ขยะล้ำค่า สินค้ามือสอง

ขยะล้ำค่า สินค้ามือสอง

คำว่า “ขยะ” หมายถึงสิ่งของที่คนทิ้งขว้างเพราะไม่เป็นที่ต้องการ ทว่าขยะจากแดนอาทิตย์อุทัยกลับข้ามแดนมาสร้างรายได้ กลายเป็นขุมทรัพย์ทำเงิน

วันนี้จุดประกายจะพาไปรู้จักขยะล้ำค่าสินค้ามือสองจากประเทศญี่ปุ่น

เคยปฏิเสธว่าจะไม่ใช้ของที่เคยผ่านมือใครก็ไม่รู้จักมาก่อน ไม่ซื้อเสื้อผ้ามือสอง รองเท้ามือสอง จักรยานมือสอง จนกระทั่งมีโอกาสไปเดินดูของในร้านสินค้ามือสองจากประเทศญี่ปุ่น เริ่มมองเห็นเข็มกลัดเล็กๆ รูปหัวใจดีไซน์เก๋ ยังใหม่ราวกับไม่เคยใช้งานมาก่อน แถมราคาถูกมาก บางร้านมีสินค้าน่าสนใจเช่น รองเท้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องครัว ของแต่งบ้าน เรียกได้ว่าข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันครบครัน ที่สำคัญสิ่งของเหล่านั้นยังอยู่ในสภาพดีจนไม่น่าเชื่อว่ามันจะเป็นของใช้ที่เจ้าของทิ้งแล้ว ของบางอย่างอยู่ในกล่องแพ็คอย่างดีไม่ต่างจากนของใหม่ที่ไม่เคยถูกใช้งาน ทำให้ค่านิยมสำหรับสินค้ามือสองเปลี่ยนไป กลายเป็นลูกค้าร้านมือสองญี่ปุ่นนับแต่นั้น

ทัศนะต่อสินค้ามือสองจากแดนปลาดิบ

หลายเหตุผลของคนที่ชอบร้านญี่ปุ่นมือสอง บางคนชอบเดินดูถ้วยชามสวยๆ ตามรสนิยมของตัวเอง ตุ๊กตาจากดิสนีย์แลนด์ที่ยังใหม่ป้ายต่างๆ ยังอยู่ครบ เพราะสินค้ามีให้เลือกตั้งแต่ของใช้เล็กๆ น้อยๆ เครื่องประดับ ของแต่งบ้าน ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ บางคนซื้อไปใช้เอง บ้างก็ซื้อไปขายต่อในรูปแบบต่างๆ 

เอกลักษณ์ เชิดชู พีอาร์หนุ่มจากบริษัทมนตรีพีอาร์เล่าว่า เขาเป็นคนที่สนใจของแนววินเทจเป็นการส่วนตัว และเชื่อว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนที่รักษาของ และรู้คุณค่าของสินค้าที่ตัวเองซื้อ พอไปชอปปิงที่ร้านมือสองแล้วได้ของที่ถูกใจมาก็จะภูมิใจที่ได้สินค้าชิ้นนี้ในคุณภาพที่เทียบเท่ากับของใหม่แต่ราคาย่อมเยาว่า

“ทุกครั้งที่ผมไปเที่ยวญี่ปุ่นก็จะชอบเข้าร้านพวกถ้วมชามที่ทำแบบแฮนด์คราฟท์จากญี่ปุ่น เพราะมันคือความใส่ใจและเป็นเอกลักษณ์ของประเทศเขา กับร้านสินค้าไฮแบรนด์มือสอง ไม่ใช่เป็นคนยึดติดกับของมือสองแต่เป็นคนให้ความสำคัญกับ “คอลเลคชั่น” ของไฮแบรนด์ที่ออกมาก่อนเราเกิดหรือสมัยตอนที่เรายังไม่มีกำลังซื้อ จะชอบเก็บของพวกนี้ เพราะโดยส่วนตัวชอบเรื่องราวและงานดีไซน์ของดีไซนเนอร์ในคอลเลคชั่นนั้นๆ ว่าในปีนั้นที่เขาออกแบบกระเป๋ารุ่นไหนเป็นที่นิยมและส่วนมากก็สามารถพบได้ที่ญี่ปุ่น รวมถึงสภาพยังดีเยี่ยม เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่หาไม่ได้ที่ใดในโลก”

