จับแรงบันดาลไทยใส่ในของฝาก

จับแรงบันดาลไทยใส่ในของฝาก

ฝากไทย ..ถอดรหัสเสน่ห์ของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว ถือเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของ ศูนย์บันดาลไทย

     หน่วยงานใหม่ของกระทรวงวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นภายใต้ภารกิจ ส่งเสริม สนับสนุน และให้บริการแนะนำ แก่ธุรกิจอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ และ สร้างแรงบันดาลใจในการนำต้นทุนทางวัฒนธรรมมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
    บันดาลไทย สร้างแรงบันดาลใจ ด้วยการบริหารเสน่ห์แบบไทยๆ เกิดเป็นของที่ระลึกจาก 77 จังหวัด จำนวนกว่า 300 ชิ้น...เน้นว่าเป็นแค่ของตัวอย่างที่ต้องการให้ผู้ประกอบการนำไปต่อยอด แต่ถ้าห้ามใจไม่ไหวอยากจะได้เป็นของที่ระลึกสักชิ้น อดใจรอสักนิดของที่ระลึกบางจังหวัดสามารถผลิตออกจำหน่ายได้เร็วๆนี้
เป็นเรา ไม่เป็นอื่น
    ไพโรจน์ ธีระประภา ศิลปินศิลปาธร สาขาเรขศิลป์ พ.ศ.2557 กราฟฟิกดีไซเนอร์ผู้ร่วมถอดรหัส “ฝากไทย” กล่าวถึงความสำคัญของ “ของที่ระลึก” ควรเป็นสิ่งของที่ช่วยเตือนความทรงจำให้ระลึกถึงประสบการณ์ในการเดินทาง ดังนั้นของที่ระลึกจึงจำเป็นต้องมีอัตลักษณ์ที่บ่งบอก “ความเป็นเรา ไม่เป็นอื่น”
   “โจทย์ที่ผมได้รับ คือ ประเทศไทยและกรุงเทพฯ เป็นโจทย์ที่ซับท้อนกัน ชาวต่างชาติที่มองเห็นความเป็นไทยจะเหมาว่านี่คือ แบงคอก คือ ไทยแลนด์
     อัตลักษณ์ ผมให้นิยามว่าเป็นสิ่งรายล้อมรอบตัว ผมไม่พูดว่าสิ่งแวดล้อมเพราะจะไปซ้ำกับประเด็นธรรมชาติ สิ่งรายล้อมคือสิ่งที่อยู่รอบตัวเราทุกชนิด เพื่อนฝูง ข้าวของเครื่องใช้ โดยมองไปที่อัตลักษณ์พื้นถิ่นด้วย ถ้านำเอาสิ่งรายล้อมพื้นถิ่นมาใช้ประโยชน์สร้างเป็นอัตลักษณ์ซะ อัตลักษณ์ของท้องถิ่นจะเกิดขึ้น
     เมื่อนักท่องเที่ยวกลับไปแล้ว นึกถึงประเทศไทย สิ่งที่ชัดเจนรวดเร็วที่สุด ในสถานการณ์ที่ผมคิดว่าเรากำลังจะเอาอะไรไปสู่กับต่างชาติในการขับเคลื่อนธุรกิจ อัตลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดคือ ศิลปะไทย”
สร้างอัตลักษณ์ด้วยกราฟฟิกดีไซน์
     กราฟฟิก คืออะไร รูปภาพ เส้น ทรง อักษร จุด สี ที่ทำงานด้วยรูปทรงสัณฐานหรือเอ้าท์ไลน์ ฟอร์มง่ายๆ แต่สื่อความหมายได้ หรือบรรจุความรู้สึกพ่วงไปได้
     “ถ้าเรามองว่ากราฟฟิกเป็นภาพที่ลดทอนจากของจริง สื่อสารด้วยรูปทรงง่ายๆ ลายไทยก็เป็นแบบนั้น แปลว่ากราฟฟิกดีไซเนอร์บ้านเราเกิดมาไม่รู้กี่ร้อยๆปีมาแล้ว ตัวอย่างที่นำมาใช้ในงานออกแบบบเป็นผลงานของกราฟฟิก             ดีไซเนอร์ชั้นบรมครูสมัยอยุธยา ผมฟันธงว่าลายไทยคือกราฟฟิกไทย
      ศิลปะไทยสะท้อนอัตลักษณ์ ไทยชัดเจนแน่นอน ศิลปะไทยมีหลากหลาย สิ่งที่ผมใช้ คือ ลายไทย
       ลายไทยมีการคลี่คลายและลดทอนรูปทรง จากภาพเหมือนจริงให้ง่ายเพื่อให้ช่างเขียนได้ง่าย ปั้นก็ได้ แกะสลัก หล่อ นี่คือการลดทอนรูปทรงให้ง่ายขึ้นทำให้สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย ซึ่งไปพ้องกับคำนิยามของกราฟฟิกดีไซน์”
