'สุขุมพันธุ์'แนะคุมกำเนิดรถยนต์ไม่มีที่จอดห้ามซื้อ

'สุขุมพันธุ์'แนะคุมกำเนิดรถยนต์ไม่มีที่จอดห้ามซื้อ

เสวนาระดมแผนแก้จราจรกรุงเทพฯ "สุขุมพันธุ์" แนะคุมกำเนิดรถยนต์ไม่มีที่จอด-ห้ามซื้อ คาดความเร็วบนถนนปี 72 เหลือ12 กม./ชม.

เมื่อเวลา 09.15 น. ที่อาคารศรีจุลทรัพย์ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมระดมสมอง เรื่องท้าทายไทย : แก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การจัดการจราจรในกรุงเทพมหานคร” ว่า ขณะนี้กทม.และปริมณฑประสบปัญหาด้านการจราจรติดขัดและมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากความต้องการในการเดินทางของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น หากไม่เตรียมการแก้ไขหรือไม่มีแผนงานโคงการรองรับกับปัญหาจราจร จะส่งผลกระทบต่อการเดินทางและความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงจะส่งผลเสียต่อประเทศในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในอนาคต ทำให้ภาครัฐมีนโยบายจะเร่งหาแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ด้วยการผลักดันแผนงานโครงการทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาวของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯและปริมณฑล

ที่ผ่านมาการกำหนดมาตรการควบคุมปริมาณการจราจรรวมทั้งมาตรการอื่น ๆ จะไม่สำเร็จหากไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่มีระบบเพียงพอในการให้บริการประชาชน จึงมีความจำเป็นต่องผลักดันระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพเพื่อสอดล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน เพราะจะทำให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชมากขึ้น รวมถึงการรณรงค์ให้มีการใช้ยานพาหนะร่วมกัน โดยเน้นหลักการเคลื่อนคนแทนที่พยายามเคลื่อนรถ ขณะเดียวกันต้องมีการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างศูนย์กลางชุมชนต่าง ๆ ด้วยโครงการคมนาคมขนส่งที่มีความสะดวกรวดเร็วและประหยัดพลังงาน สำหรับงานประชุมวันนี้ กทม.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) วิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชเพื่อร่วมกันหาแนวคิดเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง    

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวอีกว่า เรื่องปัญหาจราจรไม่ต้องมีข้อกังขาว่าทำไมในกรุงเทพฯต้องประสบปัญหานี้ เพราะตัวเลขมีความชัดเจนในเรื่องปริมาณรถยนต์ขณะนี้มีจำนวน 8 ล้านคัน แต่ผิวจราจรกลับมีน้อยกว่า และปริมาณรถยนต์มีมากกว่าประชากรในทะเบียนบ้านหลายล้านคัน ซึ่งในกรุงเทพฯมี 17 ล้านเที่ยวคนต่อวัน หรือเพียงร้อยละ 40 ใช้ระบบขนส่งสาธารณะประมาณ 7 ล้านคัน ส่วนที่เหลือใช้รถยนต์ ซึ่งตัวเลขที่บ่งชี้ทั้งหมดก็ชัดเจนว่าการจราจรต้องติดขัดเพราะตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ค.ปีนี้มีรถจดทะเบีนใหม่จำนวน 3.5 แสนคัน หรือเฉลี่ยมีรถจดทะเบียนใหม่ 3.5 พันคันต่อวัน ในขณะที่การเพิ่มผิวจราจรนับวันจะทำลำบากขึ้น เพราะไม่มีความต้องการเวนคืน หรือการย้ายถิ่นฐานของประชาชน ซึ่งก็ไม่ว่ากัน เพราะตนขอพูดความจริง 

แนวโน้มจากนี้ในระยะสั้นเราไม่สามารถสบายใจได้ถึงแม้การแก้ปัญหาหาจราจรได้เดินหน้าไปในแนวทางที่ถูกต้อง โดยมีมาตรการทั้งบรรเทาอาการ และรักษาโรค โดยยาที่บรรเทาอาการมีจำนวนมาก อาทิ การเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง โดยเฉพาะการใช้เรือ การเพิ่มระบบเพื่อป้อนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชน การปรับปรุงถนน เพิ่มจุดตัด ทางแยก แก้ไขปัญหาคอขวด มีการเพิ่มเส้นทางจักรยาน เปิดแอพลิเคชั่นรายงานปัญหาจราจร แต่ยาที่จะรักษาโรคได้ต้องเป็นการสร้างระบบขนส่งมวลชน โดยในปี 2572 ในกรุงเทพฯจะมีระบบขนส่งมวลชนแบบรางเพิ่มขึ้น 5 เท่า มีระยะทางเกือบ 300 กม. จะมีสายหลัก 8 เส้นทาง สายรอง 6 เส้นทาง มีไลท์ เรลที่บางนา-สุวรรณภูมิ ซึ่งระบบขนส่งระบบรางมีความสำคัญมากเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกมาชึ้น เพื่อให้ทิ้งรถไว้ที่บ้าน       

