กกต.ชี้โหวตประชามติใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ

กกต.ชี้โหวตประชามติใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ

"สมชัย"ชี้ผลโหวตประชามติทั่วโลกใช้เกณฑ์เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ เหน็บไม่มีประเทศไหนใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่มีการออกมาตั้งข้อสังเกตเรื่องจำนวนเสียงที่จะผ่านประชามติ ว่า 1.ตามหลักสากลการออกเสียงประชามติของประเทศต่างๆจะใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติ ไม่มีประเทศใดใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงเลย 2.ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 มาตรา 9 ได้มีการกำหนดไว้ 2 กรณี

โดยกรณีแรกคือการทำประชามติเพื่อหาข้อยุติ กำหนดว่า ต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง ส่วนกรณีที่สองเป็นการทำประชามติเพื่อให้คำปรึกษาหารือไม่มีผลผูกพันใดๆหลังจากมีผลประชามติแล้วฝ่ายที่รับผิดชอบเรื่องนั้นจะทำเหมือนหรือต่างก็ได้ กำหนดว่า ต้องใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง ซึ่งจะเห็นว่ามีความแตกต่างจากหลักสากลเพราะมีความเข้มงวดมากกว่าโดยเฉพาะกรณีแรก 

นายสมชัย กล่าวต่อว่า 3.เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 แก้ไขเพิ่มเติม มีประเด็นที่ชี้ให้เห็นว่ามีความเชื่อมโยงกันคือให้มีการทำประชามติด้วยการออกประกาศกกต.โดยผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกำหนดให้นำเฉพาะบทลงโทษของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 มาใช้บังคับเท่านั้น ดังนั้น องค์ประกอบส่วนอื่นๆ ต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 แก้ไขเพิ่มเติม หรือระบุไว้ในประกาศกกต. 

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นที่กำลังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ในขณะนี้ว่าจะใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงหรือผู้มาออกเสียงนั้น ตนมองว่ากรณีสามารถแยกออกเป็นสองประเด็นย่อยคือ1.คำถามหลักว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใช้เกณฑ์ใดตัดสิน และ2.คำถามพ่วงที่เพิ่มเติมมานั้นใช้เกณฑ์ใดตัดสิน โดยรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 37/1 เขียนไว้ชัดเจนว่าคำถามพ่วงนั้นใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติ

แต่กรณีของคำถามหลักมีประโยคในรัฐธรรมนูญที่แปลความหมายสับสน คือ มาตรา 37 วรรคเจ็ด ที่ระบุว่า ในการออกเสียงประชามติ ผู้มีสิทธิออกเสียงต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งสุดท้ายก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และภายใต้บังคับมาตรา 37/1 ซึ่งประโยคที่ระบุว่า“และภายใต้บังคับมาตรา 37/1 ”นั้น ฝ่ายที่ตีความหมายว่าใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงก็จะบอกว่าใช้แค่เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงก็ได้เพราะมีมาตรา 37/1 บังคับอยู่ 

นายสมชัย กล่าวต่ออีกว่า ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าผลประชามติครั้งนี้ต้องใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงโดยอ้างประโยคที่ระบุว่า“ ถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ” ดังนั้น ประเด็นนี้จึงยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งกกต.เห็นว่าประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นที่กกต.จะต้องมาตอบคำถามกับสังคม เนื่องจากหน้าที่ของกกต.คือการจัดให้มีการออกเสียงประชามติให้ครบถ้วนสมบูรณ์

รวมทั้งให้ทุกฝ่ายสามารถแสดงความเห็นได้เท่าเทียมกัน และเมื่อได้ผลประชามติแล้ว กกต.ก็จะนำผลตัวเลขของการทำประชามติรายงานให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบ จากนั้นหน้าที่ของนายกฯคือต้องพิจารณาว่าเมื่อตัวเลขออกมาแบบนี้ผลประชามติจะเป็นการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ชี้หลักเกณฑ์คำนวนผลประชามติไม่ชัด หวั่นเกิดปัญหาขณะทูลเกล้าฯ 

แหล่งข่าวกกต.ให้ความเห็นว่ากรณีความไม่ชัดเจนเรื่องเกณฑ์การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะเกิดเป็นปัญหาเมื่อมีการลงประชามติเสร็จสิ้นแล้ว และถ้าผลการออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง คือร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ นายกรัฐมนตรีกำลังจะทูลเกล้าเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย อาจมีผู้ไปฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นผุ้มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องนี้ว่า นายกกระทำการโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา37 ที่ระบุว่าถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 30 วันนับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ หรือไม่ 

แหล่งข่าว ระบุต่อว่า สมมติผลการออกเสียงประชามติออกมาว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงมีทั้งสิ้น 50ล้านคน มีผู้มาออกเสียง 40ล้านคน มีเสียงเห็นชอบให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน 21ล้านเสียง นายกฯกำลังจะทูลเกล้า คนก็จะร้องว่าทำขัดรัฐธรรมนูญหรือเปล่าเพราะม.37กำหนดต้องผู้มีสิทธิออกเสียงโดยเสียงข้างมาก...นายกฯถึงจะทูลเกล้าได้ ฉะนั้นจะทูลเกล้าได้ต้องมีเสียงเห็นชอบให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ 25ล้านเสียงขึ้นไป ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องเป็นผู้วินิจฉัย ถ้าศาลวินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญให้ใช้เสียงข้างมากผู้มาออกเสียง นายกก็นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้า แต่ถ้าวินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาก็ต้องตกไป และไปเริ่มกระบวนการยกร่างใหม่โดยกรรมาธิการยกร่าง21คนที่จะมีการแต่งตั้งขึ้นใหม่ด้วย