       งานออกแบบเรขศิลป์ หรือ กราฟฟิกดีไซน์ สร้างอัตลักษณ์ได้อย่างไร? ศิลปินศิลปาธรสาขาเรขศิลป์ อธิบายให้เข้าใจง่ายๆโดยการให้ลองจินตนาการถึงการไปดื่มกาแฟยามเช้าที่ร้านกาแฟในจังหวัดน่าน มีถ้วยกาแฟเก๋พิมพ์ลายสามล้อถีบเมืองน่าน มีวอลล์เปเปอร์เป็นรูปอาคารบ้านเรือนโบราณ กระดาษเช็ดปากพิมพ์ลายเป็นเส้นสายที่สื่อถึงจังหวัดน่าน
นี่คือตัวอย่างของการนำอัตลักษณ์ของพื้นถิ่น มาทำงานร่วมกับงานออกแบบกราฟฟิก ที่สามารถนำไปต่อยอดกับงานออกแบบของที่ระลึกที่มีเสน่ห์ของตนเองเป็นต้นทุน
ลำปางฮิปสะเต้อจั๊ดนัก
      ธีรวัฒน์ พจน์วิบูลศิริ อาจารย์ประจำภาควิชากระบวนจินตภาพคอมพิวเตอร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สมาชิกกลุ่มแรงบันดาลไทย ผู้รับถอดรหัสของฝากจากลำปางบ้านเกิด เล่าให้ฟังถึงการกลับไปค้นคว้าหากลิ่นไอของความเป็นพื้นถิ่น ด้วยการตระเวนถ่ายภาพตามวัด สะพานเก่าแก่ อาคารโบราณ แล้วถอดแบบออกมารวบรวมเป็นคลิปอาร์ต
      จากนั้นนำลวดลายมาใช้ออกแบบลงบนผลิตภัณฑ์เซรามิก โดยเลือกใช้สีครามวาดลวดลายลงบนเซรามิกพื้นสีขาวออกมาเป็น ถ้วยกาแฟลายหงส์จากจิตรกรรมฝาผนังในวัดที่ลำปาง แก้วลายไก่ที่ถอดแบบลายมาจากสะพานรัษฎาภิเศก สัญลักษณ์ของลำปาง
      นอกจากนี้ลายไก่ ยังนำไปจัดวางเรียงบนลายของเสื้อยืด ร่วมด้วยกับภาพของรถจักรยาน ลายเมฆจากจิตรกรรมฝาผนังในวัด แล้วเติมข้อความโดนๆลงไป เช่น ไปมาแล้วนะลำปาง ลำปางฮิปสะเต้อจั๊ดนัก กลายเป็นเสื้อยืดลำปางที่บางคนเห็นปั๊บจับใจเลย
ลวดลายมังกรจากของดีเมืองเพชร
      ถ้าได้จิบกาแฟจากถ้วยเซรามิกสีขาววาดลายมังกรจากเพดานวัดสระบัว จังหวัดเพชรบุรีคงจะมีความสุขไม่น้อย เชื่อเลยว่าหากซื้อเสื้อยืดพิมพ์ลายมังกรจากวัดเดียวกันนี้ไปเป็นของฝากผู้รับคงถูกใจ
      ไพโรจน์ ทิพยเมธี อาจารย์พิเศษด้านการออกแบบนิเทศศิลป์ สมาชิกกลุ่มแรงบันดาลไทย ถอดรหัสจังหวัดเพชรบุรี เมืองแห่งช่างชั้นครูที่ได้ชื่อว่าเป็น อยุธยาที่ยังมีลมหายใจ
หลังจากจัดทำคลิปอาร์ตด้วยการสำรวจ ถ่ายภาพ และถอดแบบลายจากวัดที่มีชื่อเสียงทางผลงานจิตรกรรมมารวบรวมไว้แล้ว
     “การถอดลวดลายและถอดแบบงานจิตรกรรมเหล่านี้ถือเป็นการอนุรักษ์ลวดลายเก็บไว้ ในขณะเดียวกันก็สามารถนำไปออกแบบต่อยอดได้ง่ายขึ้น นับเป็นนวัตกรรมการออกแบบที่ใช้ทุนทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง โดยนำมาใช้อย่างร่วมสมัย
      นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นเห็นคุณค่าภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ แล้วหันกลับมาร่วมกันอนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญหาย”ผู้ถอดรหัสจังหวัดเพชรบุรีบอกกับเรา
ของฝากจากน่าน
     อาวิน อินทรังษี เจ้าของรางวัลชนะเลิศการประกวดออกแบบอัตลักษณ์สถานีโทรทัศน์สาธารณะไทยพีบีเอส เล่าว่าประทับใจตุงที่พบในวัดแห่งหนึ่ง ยิ่งมองยิ่งเห็นภาพคล้ายเป็นพิกเซล (pixel)ที่เรียงตัวกันเป็นรูปทรงต่างๆ เช่น ช้าง ไก่ ผีเสื้อ
เมื่อสายตาไปสะดุดอย่างนี้แล้ว จึงนำมาสู่ผ้าพันคอลายพิกเซล ที่เกิดจากการนำลวดลายสัตว์ที่เห็นมาจัดวางเป็นแพทเทิร์นพิมพ์บนลายผ้า ซึ่งสามารถแปรรูปเป็นกระเป๋า เคสใส่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค แท็บเล็ต ปลอกหมอน ตุ๊กตา และอื่นๆได้อีก
