เตือนระวังหลุมพราง 4 จี หลัง'แคท-ทีโอที'ขอเอี่ยว

เตือนระวังหลุมพราง 4 จี หลัง'แคท-ทีโอที'ขอเอี่ยว

วงการสื่อฯเตือนรัฐระวังหลุมพราง"แคท-ทีโอที"ผนึกกำลังลุ้นรัฐขอใช้คลื่นความถี่900-1800 เมกกะเฮิร์ตส์ อ้างดูแลผู้ใช้บริการ หวั่นรัฐเสียค่าโง่

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ว่าหลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ได้เปิดให้บริษัทสื่อสารเข้ารับซองข้อเสนอประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกกะเฮิร์ตส์ ที่กสทช.จะเปิดประมูลในต้นเดือนพ.ย.นี้ โดยมีบริษัทสื่อสารเอกชนรายใหญ่ของไทย 5 ราย ประเดิมเข้าซื้อซองข้อเสนอไปแล้วนั้น

แม้กรณีดังกล่าวจะเป็นการส่งสัญญาณการประมูลคลื่นความถี่เพื่อออกใบอนุญาต 4 จีจะเดินหน้าเต็มตัวและถือเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เดินมาถูกทางของรัฐบาล เนื่องจากจะทำให้รัฐบาลมีเม็ดเงินจากค่าธรรมเนียมการประมูลไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาทขึ้นไป

ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีอยู่เวลานี้จะมีพลังขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทย"สตาร์ทอัพ"ขึ้นมาได้หรือไม่นั้น ยังต้องลุ้นมาตรการเร่งรัดเบิกจ่ายของรัฐจะทำได้แค่ไหน โดยเฉพาะจะปลดล็อคขั้นตอนเบิกจ่ายที่กระจุกเป็นคอขวดอยู่ในมือคณะกรรมการตรวจสอบการเบิกจ่ายของรัฐ (คตร.) ได้หรือไม่แล้ว การประมูลคลื่นความถี่เพื่อออกใบอนุญาต 4 จีในมือกสทช. จึงถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากที่สุดในเวลานี้

"หากเดินไปตามโร้ดแม็พที่วางไว้ คาดว่ารัฐและกสทช.จะมีเม็ดเงินค่าธรรมเนียมประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz 2ใบอนุญาตแรกกว่า 40,000 ล้านบาท เมื่อทุกค่ายต่างก็ตีปี๊บโดดเข้าร่วมวงไพบูลย์การประมูลครั้งนี้กันอย่างคึกคัก ยังไม่รวมเม็ดเงินการลงทุนเครือข่ายอุปกรณ์ระบบ 4 จี ที่จะตามมาอีกนับหมื่นล้านในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า"

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงสร้างความกังวลให้กับวงการสื่อสารในขณะนี้ก็คือความพยายามของผู้บริหารและบอร์ดรัฐวิสาหกิจด้านสื่อสารของรัฐทั้งบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัทกสทโทรคมนาคมจำกัด (มหาชน) หรือ"แคท" ที่ยังคงต้องการให้รัฐบาลและกระทรวงไอซีที จัดสรรคลื่นความถี่ 900 และ 1800 MHzให้แก่หน่วยงานของรัฐทั้งสองแห่งเป็นการเฉพาะด้วยข้ออ้างไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้เพราะข้อจำกัดในเรื่องของการถือหุ้นภาครัฐและอ้างว่าหากไม่ได้รับการตัดสรรคลื่นความถี่ ตามที่ขอจะทำให้กิจการสื่อสารของรัฐเสียหายและสูญเสียประโยชน์นับแสนล้านบาท

โดยในสวนของ"แคท"นั้นต้องการขอใช้คลื่นความถี่1800 MHz จำนวน 20 เมกกะเฮิร์ต์ที่ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของบริษัทดีแทค และยังไม่มีการนำออกมาใช้อยู่ 20 เมกกะเฮิร์ตส์ โดยแคทต้องการขอใช้คลื่นดังกล่าวไปจนสิ้นสุดระยะเวลาถือครองคลื่นในปี 2568 ขณะที่ทีโอทีก็ยืนยันการจะขอใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตส์ หลังสัญญาสัมปทานมือถือระหว่างทีโอทีกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด(มหาชน)หรือเอไอเอสสิ้นสุดลงในวันที่ 30 ก.ย.นี้ เพื่อแลกกับการคืนคลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz เมกะเฮิตรซ์ที่ปัจจุบันทีโอทีถือครองอยู่ 64 เมกกะเฮิร์ตสเพื่อให้กสทช.นำไปเปิดประมูลแทน

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ก่อนหน้านั้นแคทที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ 3 จี ไปก็นำเอาคลื่นที่ได้รับจัดสรรไปให้บริษัทสื่อสารเอกชนเพื่อให้บริการ 3 จี ผ่านสัญญาทำการตลาดมือถือรูปแบบใหม่ที่จนถึงขณะนี้ก็ยังเคลียร์หน้าเสื่อกันไม่เสร็จและยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าสร้างประโยชน์ให้กับแคทหรือไม่ เช่นเดียวกับทีโอทีที่แม้จะได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ 2100 MHz เพื่อให้บริการ 3 จีมาก่อนใคร แต่ก็กลับไม่สามารถจะนำไปหาประโยชน์ใดๆได้ เงินลงทุนกว่า 15,000 ล้าน ที่รัฐให้ไปนั้นวันนี้แทบจะหายสาบสูญเข้ากลีบเมฆไปแล้ว

"กลายเป็นว่านอกจากรัฐจะไม่ได้เม็ดเงินค่าต๋งผลประโยชน์ใดๆจากคลื่นความถี่ที่ให้แก่หน่วยงานรัฐเหล่านี้ไปแล้ว ยังต้องควักเงินลงทุนให้อีกไม่รู้กี่หมื่นล้าน โดยที่ยังไม่รู้จะมีโอกาสได้คืนทุนหรือไม่ แล้วยังจะมีหน้ามาขอคลื่นความถี่ใหม่ไปถลุงเล่นกันอีกหรือ คงต้องฝากเตือนไปยังดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจและรมว.ไอซีทีคนใหม่ ดร.อุตตม สาวนายน ให้ระวังหลุมพรางที่กลุ่มทุนสื่อสารกำลังขุดบ่อล่อปลานี้เอาไว้ให้ดี"แหล่งข่าว กล่าว