พรรณทิพา ใยศรีทอง Director บริษัท พอใจ มีเดีย จำกัด ว่าโดยส่วนตัวแล้วเธอเป็นคนที่ใช้ทั้งของใหม่และของเก่า ขึ้นอยู่กับประเภทของสิ่งของที่ใช้ ของมือสองบางประเภทมีเสน่ห์จนเราไม่อาจมองข้ามได้ อาทิเช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ ของตกแต่ง รวมไปถึงของใช้ต่างๆ หรือที่เราเรียกกันว่าเป็นของ Vintage

“ที่ชอบเป็นพิเศษคงเป็นจำพวกกระเป๋าหนังที่ผ่านระยะเวลาในการใช้งานมาแล้ว รู้สึกว่ามันมีเรื่องราว และหนังก็จะสวยขึ้นด้วยตามเวลา ที่ชอบซื้อเป็นประจำคือ กระเป๋าหนัง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศญี่ปุ่น ถึงจะเป็นของมือสองแต่ก็อยู่ในสภาพที่ดี และที่สำคัญราคาถูกกว่าของใหม่เกินครึ่ง บางครั้งถ้าจังหวะดี เราก็จะได้ของแบรนด์เนมมือสองราคาถูกมากๆ ด้วย อีกทั้งมีข้อดีในการช่วยเซฟเงินในกระเป๋าของเราอีกต่างหาก ที่สำคัญเสน่ห์ของมือสองอยู่ตรงที่ว่าของแต่ละอย่างจะมีชิ้นเดียวเท่านั้นค่ะ รับรองได้ว่าไม่ซ้ำใครอย่างแน่นอน บางชิ้นคลาสสิคมาก ถึงขนาดของใหม่ต้องทำเลียนแบบ ส่วนร้านมือสองของญี่ปุ่น ที่ซื้อเป็นประจำส่วนใหญ่จะอยู่แถวสุขุมวิท ซึ่งเป็นย่านที่คนญี่ปุ่นในเมืองไทยอยู่เยอะ ก่อนกลับประเทศบางคนก็จะนำของที่ยังอยู่ในสภาพดีอยู่เลยมาขายอีกด้วย”

วรรษวรรณ อภิวัฒนาวา นักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่หารายได้พิเศษด้วยการขายตุ๊กตาลิขสิทธิ์มือสองจากญี่ปุ่นในเฟซบุ๊คโดยมีจุดเริ่มต้นจากความชื่นชอบตุ๊กตาริลัคคุมะ เธอจึงเสิร์ชหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่าสามารถซื้อได้จากที่ไหนบ้าง แล้วก็ไปเจอเฟซบุ๊คที่ขายตุ๊กตาริลัคคุมะกัน จนกลายเป็นนักสะสมตุ๊กตาแบรนด์เนมจากประเทศญี่ปุ่น เธอจึงเกิดไอเดียว่าเลือกสินค้าจากร้านมือสองน่ารักๆ มาโพสต์ขายในเฟสบุ๊คหาค่าขนมดีกว่า

เธอว่าสินค้ามือสองจากญี่ปุ่นค่อนข้างมีคุณภาพ อาจจะเป็นเพราะความเป็นอยู่ วัฒนธรรมของคนญี่ปุ่น การดูแลรักษาของ ทำให้ถึงจะเป็นมือสองแต่คุณภาพยังคงดี เช่น ตุ๊กตา จะเสียหายน้อยมา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการขนส่งด้วย ถ้าอัดกระสอบมาแน่นเกินไปก็อาจทำให้ยับยู่ยี่บ้าง ต้องคัดเลือกให้ดี อีกอย่างเวลาที่เธอเลือกซื้อนั้นรู้สึกสนุก เพราะต้องตระเวนหาของตามแหล่งมือสองต่างๆ พอเจอของดีๆ ราคาถูกก็จะมีความสุขมากเป็นพิเศษ

“ธุรกิจนี้น่าสนใจนะคะ การขายของมือสองจากญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไรก็ตาม มีมูลค่าในตัวเสมอ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ซื้อว่าต้องการสินค้าที่แตกต่างจากในประเทศ ราคาถูก ที่สำคัญต้องไม่ถือสาเรื่องความเก่าใหม่ อย่างบางคนไม่ชอบของมือสองก็ไม่เป็นไร”

 

