'สมคิด' สั่งเดินหน้า 5 โครงการใหญ่

'สมคิด' สั่งเดินหน้า 5 โครงการใหญ่

"สมคิด" สั่งเดินหน้า 5 โครงการใหญ่ ทุ่มงบลงทุน 2 แสนลบ. เดินหน้ารถไฟฟ้า 3 สาย - โรงไฟฟ้าขยะ 2 แห่ง คาดดันเข้าครม.ปีนี้

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP ครั้งที่ 5/2558 ว่า ภายในสิ้นปีจะมี 5 โครงการโครงสร้างพื้นฐานวงเงินรวม 200,379 ล้านบาท ที่จะเข้าครม. ซึ่งประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีชมพู วงเงิน 56,725 ล้านบาท สายสีเหลือ 54,768 ล้านบาท ส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน 82,494 ล้านบาท โรงไฟฟ้าขยะที่นนทบุรี 4,142 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าขยะโคราช 2,250 ล้านบาท โดยทั้ง 5 โครงการนี้จะดำเนินการตามพ.ร.บ.ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ

โดยเบื้องต้นคาดว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายจะสามารถเข้าครม.ได้ก่อน เนื่องจากมีความพร้อมเรียบร้อยแล้ว ขณะที่โรงไฟฟ้าขยะ ที่นนทบุรีนั้น ได้ดำเนินการเข้าครม.แล้วเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยครม.ได้ส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ไปดูในส่วนของรายละเอียดต่างๆอีกครั้ง

สำหรับการดำเนินการแก้ไขกฎหมาย เพื่อเพิ่มเพดานนั้น หากโครงการที่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ให้ดำเนินการตามที่รัฐมนตรีเจ้าสังกัดเป็นผู้กำหนดเกณฑ์ ส่วนกรณีที่โครงการ 1,000-5,000 ล้านบาท จะมีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ ซึ่งหากเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานให้ดำเนินการตามกรอบ PPP แต่หากไม่เกี่ยวข้องกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานนั้นให้ดำเนินการแบบเดียวกับโครงการไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ส่วนโครงการที่เกินกว่า 5,000 ล้านบาท ให้ดำเนินการตามกรอบ PPP

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ดูแลเรื่องเงินกู้ในโครงการ และจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ อินฟราสตักเจอร์ฟันด์ เพื่อระดมทุนในส่วนที่รัฐจะต้องลงทุน โดยจะดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับการดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ

“เราพยายามทำให้หนี้สาธารณะไม่เกิน 60% เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งจะต้องดูให้ทุกอย่างมีความเหมาะสม โดยมองว่าแผน PPP จะช่วยให้รัฐประหยัดงบประมาณได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งต่อการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในอนาคต”นายสมคิด กล่าว

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว. คลัง กล่าวว่า หลังจากที่ครม.อนุมัติกรอบเพดาน พ.ร.บ.เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐแล้ว ในวันนี้จึงออกเกณฑ์เพื่อให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการได้สะดวก โดยโครงการที่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทนั้นให้หน่วยงานทำจัดซื้อจัดจ้างได้เอง และโครงการที่เกินกว่า 5,000 ล้านบาทให้ดำเนินการตามกรอบของ PPP