ตะลึง!มาเลย์ฯซื้อรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์จากจีนถูกกว่าไทย2พันลบ.

ตะลึง!มาเลย์ฯซื้อรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์จากจีนถูกกว่าไทย2พันลบ.

ปูดรถไฟจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ด้วยวิธีพิเศษสูงลิบลิ่ว4.4พันล้านเทียบกัวลาลัมเปอร์แอร์พอร์ตฯที่ซื้อจากโรงงานเดียวกันแต่ถูกกว่าไทย2พันล.

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงกรณีที่นายออมสิน ชีวะพฤกษ์รมช.คมนาคมมีคำสั่งให้ฝ่ายบริหารรถไฟ เร่งชี้แจงกรณีจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ใหม่จำนวน 7 ขบวน ที่มีข่าวว่าไม่โปร่งใสมีการล็อกสเปคให้เอกชนบางราย เช่นการไปกำหนดให้มีที่ยืนได้ 10 คน/ตร.ม.

ทั้งที่ตามมาตรฐานทั่วไปจะอยู่ที่ 6-8 คน/ตร.ม. ซึ่งการกำหนดคุณสมบัติเงื่อนไขดังกล่าวแทบไม่มีที่ใดในโลกทำได้

ขณะที่การกำหนดให้มีระบบขับเคลื่อน 8 ชุดต่อขบวนโดยอ้างว่าเพื่อให้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ยังคงสามารถวิ่งให้บริการได้ตามปกติ แม้ระบบขับเคลื่อนหลักจะชำรุดหรือเสียขึ้นมา ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด เพราะระบบรถไฟฟ้านั้นปกติจะมีเฉพาะส่วนหัว-ท้ายเท่านั้น และวิ่งให้บริการระยะสั้นๆ และทุกวันจะต้องมีการตรวจสอบระบบเป็นรายวันอยู่แล้ว และการรถไฟฯยังมีการสำรองอะไหล่อีกกว่า 400 ล้านบาทรวมอยู่ในโครงการอยู่แล้ว

ล่าสุดได้มีการสืบค้นมาจากเวปไซต์ของ CNR ประเทศจีน(http://en.chinacnr.com/Portals/0/LTN20150125007.pdf) ถึงกับต้องผงะ เพราะเมื่อเห็นราคาที่บริษัท ฉางชุน-ซีเอ็นอาร์ฯ ได้เซ็นสัญญาซื้อขายรถไฟฟ้า กัวลาลัมเปอร์แอร์พอร์ตลิงค์ 6 ขบวน 24 คัน มูลค่า 267 ล้านหยวนหรือประมาณ 1,508 ล้านบาท ราคาต่อหน่วยคือ 62.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดซื้อเพิ่มเติมขบวนรถไฟฟ้าซึ่งของเดิมเป็นรถไฟฟ้าจากผู้ผลิตซีเมนต์เช่นเดียวกับของประเทศไทย

แต่ราคาที่ถูกตั้งไว้ในการจัดซื้อรถไฟฟ้า 7 ขบวน 28 คัน ของการรถไฟฯนั้น วงเงิน 122 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 4,400 ล้านบาท ราคาต่อหน่วยคือ 157 ล้านบาท ซึ่งราคาที่บริษัทฉางชุน-ซีเอ็นอาร์ฯขายให้การรถไฟฯสูงกว่าที่ขายให้มาเลเซียถึงกว่า 2,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับราคาขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัดหรือบีทีเอสจัดซื้อจากแหล่งผลิตเดียวกันคือบริษัทรถไฟฉางชุน-ซีเอ็นอาร์ พบว่า ราคารถไฟฟ้าที่บีทีเอสจัดซื้อ 12 ขบวนจำนวน 48 ตู้ซึ่งส่งมอบเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมากลับมีราคาเพียง 70 ล้านเหรียญหรือราว 2,100 ล้านบาทเท่านั้น หรือตกตู้ละ 43 ล้านบาท ทำให้โครงการจัดซื้อในครั้งนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างวงกว้าง แม้กระทั่งในเฟซบุคส่วนตัวของของดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตนักการเมืองของพรรคปชป.

แต่ทำไมหน่วยงานตรวจสอบของรัฐ ทั้ง คตร. ,ป.ป.ช และ สตง.ฯ กลับนิ่งเฉยไม่เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ ซึ่งงานนี้ต้องสาวลึกกันตั้งแต่กรรมการกำหนดราคากลาง รวมทั้งกรรมการกำหนดร่างขอบเขตทางเทคนิค และต้องสาวถึงเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมในเรื่องนี้มาลงโทษ คงหาตัวไม่ยาก เพราะมีการออกมารักษาผลประโยชน์แทนผู้ผลิตจีนกันอย่างสุดลิ่มในโลกโซเชียล

ขณะนี้ยังไม่สายเกินไปที่จะสั่งระงับและยกเลิกการประมูลในครั้งนี้ และทำราคากลางให้ถูกต้องก่อนที่จะสูญภาษีเงินประชาชนไปตกหล่นในกระเป๋าใครกว่า 2,000 ล้านบาท

"การประมูลครั้งนี้เสมือนตั้งใจอยากได้รถยุโรปแต่สุดท้ายประมูลจบอยากได้ของจีนในราคายุโรป มันชักจะยังไงๆอยู่ คงเป็นเรื่องที่รัฐบาลพล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีคมนาคม จะยังนิ่งเฉยต่อไปไม่ได้ควรต้องมีคำสั่งเด็ดขาดระงับโครงการเสียก่อน และมีการตรวจสอบผู้กระทำผิด เพราะในเมื่อรัฐบาลชุดนี้ประกาศจะต้องไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น แต่กรณีจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ที่กำลังอื้อฉาวอยู่นี้รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมจะชี้แจงสังคมกันอย่างไร"