      “การดึงลายมาใช้แล้วทำให้เกิดความพิเศษ ไม่เชย คือ การดึงมาเพียงบางส่วน อย่าดึงมาหมดเพราะไม่อย่างนั้นมันจะเยอะเกินไป เมื่อดึงมาแล้วให้จัดองค์ประกอบใหม่” อาวิน แนะนำ
ของดี ในราคาที่จับต้องได้
      โจทย์สำคัญอีกข้อสำหรับของที่ระลึก คือ ราคาไม่แพง เพื่อให้เอื้อกับการตัดสินใจและง่ายในการจับจ่าย การออกแบบในเชิงอุตสาหกรรมจึงเป็นอีกแนวทางที่บันดาลไทยให้ความสำคัญ
       ศีลวัตร วีรกุล และสุวโรจน์ รัตนทองคง ตัวแทนจาก LIGHTFOG Creative & Design ผู้รับผิดชอบในการออกแบบของที่ระลึกเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว 50 แห่ง (50 จังหวัด) ภายใต้กติกา สมราคา สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ใส่กระเป๋ากลับง่าย
      “เสื้อยืด พวงกุญแจ กระเป๋า ตุ๊กตา เป็นชุดข้อมูลที่เกิดจากการทำสำรวจความต้องการของนักท่องเที่ยว เมื่อได้ผลิตภัณฑ์ที่ต้องการแล้ว แนวทางการออกแบบต้องคิดคู่ไปกับกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมด้วย” ทีม LIGHTFOG เกริ่น ก่อนถึงแนะนำเทคนิคในการออกแบบ คือ
      “เราดูจากรูปทรงสัญฐาน ยกตัวอย่างรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีสิ่งใดที่สื่อถึงความเป็นพื้นถิ่นในรูปทรงนี้ได้ เช่น หมอนรูปทรงมัดอ้อยสื่อถึงจังหวัดสุรินทร์
นกเป็ดน้ำในบึงโขงโหลง จังหวัดบึงกาฬ นำรูปทรงของหัวนกมีทรงโค้ง มาออกแบบเป็นหมวก หมอน กระเป๋าใส่ดินสอ
      ตำแหน่งที่ตรงกัน เช่น เขาควาย ที่หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย สุพรรณบุรี เราออกแบบเป็นหมวก รอยเท้าบนผืนทรายเวลาไปเที่ยวชายทะเล เรานำภาพรอยเท้ามาออกแบบบนรองเท้าแตะ
       การใช้งาน ที่น้ำตกพลิ้ว เราทำของที่ระลึกเป็นถุงรูปปลาสำหรับใส่เสื้อผ้าเปียกหลังจากเล่นน้ำ จังหวัดหนองคายเราออกแบบที่เปิดขวดเป็นรูปพญานาค
     ความหมายและคุณสมบัติที่ตรงกัน ภาพใบโพธิ์พิมพ์คำสอนของหลวงปู่มั่น นำมาพิมพ์บนหมอนและพัดสื่อถึงธรรมะที่ก่อให้เกิดความร่มเย็น ฟางนิ่มๆเราพิมพ์ลายฟางลงบนหมอนให้กับหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย สุพรรณบุรี” สอง ตัวแทนจาก LIGHTFOG ยกตัวอย่าง
    ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานการออกแบบ “ฝากไทย” ถอดรหัสเสน่ห์ของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว 77 จังหวัด ของประเทศไทย พร้อมกับการแนะนำตัวศูนย์บันดาลไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการโดยมีสำนักงานตั้งอยู่ภายในหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน

      สำหรับผู้ที่สนใจชมผลงานออกแบบของที่ระลึก สามารถเข้าชมได้ที่นิทรรศการ “ฝากไทย” ถอดรหัสเสน่ห์ของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว จัดแสดงระหว่าง 23 สิงหาคม – 1 กันยายน 2558 ที่ HOF ART ในโครงการ W District ระหว่างสุขุมวิท 69-71 (สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส พระโขนง)
       มาร่วมกันใช้แรงบันดาลไทย บริหารเสน่ห์แบบไทยๆ เพื่อขับเคลื่อนไปธุรกิจของที่ระลึกที่เป็นแบบของเราไม่เป็นเหมือนใคร อยากได้ต้องมาที่เมืองไทยเท่านั้น