น้ำตกเสาหิน UNSEEN วิเชียรบุรี

น้ำตกเสาหิน UNSEEN วิเชียรบุรี

“วิเชียรบุรี...มีดีแค่ไก่” หลายคนคงคิดเหมือนผม

เพราะอำเภอนี้กลายเป็นอำเภอทางผ่านไปโดยปริยาย ยิ่งถ้าไม่ใช่คนพื้นที่ หลายคนอาจจะไม่เคยเห็นตัวอำเภอด้วยซ้ำ ถ้าแวะริมทางคงแค่แวะกินไก่ย่าง จนกระทั่งผมเห็นภาพถ่ายของ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาน้ำจืดที่เอารูปน้ำตกที่มีแท่งเสาหินหกเหลี่ยมเรียงรายอยู่หน้าน้ำตกเอามาให้ดู แค่นี้ผมก็ตาลุกวาวแล้วครับ


เพราะแม้บ้านเราจะมีแท่งเสาหินแหลี่ยมนี้หลายที่ ขนาดใหญ่ๆ ก็เช่นที่ ภูพระอังคาร บุรีรัมย์ หลังที่ว่าการ อ.บ่อพลอย เมืองกาญจน์ ส่วนขนาดเล็กลงมาก็ที่ม่อนเสาหิน แพร่ และที่แสนตุ่ม ตราด ที่รู้มามีแค่นี้ พอมาเห็นรูปน้ำตกแห่งนี้ ผมจึงควานหาว่าอยู่ที่ไหน ดร.นณณ์ เองก็จำทางไม่แม่น รู้แต่ว่าอยู่วิเชียรบุรีแน่ๆ ผมตามหาในอินเตอร์เน็ตก็ไม่พบข้อมูลใดๆ เคยไปตามหาที่วิเชียรบุรีเองก็ไม่มีคนรู้จัก จนกระทั่งได้รู้จักท่านนายอำเภอวิเชียรบุรี สุเมธ ธีรนิติ ที่ท่านก็เพิ่งย้ายมาไม่ถึงปี ท่านรับปากว่าจะถามผู้ใหญ่บ้าน กำนันในพื้นที่ให้ พอท่านส่งข่าวมาว่าได้ชื่อมาแล้ว ชื่อน้ำตกซับพลู บ.ซับเจริญ ต.ยางสาว อ.วิเชียรบุรี 20 สิงหาคม 2558 นั่นแหละครับกำหนดการตามหาของผมจึงเกิดขึ้น


ทำไมผมจึงอยากไปดูนักหนา ชนิดเกาะไม่ปล่อย ตามหากันถึง 2 ปี เพราะว่าเรื่องเสาหินหกเหลี่ยมนี้ ที่ไอซ์แลนด์เหนือ จะมีย่านเสาหินริมทะเลชื่อ Giant’s Causeway เขาก็ผูกเรื่องว่าเป็นทางเดินของยักษ์ อันนี้อยู่ริมทะเล เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมาก แต่ที่เป็นน้ำตกด้วยเป็นเสาหินเหลี่ยมด้วย ชื่อ Litlanesfoss หรือที่โอเรกอน อเมริกานั่นก็เป็นน้ำตกเสาหิน หรือที่ตุรกีอันนั้นเป็นทั้งหน้าผาเลย(อยากเห็นภาพลองเสิร์ชหาในกูเกิลดูได้) แต่ในบ้านเราจะเป็นเสาหินล้วนๆ อยู่เป็นเนินเขาอย่างที่ม่อนเสาหินหรืออยู่ชายเขาอย่างที่แสนตุ่ม แต่พอเห็นที่นี่ที่เป็นทั้งน้ำตกด้วยเสาหินด้วยมีหรือที่ผมจะรอช้า วันเดินทางผมจึงชักชวนท่าน ผอ.นิวัติ บุญนพ จากกรมทรัพยากรธรณี มาให้ข้อมูลและออกสำรวจด้วยกัน ซึ่งท่านรองอธิบดี ดร. ทศพร นุชอนงค์ ก็ใจดีให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกรมมาทำข้อมูลด้วย จึงเป็นการเดินทางที่ครบเครื่องมาก


