‘แม่ฑีตา’ ความสุขในโลกสีน้ำเงิน

‘แม่ฑีตา’ ความสุขในโลกสีน้ำเงิน

“ป้าจิ๋ว-ประไพพันธ์” ผู้ก่อตั้ง แบรนด์ ‘แม่ฑีตา’ ใช้เวลากว่า 20 ปี พิสูจน์ตัวเองบนเส้นทางสายใหม่จนค้นพบความสุขที่ยิ่งใหญ่ ในโลกสีน้ำเงิน

“ชีวิตในกรุงเทพไม่ใช่คำตอบ แล้วจะอยู่ไปทำไมกรุงเทพ เลยตัดสินใจทิ้งสามี แล้วหอบลูกสองคนกลับบ้าน”

คำบอกเล่าของ “ป้าจิ๋ว-ประไพพันธ์ แดงใจ” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ‘แม่ฑีตา’ ที่แบ่งปันให้คนหัวใจสีเขียว ร่วมรับฟังในงาน “Creative Citizen Talk 2015” หัวข้อ “Sustainable Now สีเขียว...เดี๋ยวนี้” จัดโดย Creative Citizen ที่ผ่านมา

นั่นคือการตัดสินใจที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน แน่นอนว่า สังคมต่างจังหวัดในยุคนั้นใครกันจะรับได้ เมื่อระดับลูกสาวครูประชาบาล เรียนจบมหาวิทยาลัย ได้ทำงานกินเงินเดือนอยู่เมืองกรุง กลับตัดสินใจทิ้งทุกอย่างไปตั้งต้นใหม่ที่ จ.สกลนคร บ้านเกิด วินาทีแรกที่กลับบ้าน เลยมีแต่คำถามโถมเข้าใส่ เจอสารพัดแรงกดดันจากคนรอบข้าง เธอว่า แม้แต่คนเป็นแม่ยังไม่คุยด้วยอยู่ตั้ง 8 เดือน!

“มีแต่คนบอกว่า เพี้ยน ว่าบ้า แม่นี่ไม่ยิ้มอยู่ 8 เดือน ลูกสาวสองคนตอนนั้นแค่ 4 กับ 5 ขวบ ก็ต้องปล่อยให้อยู่กับป้า แล้วขับรถมาขายผ้าที่กรุงเทพ ทำมา 20 ปี 10 ปีแรกนี่ ต้องบอกเลยว่า ต่อสู้มาก ต้องสู้กับความคิดของคนรอบข้าง สู้กับพลังของตัวเองว่าไหวไหม เพราะตอนนั้นกระแสต้านแรงมาก”

ป้าจิ๋วบอกโจทย์ยากในตอนเริ่มต้น หลังตัดสินใจกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ เธอยอมรับว่า เครียด แต่ก็ไม่เคยคิดถอยหลังกลับ เพราะเชื่อมั่นในทางที่เลือกนี้ เธอรับมือกับแรงเสียดทานด้วยการ “ลงมือทำ” เพื่อพิสูจน์ตัวเองให้เห็น

หลังทิ้งปริญญาและอดีตแสนหวานไว้ข้างหลัง ป้าจิ๋วกลับมานั่งคิดว่า จะทำอะไรต่อไปดี เลยนึกถึงภูมิปัญญาผ้าย้อมครามที่สูญหายไปจากชุมชนมาหลายปี หลังคนเลิกให้ความสนใจ แถมการทำย้อมครามก็ไม่ง่ายเสียด้วย เรียกว่า ต้องทุ่มเทและใส่ใจเอามากๆ ทำอย่างไรจะให้ภูมิปัญญาที่เคยสูญหาย คืนกลับมา เธอเลยเริ่มออกตามหา “ต้นคราม” และฟื้นวิธีย้อมครามแบบดั้งเดิมขึ้นมาอีกครั้ง

