระเป๋าเงินของเราเอง รู้จักจัดสรรเงินเป็นส่วนๆ ดูแลรายรับรายจ่าย เข้าใจว่าอะไรคือทรัพย์สินที่ดี-หนี้สินที่ดี และพอจะวางแผนภาษีให้ตัวเองได้ ความเข้าใจเหล่านี้ ช่วยลดปัญหาของฟรีแลนซ์ เพื่อเหลือพลังไปรับมือกับเรื่องอื่นๆ ได้อีกหลายเรื่อง”

“ภานุมาศ ทองธนากุล” ผู้เขียนหนังสือ การลาออกครั้งสุดท้าย

“ฟรีแลนซ์ บางครั้งได้เงินมาเยอะ ซึ่งนั่นอาจทำให้เราฟุ้งเฟ้อไปได้ เคล็ดลับในการบริหารเงินที่สามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ คือ การจัดทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายอย่างเคร่งครัดทุกวัน ซึ่งจะทำให้เห็นสถานการณ์ทางการเงินได้ชัดเจน และช่วยให้เราสามารถตัดรายจ่ายฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็นออกไปได้ อีกข้อที่สำคัญ คือ ต้องออมก่อนใช้ ไม่ใช่เหลือแล้วค่อยออม รวมถึงการเลือกออมในบัญชีที่ให้ผลตอบแทนสูง และคล่องตัวด้วย”

“มณฑล กสานติกุล” บล็อคเกอร์สาวชื่อดังจากเพจ I Roam Alone

“ธรรมชาติของฟรีแลนซ์คือ การมีรายได้ที่ไม่แน่นอน ดังนั้นจึงควรรับมือกับความไม่แน่นอน โดยเตรียมความพร้อมด้านการเงิน เมื่อมีรายได้ควรออมให้มาก เพื่อเป็นเงินสำรองไว้กรณีที่ไม่มีรายได้เข้ามาเลย โดยที่ผ่านมาเคยบริหารเงินออมด้วยการนำเงินไปลงทุนในกองทุนและบัญชีฝากประจำ ซึ่งข้อเสียคือการขาดสภาพคล่อง จะเบิกจะถอนไม่ได้เลย หรือแม้กระทั่งไปลงทุนในหุ้นซึ่งหลายคนอาจมองว่าได้ผลตอบแทนสูง แต่ความเสี่ยงก็สูงเช่นกัน ดังนั้นควรเลือกออมเงินอย่างถูกวิธี โดยเลือกโพรดักส์ที่คล่องตัว ให้ผลตอบแทนสูง และเข้ากับตัวเราจริงๆ และควรศึกษาเรื่องพวกนี้ให้มากขึ้น”

“ก้องกัลป์ วิริยะลัมภะ” สถาปนิกหนุ่มเจ้าของแบรนด์ Elementseden

...................................................................
โอกาสธุรกิจโหนกระแส “ฟรีแลนซ์”

การเกิดขึ้นของพลเมืองฟรีแลนซ์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งโอกาสหวานในธุรกิจที่พร้อมบริการลูกค้าฟรีแลนซ์

“Coworking Space”

พื้นที่ทำงานร่วมกัน ที่จะให้เหล่าฟรีแลนซ์ได้ใช้ทำงาน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน อาทิ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ล็อคเกอร์เก็บสัมภาระ งานบริการสำนักงานทั่วไป อย่าง เครื่องแฟ็กซ์ เครื่องพิมพ์ เครื่องถ่ายเอกสาร ฯลฯ ไล่ไปจน มุมนั่งเล่น ห้องครัว แล้วแต่จุดขายของแต่ละที่ โดยพื้นที่ทำงานมีให้เลือกตั้งแต่ พื้นที่ทำงานส่วนบุคคล ห้องทำงานขนาดเล็ก กระทั่งพื้นที่จัดประชุม สัมมนา ที่เหล่าฟรีแลนซ์สามารถไปเลือกใช้ได้ โดยปัจจุบันมีอยู่มากมายทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด อาทิ HUBBA, Glowfish และ Muchroom Coworking Space เป็นต้น

บริการรับ/ส่งของ / ธุรกิจเดลิเวอรี่

การทำงานหลายอย่าง บนความรับผิดชอบสูงสุด ที่มีคำว่า “เดทไลน์” คอยชี้ชะตาชีวิต ทำให้งานหลายอย่างกลายเป็นข้อจำกัดและ “ภาระ” ของฟรีแลนซ์ เช่น การส่งงาน ส่งของ ที่ไม่สามารถทำผ่านออนไลน์ได้ ส่งโอกาสให้บริการรับส่งของ ส่งเอกสาร ส่งงาน ตลอดจนธุรกิจเดลิเวอรี่ที่จะช่วยเซฟเวลาฟรีแลนซ์ ด้วยการโทรสั่งทุกอย่างให้มาส่งถึงที่ได้ ซึ่งปัจจุบันธุรกิจรับส่งพัฒนาไปไกล ไม่ว่าจะของชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ ของกิน ของใช้ ตลอดจนบริการรับทำความสะอาด ตรวจสุขภาพ ช้อปปิ้งของเข้าบ้าน กระทั่งกรูมมิ่งสัตว์เลี้ยง บริการสารพัด “จัดให้” ที่พร้อมเบาแรงฟรีแลนซ์ได้ถึงบ้าน

เอเยนซี่ฟรีแลนซ์

หนึ่งธุรกิจที่เกิดขึ้นในต่างประเทศแล้วคือ ผู้ให้บริการเชื่อมผู้ประกอบอาชีพอิสระ เข้ากับธุรกิจที่ต้องการใช้ฟรีแลนซ์ ซึ่งยังคงมีโอกาสอีกมากในไทย โดยอาจเป็นเอเยนซี่เฮ้าส์ ที่รวมเอาฟรีแลนซ์ทุกสาขา ทุกแขนง ไว้ในที่เดียว เป็นเหมือน “One stop service” ของเหล่าฟรีแลนซ์ ที่จะคอยหางาน ติดต่อลูกค้า และดูแลการว่าจ้างงานให้กับฟรีแลนซ์ เพื่อลดปัญหายุ่งยาก และอุปสรรคของการทำงาน “ตัวคนเดียว” ของฟรีแลนซ์

ธุรกิจฝึกอบรมฟรีแลนซ์

ไอเดียจากเหล่าฟรีแลนซ์ ที่เห็นปัญหาว่า การเริ่มต้นเป็นฟรีแลนซ์ ไม่ใช่เรื่องง่าย และมีหลายปัญหา หลายอุปสรรคให้ต้องเรียนรู้ ซึ่งอนาคตหากมีองค์กร หรือหน่วยงาน คอยทำหน้าที่เป็น “โรงเรียนอนุบาลสำหรับฟรีแลนซ์” ที่จะทำการอบรม ให้คำปรึกษา พัฒนาความรู้ คอยเป็นพี่เลี้ยง และเตรียมความพร้อมให้กับฟรีแลนซ์ ก็จะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้มาก และยังเป็นทางลัดให้ฟรีแลนซ์เข้าสู่วงการนี้ได้ง่ายขึ้นด้วย