นายอำเภอพาแล่นซอกแซกเข้าไปตามทางในไร่ข้าวโพด บางช่วงเป็นทางฝุ่นตลบจนไปหยุดอยู่กลุ่มบ้านคน 2-3 หลังกลางไร่ หลังจากนั้นจึงเดินเท้าไปลงหุบห้วย รวมระยะทางราว 150 เมตร ก็ไปถึงลำห้วยเล็ง มองเห็นน้ำตกชั้นเล็กๆ ที่หน้าน้ำตกเป็นหินเสาหินหกเหลี่ยมเกาะตัวกันเป็นแผ่นอย่างชัดเจน บนหน้าผาภูเขาข้างน้ำตกก็เห็นกลุ่มเสาหินโผล่เรียงตัวเอียงไปทางตะวันตก ผอ.นิวิติ ท่านบอกว่านักธรณีเฉยๆ กับเสาหินแบบนี้ แต่ที่นี่มีความโดดเด่นตรงที่เป็นน้ำตกด้วยและมีเสาหินที่ชัดเจน โดดเด่น ไม่เคยมีที่ไหนในประเทศไทย(เท่าที่รู้ตอนนี้)ว่ามีน้ำตกแบบนี้ในบ้านเรามาก่อน


ผอ.นิวัติยังช่วยอธิบายต่อว่า เสาหินเกิดจากหินอัคนีถูกความร้อนจนเป็นหินหนืดแล้วพ่นออกมาบนผิวโลกเรียกหินพวกนี้ว่าหินภูเขาไฟหรือบะซอลต์ (ซึ่งถ้าเห็นบะซอลต์เป็นรูพรุนก็แสดงว่าเป็นหินชั้นบนๆ ถ้าเป็นบะซอลต์ตันๆ ก็เป็นบะซอลต์ชั้นล่างๆ) ทีนี้พอขึ้นมาบนผิวโลกก็เกิดการหดตัวหรือเย็นตัวจากด้านบนลงไปด้านล่าง หินที่หนืดอยู่แล้วก็จะหดตัวจนแยกออกจากกัน คล้ายๆ กับดินที่แตกระแหงในท้องนา ซึ่งแรกที่หดตัวนั้น หินจะตั้งฉากกับผิวโลก แบบที่ Giant’s Couseway หรือที่ อำเภอบ่อพลอยหรือภูพระอังคาร


ต่อมาแผ่นดินเกิดการเคลื่อน-ดัน-อัด-เฉือนกัน จนบริเวณที่เป็นเสาหินนั้นเอียงตัวบ้าง บางแห่งที่เป็นเสาหินอยู่ก่อน แอคชั่นของแผ่นดินทำให้กลายเป็นภูเขา ภูเขาบางแห่งจึงมีเสาหินอยู่บนยอดทั้งภูเขา (ที่เขาแหลม บ.ซับกะโซ่ อ.วิเชียรบรี) ที่น้ำตกซับพลูนี้ก็เป็นภูเขาเสาหิน เพียงแต่ตรงที่เป็นน้ำตกนั้น ถูกลำห้วยเล็งไหลผ่าน จึงเกิดเป็นชั้นน้ำตกเสาหินที่สวยงามและไม่เหมือนใครในไทยอย่างที่บอก ซึ่งชื่อน้ำตกซับพลูเรียกกันตามชื่อกลุ่มบ้านซับพลู แต่ผมอยากเรียกน้ำตกเสาหิน จะได้บ่งบอกรูปลักษณ์ให้ชัดเจนไปเลย


นายอำเภอสุเมธและท่านนายกสมจิตร ชูศรีโฉม นายก อบต.ยางสาว ยังพาไปดูเขาปราสาท ในเขตบ้านวังวัดอีกที่หนึ่ง ที่นี่เป็นภูเขาเล็กๆ สูงไม่มาก ชาวบ้านทำไร่ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลังล้อมรอบ ทั้งๆ ที่บนพื้นนั้นเต็มไปด้วยหินบะซอลต์เกลื่อนไปหมดหาพื้นดินเพียวๆ ยากมาก เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าแผ่นดินวิเชียรบุรีในอดีตคงเป็นเขตภูเขาไฟจึงอุดมไปด้วยหินลาวาภูเขาไฟแทบทั้งอำเภอ