“การย้อมคราม ต้องทำด้วยความรัก” ป้าจิ๋วบอกกับเรา ก่อนอธิบายความรักที่ว่า ตั้งแต่ หมั่นหาของหวานไปให้ มีกล้วย มีน้ำตาล มีอ้อยก็ไปแบ่งให้ ของเปรี้ยว เผื่อมันอยากกิน ก็เอามะขามไปใส่ให้ จะโยนให้แบบทิ้งๆ ขว้างๆ ก็ใช่ว่าจะได้ แต่ต้องส่งให้ดีๆ พูดจาด้วยดีๆ คนไหนไม่อาบน้ำ เนื้อตัวสกปรก หรือแม้แต่ประเภทใส่น้ำหอมฉุน ก็เข้าใกล้ไม่ได้ กระทั่งวันไหน ฟ้าผ่า ฟ้าร้อง น้องครามก็อาจช็อก ตกใจ จนย้อมสีไม่ติดเอาได้ง่ายๆ ...อะไรจะขนาดนั้น

ป้าจิ๋ว เทียบว่า การทำผ้าย้อมคราม ก็เหมือน “ปริศนาธรรม” ที่สอนให้คนเรารู้จักการดูแล เอาใจใส่และใจเย็น เธอใช้เวลาถอดปริศนาธรรมนี้อยู่ถึง 3 ปี จนในที่สุดก็สามารถทำผ้าย้อมครามวิถีธรรมชาติมาได้สำเร็จ และประกาศตัวเป็นผ้ารักษ์โลก เพราะทุกกระบวนการผลิตไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งการไม่ผ่านการต้ม ขณะกากใยที่เหลือจากการทำยังเป็นปุ๋ยชั้นดี น้ำที่เหลือจากการซักล้างสามารถเป็นอาหารให้ปลาได้ ไม่เหลือทิ้งปัญหาให้กับโลก

โจทย์ที่ยากไปกว่าการผลิต คือต้องตอบโจทย์การตลาดให้ได้ ป้าจิ๋วบอกเราว่า เริ่มจากใช้วิธี ฝากเพื่อนขาย เข้าไปขายตามเมืองใหญ่ๆ ตามมหาวิทยาลัย ขายตามตลาดนัด ตลอดจนงานแสดงสินค้าต่างๆ เธอยอมรับว่า ต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร กว่าจะเปลี่ยนทัศนคติของคนต่อผ้าย้อมครามให้ดีขึ้นได้

ก็เมื่อบางคนยังมองว่า สีน้ำเงินเป็นสีของกรรมกร ผ้าย้อมครามซื้อไปก็คงสีตก ผ้าแบบนี้มีแต่คนสูงอายุเท่านั้นใส่กัน การไม่ทดท้อ และสู้จนหยดสุดท้าย ทำให้ “แม่ฑีตา” สามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ผ้าสีน้ำเงิน ให้กลายเป็นแฟชั่นของชนชั้นกลาง-สูง ขึ้นมาได้ สนองกลุ่มคนมีความรู้ มีการศึกษา และ “มีกำลังซื้อ” เพราะผ้าย้อมครามจากธรรมชาติ ไม่ใช่ของถูก และคนเลือกใช้สีน้ำเงินก็ต้องมี “รสนิยม” อยู่พอตัว

ส่วนความเชื่อเรื่องสีตก ภายหลังมีงานวิจัยมาช่วยยืนยัน ป้าจิ๋วเลยได้ “หลักฐาน” ไปสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า

แล้ววันหนึ่งโลกสีน้ำเงินก็เปลี่ยนไป เมื่อสื่อเริ่มจับตามองแบรนด์แม่ฑีตามากขึ้น จุดเปลี่ยนสำคัญก็ตอนทีมภาพยนตร์เรื่อง “TROY” จากฮอลลีวู้ด มาซื้อผ้าจากแม่ฑีตาไปทำเสื้อผ้านักแสดง วันนั้นเองที่ผ้าย้อมครามจากแผ่นดินไทย ได้ประกาศศักดาไปทั่วโลก

แม้วันนี้จะเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ป้าจิ๋วก็ยังย้ำว่า

“การทำธุรกิจต้องใช้ความอดทน และใช้ใจ ไม่ได้ใช้เงินเป็นตัวตั้ง เพราะถ้าเราทำสิ่งที่ดีๆ เงินจะมาหาเราเอง”

ป้าจิ๋วบอกความเชื่อ ที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วกับความสำเร็จของแบรนด์แม่ฑีตา ซึ่งผลตอบแทนที่มากกว่าไปชื่อเสียง หรือเงินทอง ก็คือการได้เห็น “ความเปลี่ยนแปลง” ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว

