แกะรอยพฤติการณ์แห่งคดี 'พร้อมพงศ์' หมิ่นอดีตประธานศาลรธน.

แกะรอยพฤติการณ์แห่งคดี 'พร้อมพงศ์' หมิ่นอดีตประธานศาลรธน.

แกะรอยพฤติการณ์แห่งคดี "พร้อมพงศ์" หมิ่นอดีตประธานศาลรธน. โดย..โอภาส บุญล้อม

“ยังไหวอยู่...” เป็นคำพูดทิ้งท้ายของ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ หลังจากถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวเข้าคุก...ในคดีที่ “พร้อมพงศ์” อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคเพื่อไทย และ นายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ อดีต ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ร่วมกันหมิ่นประมาท นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวหาว่าไม่เป็นกลางคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยให้ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์เข้าพบเป็นการส่วนตัว

จำเลยทั้งสองคนใส่สูทมาศาลอย่างดี ด้วยความหวังเต็มเปี่ยมว่าจะได้กลับบ้าน ตามที่เจ้าตัวได้ยื่นฎีกาขอให้ศาลฎีกาลงโทษสถานเบาและขอให้รอลงการลงโทษไว้ก่อน

แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่...เมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้จำคุกทั้งสองคน คนละ 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา

คดีนี้นายวสันต์ยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 ว่าทั้งสองคนร่วมกันให้ข่าวต่อสื่อมวลชนต่างๆ ว่า นายวสันต์ ให้ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์เข้าพบเป็นการส่วนตัว ระหว่างที่มีการพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ และกล่าวหาว่านายวสันต์ประพฤติตนไม่เหมาะสม ไม่น่าเชื่อถือ ขัดต่อจริยธรรมของตุลาการ ขาดความยุติธรรม และขาดความเป็นกลาง ซึ่งการกล่าวหาดังกล่าวนายวสันต์เห็นว่าทำให้เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง

ต่อมาในปี 2555 ศาลอาญา ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสอง เป็นการกล่าวหาโดยที่ไม่มีมูลความจริง ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนการแถลงข่าว จึงไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ดังนั้น ให้จำคุกจำเลยคนละ 1 ปี และปรับคนละ 5 หมื่นบาท แต่จำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับโทษทางอาญามาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี

หลังจากศาลอาญา มีคำพิพากษา จำเลยทั้งสองได้ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีและศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเมื่อปี 2556 ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการหมิ่นประมาท

ขณะที่นายพร้อมพงศ์ จบการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตและเป็นอาจารย์หลายสถาบัน ส่วนนายเกียรติอุดม จบปริญญาตรี เป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.อุดรธานี และยังเป็นกรรมาธิการและรองกรรมาธิการหลายคณะ

"จำเลยทั้งสองจึงเป็นคนมีเกียรติ มีความน่าเชื่อถือของบุคคลทั่วไป จึงควรทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีให้สังคม แต่กลับใส่ความโจทก์ที่ทำหน้าที่เป็นตุลาการ พิจารณาคดีของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่คำนึงว่าจะส่งผลเสียต่อสถาบันศาล กลับแถลงข่าวให้ข้อความกระจายไปทั่วราชอาณาจักร ทำให้คนจำนวนมากดูหมิ่นดูแคลน ไม่เชื่อถือสถาบันศาล เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่อย่างไม่เป็นธรรม ลดความน่าเชื่อถือของศาลอย่างร้ายแรง และหากถูกปลุกปั่นจะยิ่งทำให้ประชาชนไม่เคารพกฎหมาย หลังถูกฟ้องก็ไม่สำนึก แม้จะเคยเป็น ส.ส. และไม่เคยต้องโทษมาก่อน แต่ไม่ควรรอการลงโทษ อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ศาลอุทธรณ์จึงแก้โทษเป็นว่าให้จำคุก 1 ปีจำเลยทั้งสอง โดยไม่รอการลงโทษ ส่วนโทษปรับก็ให้ยกไป"

ด้านจำเลยทั้งสองยังสู้ต่อ โดยได้ยื่นฎีกาว่าการแถลงข่าวและแจกเอกสารข่าว เป็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพิจารณาคดี โดยขอให้ศาลพิจารณาลงโทษสถานเบาและขอให้รอการลงโทษไว้ก่อน

ทั้งนี้ ศาลฎีกา ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า คดีนี้ตัวโจทก์คือนายวสันต์ ได้มาเบิกความเองว่า วันที่ 10 พฤษภาคม 2553 โจทก์เดินทางเข้ามาทำงานที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ตั้งแต่เช้า และไม่เคยเชิญตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์เข้าพบที่ห้อง และไม่เคยพบกับนายทศพล เพ็งส้ม ตัวแทนประชาธิปัตย์ ที่เดินทางมายื่นหนังสือเกี่ยวกับคดียุบพรรค

