ฟื้นตัวเหนือ 1,380

ฟื้นตัวเหนือ 1,380

สรุปสภาวะตลาดสหรัฐ และยุโรป (27 ส.ค. – 2 ก.ย. 2558)

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐฯและยุโรปปรับตัวขึ้น โดย DJIA +0.4%, DAX +0.5%, CAC ฝรั่งเศส +1.2% และ FTSE +1.7% แม้ว่าจะปรับตัวลงแรงช่วงต้นสัปดาห์เมื่อ PMI ภาคการผลิตของจีน เดือน ส.ค.ลดลงเหลือ 49.7 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่ 50 จุดปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 50 จุดและทำระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี ทำให้เกิดความกังวลต่อเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ตามฟื้นตัวได้หลังรายงาน Beige Book ส่งสัญญาณเศรษฐกิจเติบโตปานกลางถึงดีเล็กน้อย อักทั้งการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบ ทำให้กลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้น

สรุปสภาวะตลาดหุ้นจีน (27 ส.ค. – 2 ก.ย. 2558)

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้น 8.0% ฟื้นตัวได้หลังจากที่ปรับตัวลงแรงในสัปดาห์ก่อนจากแรงเก็งกำไรต่อการเข้าซื้อหุ้นเพื่อประคองตลาดของรัฐบาลจีนก่อนเข้าสู่วันหยุดในวันที่ 3-4 ก.ย. อย่างไรก็ตามลดช่วงบวกลงเมื่อดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือน ส.ค.ทำระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีอยู่ที่ 49.7 จุดนักลงทุนกังวลต่อเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงเติบโตได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ทางการตั้งไว้ รวมถึงความกังวลต่อการเข้าซื้อหุ้นเพื่อพยุงตลาดของทางการอาจไม่ประสบความสำเร็จ

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 ส.ค. – 2 ก.ย. 2558)

SET INDEX ปรับตัวขึ้นเด่นด้วยมุมมองเชิงบวกต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทีมเศรษฐกิจ ส่งผลให้กลุ่มวัสดุก่อสร้าง นำโดย SCC และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง รวมถึงกลุ่ม Domestic Play ผลักดัน SET INDEX ปิดที่ระดับ 1,372.45 จุด เพิ่มขึ้น 52.37 จุด หรือ +3.97% ณ วันที่ 2 ก.ย.

สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้า (4 – 10 ก.ย.2558)

MBKET คงน้ำหนักการลงทุนเป็น “กลาง” ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 22 พร้อมประเมินกรอบแกว่งระหว่าง 1,350-1,390 จุด ทั้งนี้หากตลาดต่างประเทศเกิดความผันผวนก่อนการประชุมเฟดที่จะสิ้นสุดลงในคืนวันที่ 17 ก.ย. (ตามเวลาประเทศไทย) SET INDEX สามารถอ่อนตัวลงสู่กรอบ 1,330-1,335 จุด เพื่อปิด Gap ที่เปิดไว้ก่อนหน้านี้ได้ แต่เชื่อว่า SET INDEX จะไม่เกิด New Low ในรอบการปรับฐานครั้งนี้ เพราะปัจจัยพื้นฐานด้านการลงทุนในตลาดหุ้นไทย อยู่ในจุดที่นักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ Wait&See มากขึ้น เพราะ

• Valuation ของตลาดหุ้นไทย ณ ปัจจุบัน ทั้งในแง่ของ PER และ P/BV อยู่ในระดับต่ำกว่า -1SD ของค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปี

• ต่างชาติ ขายสุทธิตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน เกือบ 3.20 แสนล้านบาท สูงกว่าปีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯ 2551 ที่ขายสุทธิ 1.6 แสนล้านบาท น่าจะสะท้อนถึงความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจไทยไปมากแล้วเช่นกัน

• การปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ ของรัฐบาล ภายใต้การนำทีม ดร. สมคิด รองนายกรัฐมนตรี พร้อมกับการเร่งออกมาตรการระยะสั้น ด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย และคาดว่าสัปดาห์หน้า จะมีการนำเสนอมาตรการช่วยเหลือ SMEs ต่อที่ประชุมครม. วันที่ 8 ก.ย. เชื่อว่า การทำงานที่รวดเร็ว จะทำให้ภาคเอกชน และนักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น เพื่อรอดูผลของมาตรการต่างๆ ให้ออกมาเป็นรูปธรรมจากนี้ไป

อย่างไรก็ตาม ตัวแปรที่จะทำให้ตลาดเงิน ตลาดทุน และ อัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก ยังคงผันผวนในช่วงนี้ คือ การประชุมเฟด กับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในวันที่ 17 ก.ย. ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ จีน ที่เสี่ยงต่อการเติบโตต่ำกว่าที่ประเมินไว้ในช่วง 1H58 แต่เราเชื่อว่า ประเด็นเหล่านี้ จะสร้างความผันผวนในรอบใหม่ได้น้อยกว่า ครั้งก่อนในวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา

ดังนั้น ในเชิงกลยุทธ์การลงทุน เราแนะนำ “นักลงทุน trading ในกรอบ 1,350-1,390/1,400 จุด” เน้นหุ้นที่เกาะไปกับกระแสของนโยบายการเรียกความเชื่อมั่นทางการเศรษฐกิจของทีมเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นกลุ่ม domestic play เป็นสำคัญ

ปัจจัยสำคัญอื่นๆ ในสัปดาห์หน้า ได้แก่

1. ติดตามการเสนอมาตรการช่วยเหลือ SMEs ต่อที่ประชุม ครม. วันที่ 8 ก.ย.

2. ติดตามการประชุม BoE วันที่ 10 ก.ย.

3. ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ GDP ใน 2Q58 ของอียู / ผลผลิตภาคอุตฯ ของอังกฤษ / ภาวะการจ้างงาน ของสหรัฐฯ / ดัชนี PMI ภาคการผลิต-บริการ ของจีน, อัตราเงินเฟ้อ และ ผลผลิตภาคอุตฯ ของญี่ปุ่น