ฝึกซ้อมช่วยเหลืออากาศยาน-เรือที่ประสบภัย'SAREX 2015'

 ฝึกซ้อมช่วยเหลืออากาศยาน-เรือที่ประสบภัย'SAREX 2015'

ทัพเรือภาคที่ 3 ร่วมกรมการบินพลเรือนและจังหวัดภูเก็ต ฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย “SAREX 2015”

ที่บริเวณท่าเทียบเรือน้ำลึก อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายพงษ์ไชย เกษมทวีศักดิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย ประจำปี 2558(SAREX2015 )ภายใต้สโลแกน“เราฝึกเพื่อความพร้อม เราซ้อมเพื่อช่วยชีวิต”ซึ่งกองทัพเรือ มอบหมายให้ทัพเรือภาคที่ 3 ร่วมกับกรมการบินพลเรือน และจังหวัดภูเก็ตจัดขึ้น โดยมีนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พล.ร.ต.วันชัย ท้วมเสม รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 พล.ร.ต.สมชาย ณ บางช้าง เสนาธิการทัพเรือภาคที่ 3 ประธานอนุกรรมการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย ประจำปี 2558 คณะกรรมการแห่งชาติในการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย หน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ/ชมรมที่เกี่ยวข้องในการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติ สื่อมวลชนและประชาชนเข้าร่วมชมการสาธิตการฝึกซ้อมเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ได้มีสาธิตการช่วยเหลืออากาศยานที่ประสบเหตุ โดยสมมติสถานการณ์ว่า ศูนย์ประสานงานฯ กรมการบินพลเรือน ได้รับแจ้งจากหอบังคับการบินภูเก็ตว่าเครื่องบินโดยสารเช่าเหมาลำ แบบDASH8 สีขาว 2 เครื่องยนต์ของสายการบินOscar Airเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-ภูเก็ต สัญชาติและทะเบียนHY-FMWมีนักบิน 2 คน ผู้โดยสาร 23 คน เดินทางจากท่าอากาศยานกัวลาลัมเปอร์ ปลายทางท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. ขณะบินอยู่เหนือบริเวณด้านใต้เกาะภูเก็ต ประมาณ 50 ไมล์ ที่ความสูง 10,000 ฟิต นักบินได้ติดต่อหอบังคับการบินภูเก็ต แจ้งว่าเครื่องยนต์ขัดข้อง ขอทำการลงฉุกเฉิน 

ต่อจากนั้น เครื่องบินก็ขาดการติดต่อสื่อสาร คาดว่าเครื่องบินดังกล่าวอาจทำการลงฉุกเฉินด้วยเหตุสุดวิสัย หรือประสบอุบัติเหตุ จึงได้ประสานไปยังกองทัพเรือในฐานะศูนย์อำนวยการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือประสบภัย ทำหน้าที่ในการค้นหาและช่วยเหลือ โดยสั่งการให้ทัพเรือภาคที่ 3 ในฐานะศูนย์ควบคุมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัยด้านทะเลอันดามัน ดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทำการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่และนำส่งโรงพยาบาลต่อไป

พล.ร.ต.สมชาย ณ บางช้าง เสนาธิการทัพเรือภาคที่ 3 กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการแห่งชาติในการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย ได้มอบหมายให้กองทัพเรือเป็นแกนกลางในการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานที่ประสบภัย ประจำปี2558ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมครั้งที่ 35 นั้น กองทัพเรือโดยทัพเรือภาคที่ 3 กรมการบินพลเรือน ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต ได้เชิญส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งเป็นคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัยประจำปี 2558 ขึ้น เพื่อทดสอบความพร้อมการปฏิบัติงานของหน่วยงานใดในระบบค้นหาและช่วยเหลือ ทบทวนการปฏิบัติตามแผนในการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย ตลอดจนทดสอบประสิทธิภาพของเครือข่ายการสื่อสารในระบบการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย

นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ทันสมัยของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ที่ใช้ในการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้คาดว่าจะเป็นประโยชน์ในการแก้ไข ปรับปรุงให้แผนการปฏิบัติมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ประชาชนมีความรู้และความเข้าใจ ในการช่วยเหลือของศูนย์ประสานงานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งทำให้หน่วยงานและสายการบินต่างๆ ตลอดจนชาวต่างประเทศเกิดความมั่นใจในการช่วยเหลือของศูนย์ประสานงานในการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัยด้วย

ขณะที่ นายพงษ์ไชย เกษมทวีศักดิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า จากการที่คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติในการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย ตั้งแต่ปี2521เป็นต้นมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบ ตามพันธกรณีของรัฐบาลในการปฏิบัติตาม อนุสัญญา ว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยของชีวิตทางทะเล ซึ่งอุบัติภัยอาจเกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย โดยรัฐบาลมีภาระผูกพันเกี่ยวกับการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัยจากพันธะกรณีดังกล่าว ดังนั้นจึงได้มีการจัดการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี2523จนถึงการฝึกซ้อมในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่35

“การฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัยนั้น เพื่อฝึกฝนเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ ศูนย์ประสานงานการค้นหาและช่วยเหลือของกรมการบินพลเรือน หน่วยค้นหาและช่วยเหลือ และหน่วยระวังภัยของกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีประสบการณ์และความชำนาญในการปฏิบัติ รวมทั้งการประสานงานที่มีประสิทธิภาพในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะเป็นผลให้องค์กรระหว่างประเทศที่มีพันธกรณีตามอนุสัญญาฯ มีความเชื่อมั่นในการปฏิบัติของประเทศไทยในภาพรวม”

นายพงษ์ไชย์ กล่าวด้วยว่า การฝึกซ้อมในครั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญกับวิธีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว การประสานงานที่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณชน นับได้ว่าสอดคล้องตามวัตถุประสงค์ และแนวนโยบายที่วางไว้ ดังนั้นจึงขอให้หน่วยงานที่เข้าร่วมการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย ได้ปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผล เก็บเกี่ยวประสบการณ์และค้นหาจุดบกพร่อง เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขสำหรับการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัยในครั้งต่อไป รวมทั้งสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นจริงด้วย