ชี้กรรมการยุทธศาสตร์ฯ ต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งจากเลือกตั้ง

ชี้กรรมการยุทธศาสตร์ฯ ต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งจากเลือกตั้ง

"คำนูณ" ย้ำกรรมการยุทธศาสตร์ ต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งจากการเลือกตั้ง ไม่ปิด "ประยุทธ์" นั่งปธ.กรรมการฯ

แย้มจะเขียนบทเฉพาะกาลอ้างถึงการทำหน้าที่อีกครั้ง แจงญัตติให้มีรัฐบาลปรองดอง ไม่ใช่มติกมธ.ร่างรธน. และไม่เกี่ยวงานยกร่างรธน.

  เมื่อเวลา 09.00 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การพิจารณาทบทวนบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราในเรื่องความถูกต้องของถ้อยคำหรือข้อความ ทั้ง 280 มาตราจะแล้วเสร็จในวันนี้ ซึ่งการพิจารณานั้นจะไม่มีการแก้ไขหรือทบทวนเนื้อหาที่นำไปสู่การปรับบทบัญญัติใดๆ หากไม่ใช่เป็นประเด็นที่มีเหตุผลหรือน้ำหนักมากพอ ส่วนกรณีของการบัญญัติให้อำนาจพิเศษแก่คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เพื่อแก้ไขหรือป้องกันการกระทำที่ทำให้เกิดความไม่สงบหรือไม่มั่นคงในชาตินั้น ที่หลายฝ่ายท้วงติงและขอให้ทบทวนนั้น ทางกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้รับฟังอย่างละเอียด ถี่ถ้วน แต่ขณะนี้ยังไม่มีประเด็นที่จะทบทวน อย่างไรก็ตามประเด็นของกรรมการยุทธศาสตร์ฯ นั้น ที่ประชุมกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาอย่างรอบด้านและทุกแง่มุม ซึ่งใช้เวลาพิจารณายาวนาน ก่อนที่จะสรุปและแถลงข่าวต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตามในทางทฤษฎีหากยังไม่ได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญ ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อย่างเป็นทางการภายในวันที่ 22 ส.ค. นี้ เนื้อหา รายละเอียด และหลักการยังสามารถปรับแก้ไขได้ แต่คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

   

ผู้สื่อข่าวถามว่าพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ตามรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับบทเฉพาะกาลที่จะกำหนดไว้ แต่ในความหมายที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องการนั้นคือ ควรเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลหลังการเลือกตั้งมากกว่า อย่างไรก็ตามเมื่อดูกติกา พล.อ.ประยุทธสามารถเข้ามาเป็นได้ แต่จะมีบทเฉพาะกาลที่เมื่อถึเวลาทบทวนต้องเขียนความหมายให้ชัดเจน ขณะที่อำนาจหรือหน้าที่รวมถึงกระบวนการพิจารณาของกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะมีรายละเอียดเขียนไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องต่อไป

   

“กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อแก้ปัญหาประเทศ และวิกฤตประเทศที่มียาวนาน และไม่ต้องการให้หลังรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้เหตุการณ์จะย้อนกลับไปเหมือนวันที่ 22 พ.ค. 57 อีก ดังนั้นสิ่งที่เขียนนั้นถือเป็นนวัตกรรมที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพยายามให้ทำระบอบประชาธิปไตยระยะเปลี่ยนผ่าน สามารถธำรงหลักการของระบอบปกติ โดยประเด็นที่ถูกวิจารณ์นั้น ไม่ใช่จุดสุดท้าย เพราะเมื่อสปช. อนุมัติแล้ว ให้ต้องให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้ง ขณะที่ระยะเวลาบังคับใช้อำนาจพิเศษนั้นมีผลเพียง 5 ปีและต่อหรือขยายไม่ได้ ขณะที่การมีอยู่ของกรรมการยุทธศาสตร์ฯ นั้นจะอยู่ในระยะ 5 ปี หากจะต่อหรือขยายต้องให้ประชาชนลงประชามติเท่านั้น” นายคำนูณ ระบุ

 

นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า กรณีที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นำโดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ลงนามรับรองญัตติที่เสนอให้สปช. ให้ทำประชามติคำถามกรณีให้มีรัฐบาลปรองดอง นั้นไม่ใช่มติของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะผู้เสนอคือนายนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ และนายประสาร มฤคพิทักษ์ สปช. ฐานะกรรมการปรองดอง ขณะที่กมธ.ยกร่างฯ ลงนามรับรองญัตติ ก็ทำในฐานะสปช.ไม่เกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