'ไพบูลย์'ยันเดินหน้าโหวตร่างรธน.

'ไพบูลย์'ยันเดินหน้าโหวตร่างรธน.

“ไพบูลย์” ยันเดินหน้าโหวตร่างรธน. ชี้เป็นเอกสิทธิที่รธน.-ข้อบังคับการประชุมรับรอง แนะสปช.กลุ่มคว่ำร่างเล่นตรงไปตรงมา

นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงประเด็นที่มีสปช.กลุ่มการเมืองเรียกร้องให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีตำแหน่งเป็นสปช. จำนวน 21 คน งดลงมติต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และล่าสุดมีสปช.ขู่ว่าจะยื่นฟ้องต่อศาลหาก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน21 คนนั้นลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 6 ก.ย. ว่า ประเด็นดังกล่าวตนเข้าใจว่าเป็นส่วนที่เชื่อมโยงกับกรณีที่สปช.บางกลุ่มต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำในชั้นของสปช. จึงพยายามนำเสนอประเด็นเพื่อตัดคะแนนส่วนของการให้ความเห็นชอบออกไป ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่ไม่ตรงไปตรงมา ดังนั้นหากจะมีผู้ใดยกประเด็นไปฟ้องร้องต่อศาล ตนจะขอใช้สิทธิของตนในการยื่นฟ้องกลับด้วย ฐานขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกฯ เนื่องจากการออกเสียงลงคะแนนของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีตำแหน่งเป็นสปช.นั้น ถือเป็นเอกสิทธิที่ถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ, ข้อบังคับการประชุม สปช. และตามประเพณีปฏิบัติที่มีมากกว่า 30 ปี ดังนั้นผู้ใดจะชี้นำหรือสั่งการใดๆ ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามตนยืนยันจะใช้สิทธิออกเสียงเพื่อให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 6 ก.ย. นี้

“กรณีที่เกิดขึ้น ผมมีข้อสังเกตว่า หากไม่ให้ผู้ที่คาดว่าจะเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญลงมติ ก็อาจมีคนนำประเด็นเสนอให้ผู้ที่แจ้งความประสงค์จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญห้ามลงมติเช่นกัน ซึ่งหากเป็นจริงก็จะเกิดความวุ่นวายไม่รู้จบ ดังนั้นสิ่งที่สปช.บางกลุ่มพยายามยกมาเป็นประเด็นเป็นสิ่งที่สามารถโต้เถียงได้ไม่รู้จบ ส่วนตัวผมมองว่าควรปล่อยให้การทำหน้าที่เป็นไปตามกฎหมาย และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องจะดีกว่า ส่วนกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญคนใดจะออกเสียงอย่างไรปล่อยให้เป็นเอกสิทธิของผู้นั้นจะดีกว่า” นายไพบูลย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงายด้วยว่า ในประเด็นที่สปช.บางกลุ่มยกมาเป็นประเด็นนั้น การประชุมกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ได้ยกมาเป็นข้อหารืออย่างไม่เป็นทางการสั้นๆ โดยมีข้อสรุปคือปล่อยให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ฐานะสปช. ใช้เอกสิทธิในการออกเสียงต่อร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างอิสระ ส่วนการประเมินถึงผลการออกเสียงต่อร่างรัฐธรรมกับท่าทีของรัฐบาลนั้น ยังไม่มีสัญญาณของการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในชั้นของสปช. ออกมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีเพียงสัญญาณสนับสนุนให้เดินหน้าต่อไปเท่านั้น