สศค.หั่นคาดการณ์จีดีพีเหลือโต3%

สศค.หั่นคาดการณ์จีดีพีเหลือโต3%

สศค. ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้ มาอยู่ที่ระดับ 3% จากเดิม 3.7% หลังประเมินส่งออกติดลบ 4% หลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ช้ากว่าคาด

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของไทยในปี 58 ใหม่มาเหลืออยู่ที่ 3% จากก่อนหน้าที่คาดการณ์ไว้ 3.7% หลังจากประเมินว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะหดตัว 4% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตได้ 0.2% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ช้ากว่าคาด

ทั้งนี้ สศค.มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.7% สาเหตุหลักจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซีย ส่งผลให้ภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อาทิ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาขนส่งและคมนาคม ขยายตัวได้ดีตามมา นอกจากนี้ นโยบายเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาลและการใช้จ่ายนอกงบประมาณเพิ่มเติมที่สำคัญ ได้แก่ โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โครงการบริหารจัดการน้ำ และโครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนน คาดว่าจะทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น และอาจกระตุ้นการใช้จ่ายภาคเอกชนให้เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ด้านการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนหน้าโดยได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำและภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนเช่นกัน จากแรงสนับสนุนของโครงการลงทุนภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้าตลอดจนปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคส่งออกของไทย ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการปรับลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ครั้งก่อน

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 58 มีทิศทางปรับลดลงมาอยู่ที่ -0.6% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ -1.1 ถึง -0.1%) จากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก โดยเฉพาะจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับแรงกดดันด้านอุปสงค์ลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า ส่วนอัตราการว่างงานคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวม

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่ามูลค่าการส่งออก ซึ่งสอดคล้องกับการลดลงของราคาสินค้าส่งออกและสินค้านำเข้า และคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลประมาณ 20.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 5.1% ของ GDP เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ตามการเกินดุลบริการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น

ประกอบกับดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วมาอยู่ที่ 26.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่ามูลค่าการส่งออก ซึ่งสอดคล้องกับการลดลงของราคาสินค้าส่งออกและสินค้านำเข้า โดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 58 จะหดตัว -5.5% ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าคาดว่าจะหดตัว -4.0% พร้อมทั้งประเมินระดับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทในปีนี้ในช่วง 32.95-34.95 หรือเฉลี่ยที่ 33.95 บาท/ดอลลาร์

"ในการประมาณการเศรษฐกิจไทย จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ความรวดเร็วของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นในการลงทุนภาคเอกชนให้กลับมาได้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน และทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร" นายกฤษฎา กล่าว