ที่มาของสินค้ามือสอง 

คำถามที่ติดค้างในใจว่า ทำไมสินค้าคุณภาพดีจากแดนปลาดิบจึงมีมากมายขนาดนี้ และพฤติกรรมการใช้ของของคนญี่ปุ่นเป็นอย่างไรกันแน่ สานิตย์ โรจนธรรม หุ้นส่วนร้านลุงเคนจิ(นากาโอกะ เคนจิ) ตลาดพระปิ่น 3 เล่าว่า

“สินค้าผมส่วนใหญ่มาจากนาโกย่า โยโกฮาม่า และโตเกียวนิดหน่อย คนญี่ปุ่นเวลาเขาย้ายบ้าน จะไม่ขนของไปเลย จะเอาไปเฉพาะเสื้อผ้าที่เขาชอบไม่กี่ตัว และข้าวของบางชิ้นที่เขารักจริงๆ ที่เหลือเขาก็จะทิ้งโดยว่าจ้างบริษัทขนย้าย คล้ายๆ กับจ้างซาเล้งบ้านเราแต่ของเขาเป็นรถตู้ปิดมิดชิด ของที่เก่าจริงๆ 10-20 เปอร์เซ็นต์ก็ทิ้งไป ของที่ยังสภาพดีก็จะนำไปเก็บไว้ในโกดังเก็บของ เพราะค่าขนส่งบ้านเขาแพงมากเวลาคนญี่ปุ่นย้ายบ้านก็มักจะไม่นำของต่างๆ ไปด้วย ไปซื้อใหม่ถูกกว่า สินค้าบางส่วนมาจากพวกบริษัทผลิตสินค้าต่างๆ ของญี่ปุ่นพอมีของค้างสต๊อกก็จะจ้างบริษัทขนย้ายเอาไปทิ้งเช่นกัน ทำให้บริษัทรับจ้างขนย้ายมีข้าวของกองอยู่เป็นจำนวนมาก และที่นั่นค่าเช่าโกดังแพงมาก บริษัทเหล่านี้ก็เลยหาทางขายสินค้าเหล่านี้ออกไปให้ได้เร็วที่สุด ด้วยวิธีขายเหมาในราคาถูกๆ ซึ่งลุงเคนจิหุ้นส่วนของผมก็จะไปตระเวนซื้อสินค้าเหล่านี้ แล้วใส่ตู้คอนเทนเนอร์ส่งทางเรือมาเมืองไทย”

สานิตย์เล่าต่อว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าเหล่านั้นเป็นของใหม่ อย่างเช่น เสื้อผ้า กระเป๋า ฯลฯ สินค้ามือสองจากญี่ปุ่นเริ่มเปิดตลาดแรกๆ ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ทว่ากำลังซื้อน้อย จึงคิดมาเปิดตลาดในเมืองไทยที่มีกำลังซื้อมากกว่า และสินค้าญี่ปุ่นค่อนข้างมีมาตรฐานเป็นที่นิยม

“ก่อนหน้านั้นผมทำธุรกิจนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ จากญี่ปุ่นพอมาทำธุรกิจนี้ทำให้ผมรู้ว่า คนญี่ปุ่นเป็นคนที่ใช้ของแบบทะนุถนอมมาก อย่างเฟอร์นิเจอร์ดูเหมือนใหม่มาก พอดูดีๆ จะมีร่องรอยการใช้นิดหน่อย มีตำหนิแค่ 5-10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ส่วนใหญ่เฟอร์นิเจอร์จะเป็นไม้เนื้ออ่อน เพราะประเทศเขาแผ่นดินไหวบ่อย ถ้าโต๊ะตู้ล้มมาทับคนก็จะไม่เป็นอันตรายมาก ของเขาค่อนข้างมีคุณภาพ เช่น หม้อต้มน้ำ เซรามิคทนไฟ ต้มน้ำแป๊บเดียวก็เดือดแล้ว นอกจากสวย มีดีไซน์แปลกตา ทนทาน และประหยัดพลังงาน ผมเองก็รู้สึกประทับใจในสินค้าของเขา เลือกมาไว้ใช้เองหลายอย่าง”

หุ้นส่วนร้านลุงเคนจิเล่าว่า บางครั้งมีคนญี่ปุ่นเป็นลูกค้าประจำมาเลือกซื้อของโบราณ เช่น นาฬิกาไขลานโบราณ บางคนซื้อไปเพื่อสะสม บางคนซื้อไปขายต่อได้ราคา