“หลังเข้ามาทำหลายสิ่งเริ่มกลับคืนมา ได้เห็นครอบครัวที่อบอุ่นอยู่กันพร้อมหน้า ลูกหลานเริ่มกลับมาอยู่บ้าน ปลดหนี้ปลดสิน รอบๆ บ้านก็ปลอดสารเคมี ชุมชนน่าอยู่ขึ้น ซึ่งนี่ไม่ใช่แค่สีน้ำเงินอย่างที่เราเข้าใจกัน แต่คือ สีแห่งชีวิต สีแห่งสิ่งแวดล้อม และสีแห่งความยั่งยืนโดยแท้จริง” เธอบอก

วันนี้รอยยิ้มที่เคยหายไปจากใบหน้าของคุณยายฑีตา กลับมาแช่มชื่นขึ้นอีกครั้ง เช่นเดียวกับ "มอญ-สุขจิต แดงใจ" อดีตเด็กน้อยที่คุณแม่หอบหิ้วมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ เธอเรียนจบจากเอแบค แล้วมาต่อแฟชั่นดีไซน์ นั่นเองที่ทำให้ได้มีส่วนร่วมกับแบรนด์ของแม่เป็นครั้งแรก

“ตอนเรียนแฟชั่นดีไซน์ ได้นำผ้าของแม่ไปทำคอลเลคชั่น นับเป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักกับผ้าย้อมคราม ว่าเขาทำอย่างไร ย้อมกันอย่างไร ตอนกลับมาย้อมผ้าที่บ้าน เป็นอะไรที่โลกสวยมาก ปลาก็มาล้อม ผีเสื้อก็บินมา หมาที่บ้านก็มานั่งใกล้ๆ เพราะชอบกลิ่นของคราม เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่า ครามเจ๋งอ่ะ รู้สึกดี และชอบมาตั้งแต่นั้น”

เธอบอกความประทับใจของการย้อมครามครั้งแรก ที่เหมือนได้หลุดไปอยู่ในฉากของภาพยนตร์เรื่องดัง

หลังเรียนจบเลยได้นำความรู้ด้านการออกแบบมาพัฒนาแบรนด์แม่ฑีตา เพื่อให้เข้ากับคนรุ่นใหม่มากขึ้น ด้วยดีไซน์ที่น่ารักน่าชัง โดยที่เธอเองเป็นทั้งดีไซเนอร์และพรีเซนเตอร์ สวมใส่เสื้อผ้าของครอบครัว ไปทักทายผู้คนในทุกที่
วันนี้ป้าจิ๋วมีความสุข ดูได้จากรอยยิ้มบนใบหน้า และยังกลายเป็น “ไอดอล” ของน้องๆ หลายคน เมื่อถูกรุมถามว่า ทำอย่างไรถึงจะเป็นได้แบบป้าจิ๋ว คนผ่านมาก่อนบอกแค่ว่า ให้หาตัวเองให้เจอว่า ชอบอะไร เพราะบางครั้งอาจต้องยอมทนอยู่กับสิ่งที่คนอื่นไม่เห็นด้วยบ้าง เราจะยอมรับได้ไหม พลังข้างในมีเพียงพอที่จะฟันฝ่าโจทย์หนักๆ ไปได้หรือไม่

“รุ่นหลังๆ ทำสิ่งเหล่านี้ง่ายกว่ารุ่นป้ามาก สมัยนี้มีตัวอย่างให้เห็นเยอะว่า คนรุ่นใหม่ อายุน้อยๆ ออกมาทำอะไรของตัวเอง ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเอง ขณะที่ความรู้ก็หาได้ง่ายมากแค่กดคอมพิวเตอร์ก็มีหมด เลยอยากบอกน้องๆ ว่า อย่าลองผิดอีกเลย ลองแต่ถูก เพราะป้าทำมาหมดแล้ว และไม่ต้องไปอะไรคิดมาก แค่ลงมือทำ จำไว้ว่า ชีวิตเราต้องเลือกเอง อย่าให้ใครมาเลือกให้” ป้าจิ๋วฝากทิ้งท้าย

เช่นเดียวกับแม่ฑีตาที่เธอปลุกปั้นมาเมื่อ 20 ปี ก่อน วันเริ่มต้นอาจเจอแต่คำถาม ทว่าวันนี้ "ความสุขของคนใกล้ตัว" ได้ตอบทุกคำถามนั้นไปหมดแล้ว