ทั้งนี้ยังมีคำถามว่ารถไฟฟ้าจะเป็นยารักษาโรคได้หรือไม่ ตนคิดว่ายังมีตัวเลขน่ากลัวมาก เพราะจากนี้ถึงปี 2572 ยานพาหนะรถยนต์จะเพิ่มจาก 8 ล้านคันเป็น 10 ล้านคัน การเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯจะเพิ่มขึ้นจาก 17 ล้านเที่ยวคน จะเป็น 22 ล้านเที่ยวคน แต่สัดส่วนการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลไม่ได้ลดลง ส่วนปริมาณผู้โดยสารจากระบบรางก็เพิ่มมาจากระบบขนส่งมวลชนแบบอื่น ที่สำคัญในเรื่องความเร็วบนถนนซึ่งปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 19 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ในปี 2572 อาจจะเหลือเพียง 12 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความหมายคือลงทุนหลายแสนล้านแต่รักษาโรคไม่ได้ก็เป็นเรื่องน่ากลัวมาก ถึงแม้จะมีการสร้างระบบขนส่งมวลชนแบบรางก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะต้องมีวัฒนธรรมในการใช้ชีวิตและการเดินทางของประชาชนด้วย 

แนวทางเบื้องต้นคือ 1.คุมกำเนิดรถยนต์ โดยผู้ที่ต้องซื้อรถยนต์ต้องแสดงที่จอดรถ ถ้าไม่มีที่จอดรถต้องห้ามซื้อรถยนต์ 2.ควบคุมการใช้รถส่วนบุคคลในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในศูนย์กลางธุรกิจ ถ้าเข้าใช้อาจจะต้องมีการเสียเงิน 3.บังคับให้ผู้มีที่จอดรถในใจกลางกรุงเทพฯต้องจ่ายค่าจอดรถสูงขึ้น เพื่อมีแรงจูงใจทิ้งรถไว้ที่บ้าน 4.พัฒนาระบบรถประจำทางทั้งการขนส่งหลังและการป้อนผู้โดยสาร 5.เพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งทางเลือกให้เป็นวิถีชีวิตหลัก หรือเป็นการป้อนเข้าสู่ระบบโดยใช้แม่น้ำ คอง เข้ามาช่วย 6.เพิ่มเส้นทางจักรยาน ต้องมีการดูแลถนนให้ดี เพิ่มความสะดวกให้ผู้สูงอายุ และผู้พิการ เพราะสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว 7. ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ต่อเนื่อง พัฒนาระบบสกายวอลค์ในศูนย์กลางธุรกิจเพื่อจูงใจให้ประชาชนเดินทางขึ้น ที่สำคัญกทม.และปริมณฑลต้องรวมมือเรื่องผังเมือง และรัฐบาลต้องสร้างเมืองเซทเทิลไลท์ที่มีความพร้อมในเรื่องโรงเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อไม่ให้คนในเขตปริมณฑลเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ถ้าไม่จำเป็น

“ยังมีคำถามว่าเราจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่ ถ้าอำนาจหน้าที่การดูแลจราจรยังกระจายอยู่หลายหน่วยงาน และถึงเวลาหรือยังที่จะมีการรวมอำนาจหน้าที่แก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ หรือปล่อยให้อำนาจกระจายไปยัง 20 กว่าหน่วยงาน ซึ่งอาจจะมีจุดยืนที่ต่างกัน ทรัพยากรต่างกัน บุคคลากรต่างกัน คำถามง่าย ๆ เราจะจริงจังกับการแก้ปัญหาแค่ไหน หรือเราจะปล่อยต่อไป หรือต้องสร้างระบบให้ทำงานเชิงบูรณาการแท้จริงก่อน”ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าว