เขาปราสาทนี้เมื่อเดินขึ้นเขาไปราว 100 เมตร จะเห็นหน้าผาที่เป็นแท่งเสาหินอัดแน่นอยู่เต็มทั้งหน้าผา เอียงตัวแทบจะราบไปกับพื้น เสาส่วนใหญ่จะแยกออกจากกันเพียงแต่ยังไม่หล่นลงมาเป็นแท่งๆ เท่านั้น นอกจากนั้น ท่านนายกฯ สมจิตร ยังให้ข้อมูลว่า ในเขต อบต.ยางสาวนี้ยังมีภูเขาที่เป็นเสาหินอีกหลายแห่ง เช่น เขากะเทียน บ.วังวัด, เขานางจันทร์, เขาแหลม บ.ซับกะโซ่ ที่ต่างตำบลก็เขาน้อย ต.ท่าโรง หรือที่อุทยานเสาหิน บ.ดอนสวรรค์ ต.โคกปรง กลายเป็นว่าทั้งอำเภอวิเชียรบุรีมีภูเขาที่เป็นเสาหินอยู่ในพื้นที่มากมาย


ผอ.นิวัติให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เสาหินย่านนี้ทั้งหมดเป็นบะซอลต์ลาวาที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ เป็นลาวาที่ไหลมาทับหินทะเลโบราณ อายุราวๆ 250-299 ล้านปี เรียกยุคเพอร์เมียน เป็นหินภูเขาไฟยุคไฮโลซีน ที่เกิดจากแผ่นโลกอินเดียชนกับแผ่นยูเรเซีย การเรียงตัวในแต่ละภูเขาเป็นข้อแตกต่างเฉพาะการเรียงตัว แต่การเกิด อายุอานามเหมือนกัน รวมทั้งการที่ภูเขากลายเป็นภูเขาเสาหินที่ทีมีดินบางๆ คลุมอยู่ก็เช่นกัน พอฝนหรือน้ำชะดินออกจึงเห็นเป็นเสาหินดังกล่าว


นอกจากนั้นในวิเชียรบุรียังพบเจอฟอสซิลปะการัง ฟอสซิลหอย บ่อน้ำพุร้อน รวมทั้งมีแหล่งน้ำมันที่ขุดสูบมาได้ 2 ปีแล้ว ทั้งมีหินมีค่าต่างๆ มากมายในพื้นที่ ซึ่งมีคุณค่าทางการศึกษาทางธรณีอย่างมาก ถ้าดูโดยศักยภาพพื้นที่สามารถทำเป็นอุทยานธรณีที่กรมทรัพยากรธรณีพยามยามสร้างขึ้นมาได้สบายๆ อีกทั้งผมว่าสามารถทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวแนวศึกษาทางธรณีสนใจกันมาก ในบางประเทศอย่างจีน มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีหลายแห่งที่มีชื่อเสียง แต่ในบ้านเราจะหาพื้นที่ที่มีศักยภาพแบบนี้ไม่ค่อยมี


เมื่อวิเชียรบุรีมีของดีในตัวอยู่แล้ว ทำอย่างไรจึงจะประชาสัมพันธ์ มีระบบจัดการที่ดี ให้ความรู้ให้เห็นถึงคุณค่าของพื้นที่มากกว่าที่เป็นแหล่งกินเหล้าของวัยรุ่นในพื้นที่เท่านั้น สมควรที่ทั้งจังหวัดเพชรบูรณ์- ททท- และกรมทรัพยากรธรณีควรจะปรึกษาและร่วมมือกัน ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่วิเศษมาก (ดูรายระเอียดการเดินทางได้ที่ facebook.com/tawanyimchangweb)


วิเชียรบุรี ไม่ได้ดีแค่ไก่ แต่กลายเป็นว่าเขามีของดี ทั้งอำเภอ สำหรับวิเชียรบุรี บอกได้คำเดียวว่ามหัศจรรย์จริงๆ