สสส.แจงงบภาษีบาป ดึงกลับสู่ราชการรัฐเสียประโยชน์

สสส.แจงงบภาษีบาป ดึงกลับสู่ราชการรัฐเสียประโยชน์

สสส.แจงงบฯจากภาษีบาป เป็นส่วนพิเศษเก็บเพิ่มธุรกิจเหล้า-บุหรี่ อีก2%ไม่แตะส่วน 100% ที่เข้ารัฐ ชี้ดึงเงินกลับสู่ระบบราชการ ทำรัฐเสียประโยชน์

จากกรณีกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการคลังและงบประมาณ โดยแก้ไขไม่ให้มีการตรากฎหมายให้หน่วยงานรัฐจัดเก็บภาษีและจัดสรรเงินจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร และจะมีผลบังคับใช้กับหน่วยงานที่จัดเก็บภาษีและจัดสรรเงินดังกล่าวในอีก4ปีหลังประกาศใช้ ตามที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือถึง ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ซึ่งจะส่งผลให้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และองค์กรสนับสนุนการกีฬาฯ ที่เพิ่งผ่านมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งได้รับงบประมาณจากภาษีสุราและบุหรี่ได้รับผลกระทบ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า น่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดในระบบการเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax)ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯ และประชาชนทั่วไปอาจยังไม่เข้าใจ เพราะคิดว่าภาษีที่เก็บจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ 100% จัดสรรให้ สสส.นำไปใช้2%และไทยพีบีเอสอีก1.5%แต่ความจริงไม่ใช่ เป็นการเก็บพิเศษเพิ่มจากภาษีปกติที่ต้องจ่าย การดึงเงินกลับไปสู่ระบบงบประมาณที่ต้องผ่านรัฐสภา ก็จะทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อยลง เพราะธุรกิจดังกล่าวไม่ต้องจ่ายภาษีส่วนพิเศษตรงนี้เพิ่ม แต่รัฐบาลกลับต้องนำภาษีปกติมาจัดสรรให้สสส. และไทยพีบีเอส และองค์กรสนับสนุนการกีฬาฯ แทน

“กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ และการที่ไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มก็อาจทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้นำเงินดังกล่าวไปใช้ส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาด ทำให้พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มองว่าการกลับไปสู่ระบบงบประมาณก็ทำให้มีโอกาสถูกการเมืองแทรกแซงได้” ทพ.กฤษดากล่าว

ทพ.กฤษดา กล่าวอีกว่า สสส.กำลังสรุปเรื่องดังกล่าวให้แก่คณะกรรมการ สสส.โดยเร็วที่สุด เพื่อให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เบื้องต้นคาดว่าคงต้องส่งหนังสือชี้แจงไปยัง กมธ.ยกร่างฯ เพื่อทำความเข้าใจต่อกรณีEarmarked Taxว่าการดึงงบกลับไปสู่ระบบงบประมาณปกติไม่เกิดประโยชน์ต่อรัฐบาล และทำให้การดำเนินงานของ สสส.ไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากการบริหารจัดการงบประมาณไม่คล่องตัว และไม่มีความยืดหยุ่น เพราะทุกอย่างกลับไปสู่ระบบงบประมาณ ซึ่งบางครั้งต้องตั้งงบประมาณล่วงหน้าถึง3ปี แต่การทำงานด้านสุขภาพทำเช่นนั้นไม่ได้ ซึ่งในต่างประเทศการเก็บภาษีแบบEarmarked Taxมักจะใช้กับเรื่องสำคัญๆ เช่น สุขภาพ สื่อ และกีฬา

ทพ.กฤษดา กล่าวด้วยว่า หากดูงบประมาณด้านการรณรงค์ จัดแคมเปญ และประชาสัมพันธ์ สสส.ใช้เพียงประมาณ200ล้านบาทเท่านั้น แต่ผลการดำเนินงานดีเทียบเท่าหน่วยงานรัฐในระบบราชการที่ใช้งบประมาณมากกว่า1,000ล้านบาท เห็นได้จากช่วง10ปีที่ผ่านอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลดลงกว่า1.2ล้านคน คนดื่มเหล้าลดลง ช่วยประหยัดงบประมาณไปมากกว่า2หมื่นล้านบาท หรือช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุลงได้ถึง48%ช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นไปกว่าแสนล้านบาท ซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวคงเกิดขึ้นไม่ได้ หากอยู่ในระบบราชการ เพราะความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจาก สสส. แต่เกิดจากการทำงานลงไปสนับสนุนเครือข่าย ภาคประชาสังคม และชุมชนต่างๆ ในการขับเคลื่อน ซึ่งมีมากกว่า10,000องค์กร คนทำงานขับเคลื่อนมากกว่า1ล้านคน ซึ่งหากดึงงบประมาณกลับไปสู่ระบบราชการปกติก็จะกระทบกับเครือข่ายเหล่านี้ได้ เพราะอย่าลืมว่าองค์กรเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ไม่ได้มีระบบบัญชีที่เหมือนแบบภาครัฐ

"การดำเนินงาน สสส.เชื่อมโยงกับธุรกิจเหล้าและบุหรี่ ทำให้กลุ่มธุรกิจดังกล่าวเสียประโยชน์ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ อย่างในต่างประเทศก็พบว่าบริษัทบุหรี่ก็จะเข้ามาเล่นการเมืองในลักษณะนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา องค์กรลักษณะแบบ สสส. ก็ถูกยุบไปหลายองค์กรแล้ว ส่วนที่คนมองว่า สสส.รณรงค์ทำงานไม่ได้ผล ขอถามว่าหาก สสส.ทำงานไม่ได้ผลจริง เหตุใดกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ถึงจ้องเล่นงาน เพราะการทำงานของ สสส.ไปก่อให้เกิดผลกระทบ”ทพ.กฤษดา กล่าว