“คนญี่ปุ่นมาซื้อถ้วยชามโบราณของเขากลับไป เคยมีคนขายของเก่าที่ตลาดนัดรถไฟมาดูของที่ร้านผม ซื้อของเก่าไป 200 บาท เอาไปขายชิ้นละ 3,000 บาท เสียดายที่เราดูของเก่าไม่เป็น เราเองก็มีนโยบายขายของเร็วๆ กำไรน้อยๆ ไม่เป็นไร เดือนหนึ่งผมมีตู้คอนเทนเนอร์มาลง 2-3 ตู้ ของเราจะดีเพราะลุงเคนจิเขาไปหาของเองที่ญี่ปุ่นแล้วส่งมา”

 

สินค้ามือสอง ขยะญี่ปุ่นจริงหรือ

ผู้ที่ไม่เคยสัมผัสและหลงใหลการชอปปิงสินค้ามือสอง อาจมองว่าทำไมประเทศไทยต้องรับขยะจากประเทศญี่ปุ่น พ่อค้าของมือสองอย่างสานิตย์ ยอมรับว่าสิ่งที่ต้องทิ้งก็มีแต่เป็นส่วนน้อย เช่นเวลาที่คนญี่ปุ่นแพ็คของอาจจะนำเสื้อผ้าเก่าอุดช่องว่างเพื่อไม่ให้เกิดการชำรุดเสียหาย รวมๆ แล้วประมาณ 10 กิโลกรัมต่อตู้คอนเทนเนอร์ถือว่าไม่มาก

“ที่เห็นเคยออกข่าวกันว่าเขาเอาขยะมาทิ้งที่บ้านเรา ตรงนี้ผมว่าไม่ใช่นะ ผมและลูกก็ใส่เสื้อแบรนด์เนมมือสองสภาพใหม่มาก เพื่อความสบายใจเราก็เอามาต้มน้ำซักให้สะอาด ขายตัวละ 20 บาท 50 บาท บางตัว 100 บาท ที่บอกว่าเป็นขยะเป็นอดีตที่มีบางบริษัทจ้างคนปากีสถานเป็นแรงงาน พอแพ็คของเขาจะยัดของมั่วมาให้เรา แต่พวกขยะอุตสาหกรรมไม่มีนะ ไม่มีสินค้าประเภททีวี เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ด้วย เพราะของเหล่านั้นต้องขออนุญาตนำเข้าต่างหาก ส่วนเซรามิคถ้าเป็นมือสองส่งเข้ามาได้ ถ้าเป็นมือหนึ่งต้องเสียภาษีต่างหากเพราะถือว่าประเทศเราสามารถผลิตเองได้ไม่จำเป็นต้องนำเข้า”

หุ้นส่วนร้านมือสองเล่าว่า ตอนนี้มีคนทำธุรกิจนี้ในเมืองไทยประมาณ 20 ราย ส่วนใหญ่จะซื้อตู้คอนเทนเนอร์ราคาประมาณ 2-3 แสน ถ้าสินค้าคัดคุณภาพหน่อยตู้หนึ่งราคาประมาณ 4 แสนบาท มีการแพ็คห่อกระดาษทุกชิ้นอย่างดี คำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ โดยคำนึงถึงขนาดของตู้ เพื่อบรรจุสินค้าให้ได้มากที่สุด

“ข้าวของที่ใช้ไม่ได้มีน้อยมาก ผมจะจัดหมวดหมู่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ลูกค้าจะได้เห็นสินค้าทั่วถึง ก็จะมีเซรามิค เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เฟอร์นิเจอร์ ตุ๊กตา ฯลฯ ส่วนของที่ขายไม่ได้ผมก็เอาไปบริจาคที่วัดสวนแก้ว เช่น ชุดสูทใหม่ๆ เลย ไซส์เดียวกันสีเหมือนกัน 50-60 ชุด เป็นต้น หลวงพ่อก็จะเอาไปขายถูกๆ เอาเงินเข้าวัด ของที่คิดว่าขายยากผมจะไม่เก็บไว้เพราะกลัวไฟไหม้ แต่เราไม่เอาขยะไปให้วัดแน่นอน บาปกรรมเปล่าๆ เฟอร์นิเจอร์มือสองจากญี่ปุ่นบางทีมีคนตาดีๆ มาเลือกไปขายขึ้นห้างเป็นสินค้ามือหนึ่งก็ยังมีเลยนะ”

สำหรับคนที่เคยเมินสินค้ามือสอง หากลองเปิดใจเข้าไปเดินชม อาจเปลี่ยนใจกลับมาหลงใหลสินค้าที่มากจากแดนอาทิตย์อุทัยก็เป็นได้