จี้ผู้ค้ารุก'คลองโอ่งอ่าง' รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างก่อน13ต.ค

จี้ผู้ค้ารุก'คลองโอ่งอ่าง' รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างก่อน13ต.ค

กทม.จี้ผู้ค้ารุก “คลองโอ่งอ่าง” รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างก่อน 13 ต.ค. เปิดทางระบายน้ำ-คืนพื้นที่ปชช.

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารทม. ครั้งที่ 28/2558 โดยมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานการประชุมถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหารุกล้ำที่สาธารณะบริเวณคลองโอ่งอ่าง ย่านสะพานเหล็ก ว่า กทม.ได้แก้ไขปัญหาการรุกล้ำที่สาธารณะบริเวณคลองโอ่งอ่างตามแนวทางของประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 44 ซึ่งผู้ที่รุกล้ำที่สาธารณะถือว่ามีความผิด และในวันนี้กทม.ได้เริ่มปิดประกาศแจ้งให้ทุกแผงค้ารับทราบในการรื้อย้ายแผงค้า และสิ่งปลูกสร้างของตนที่รุกล้ำคลองโอ่งอ่างออกภายใน 15 วัน คือภายในวันที่ 13 ต.ค.นี้ หากครบกำหนดแล้วผู้ค้ายังไม่รื้อย้ายแผงค้าและสิ่งปลูกสร้างของตน กทม.จะดำเนินการตามขั้นตอนซึ่งมีระยะเวลา 7 วัน จากนั้นสำนักการโยธา สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ สำนักงานเขตพระนคร สำนักการระบายน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเริ่มรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. เป็นต้นไป โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พ.ย.นี้ 

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ปัญหามีผู้ค้าสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำพื้นที่คลองโอ่งอ่างประมาณ 500 ราย ทำให้เกิดความสกปรก และเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ อีกทั้งมีการก่อสร้างอาคารทับหลังเขื่อนคอนกรีตเสริมในเหล็ก ทำให้แนวเขื่อนได้รับความเสียหาย ที่สำคัญผู้ค้าจำนวนมากในพื้นที่จำกัดเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย กีดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรณีเกิดอัคคีภัยหรือภัยพิบัติอื่นๆ นอกจากนี้มีกลุ่มอิทธิพล มาเฟีย หรือผู้มีผลประโยชน์หนุนหลังผู้ค้า มีการจ้างงานชาวต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งมีผลด้านความมั่นคงของชาติ จึงจำเป็นต้องดำเนินการจัดเรียบพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งมีผู้ค้าที่ก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำคลองโอ่งอ่างโดยตั้งอยู่ในพื้นที่เขตพระนคร 375 แผง และเขตสัมพันธวงศ์ 125 แผง ปัจจุบันมีบางส่วนรื้อย้ายออกไปบ้างแล้ว ขณะนี้ในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ เหลือแผงค้าประมาณ 90 แผง ส่วนพื้นที่เขตพระนคร รื้อย้ายออกไปแล้วประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ 

“อย่างไรก็ตาม กทม.ได้จัดหาสถานที่รองรับผู้ค้าที่รื้อย้าย อาทิ ตลาดหลังพาต้าปิ่นเกล้า ตลาดนัดสายใต้เก่า ตลาดคึกคักท่าดินแดง คลองถม คอร์เนอร์ 2 และตลาดขนส่งสายใต้ใหม่ ซึ่งหลังจากดำเนินการรื้อย้ายแผงค้าและสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำคลองโอ่งอ่างเรียบร้อยแล้ว กทม.จะทำการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณให้มีความสวยงาม และเป็นสถานที่พักผ่อนให้ประชาชน” นายจักกพันธุ์ กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า คลองโอ่งอ่างเป็นคูเมืองเดิมในอดีต มีความกว้างประมาณ 20 เมตร ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร เชื่อมต่อจากคลองบางลำพู บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศสิ้นสุดที่บริเวณเชิงสะพานพระปกเกล้า ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนคลองโอ่งอ่างเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2519 ต่อมาวันที่ 21 พ.ค. 2550 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกำหนดแนวคิดการอนุรักษ์และพัฒนาคลองโอ่งอ่างด้วยการจัดระเบียบบริเวณปากคลองโอ่งอ่าง ปรับปรุงสะพานหันที่มีรูปลักษณ์เป็นสะพานสมัยรัชกาลที่ 5 ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชน และวันที่ 28 ก.ค. 2543 คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า มีมติให้กทม.รื้อถอนอาคาร และแผงค้าที่รุกล้ำบริเวณคลองโอ่งอ่าง