คำเบิกความของนายวสันต์ ได้ไปสอดคล้องกับเลขานุการของนายวสันต์ ที่ได้เป็นพยานเบิกความว่า ในวันดังกล่าวเลขานุการนายวสันต์ ได้เข้าปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 07.40 น. ถึง 16.00 น. โดยโต๊ะทำงานอยู่หน้าห้องนายวสันต์ ซึ่งสามารถมองเห็นภายในห้องทำงานนายวสันต์ได้ แต่ก็ไม่พบว่ามีใครเข้าพบนายวสันต์ เป็นการส่วนตัวที่ห้องทำงาน

นอกจากนี้ นายทศพล เพ็งส้ม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เบิกความเป็นพยาน ว่า เดินทางไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่เวลา 09.00 น.เศษ เพื่อยื่นเอกสารเกี่ยวกับคดีที่ชั้น 2 ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ แต่ไม่เคยได้พบกับนายวสันต์เป็นการส่วนตัว โดยพยานโจทก์ไม่เคยมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุต้องสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย

ขณะที่จำเลยต่อสู้คดี อ้างว่ารับทราบเรื่องดังกล่าวมาจากเจ้าหน้าที่ 2 คน แต่ในชั้นพิจารณาคดี จำเลยก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ 2 คนดังกล่าวมาเบิกความเป็นพยานยืนยัน ดังนั้นการให้ข่าวของจำเลยต่อสื่อมวลชน จึงเป็นการให้ข้อความอันเป็นเท็จ ขณะที่ช่วงเวลาดังกล่าวมีการพิจารณาคดียุบพรรคและตัวจำเลยก็ได้ยื่นหนังสือคัดค้านโจทก์จากการเป็นองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ การกระทำของจำเลยจึงเสมือนใช้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือหมิ่นประมาทโจทก์ ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดได้ว่า โจทก์ไม่มีความเป็นกลาง ซึ่งจำเลยเล็งเห็นอยู่แล้วว่าสื่อจะนำข้อมูลจากเอกสารที่จำเลยแจกไปเผยแพร่ ดังนั้นที่จำเลยอ้างว่าการแถลงข่าวและแจกเอกสารไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา แต่เป็นการแสดงความคิดนั้น จึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนกรณีที่จำเลยขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น ศาลฎีกา เห็นว่า การกระทำของจำเลย เป็นการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งมีการเผยแพร่ด้วยเอกสาร จึงเป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้รับความเสื่อมเสีย บุคคลอื่นเข้าใจว่าไม่มีความเป็นกลาง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาถือว่าเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยจึงพิพากษายืนจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงการลงโทษ

“ศรีอัมพร ศาลิคุปต์” ผู้พิพากษาอาวุโส ศาลฎีกา บอกว่า ส่วนใหญ่ศาลฎีกาดูพฤติการณ์แห่งคดีและความร้ายแรงแห่งการกระทำ รวมทั้งดูทุกอย่างรอบด้านในการลงโทษ ซึ่งการลงโทษหนักหรือเบา ขึ้นอยู่กับ “ดุลพินิจ” ของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ผู้พิพากษา ใช้ดุลพินิจได้อย่างเต็มที่ เป็นดุลพินิจของตนเอง โดยไม่ต้องฟังใครทั้งสิ้น ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน สื่อ กองเชียร์ หรือสิ่งแวดล้อม

“อย่างคดีนี้ ตอนศาลชั้นต้นรอการลงโทษจำเลย แต่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจำคุกจำเลยโดยไม่รอลงอาญา จะเห็นได้ว่า เป็นเรื่อง "ดุลพินิจ" ของผู้พิพากษาที่ไม่ต้องตามกันของแต่ละชั้นศาล ที่ผ่านมาคดีหมิ่นประมาทก็มีทั้งที่ศาลฎีกาจำคุกจริง หรือรอลงอาญา ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์คดี ความร้ายแรง ผู้กระทำความผิด ผู้เสียหาย และความเสียหายรุนแรงมากน้อยแค่ไหน จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่ศาลลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอลงอาญาในคดีหมิ่นประมาท”

ส่วนความเห็นของ “เจษฎา อนุจารี” ผู้อำนวยการสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความแห่งสภาทนายความ กล่าวว่า ระยะหลังๆ มานี้ ศาลมักเอาจริง ไม่ค่อยรอลงอาญา เพราะว่าการรอลงอาญาทำให้จำเลยไม่เกรงกลัวกระทำความผิดซ้ำอีก อย่างไรก็ตาม การรอหรือไม่รอลงอาญา อยู่ที่ “ดุลพินิจ” ของศาล โดยดูจากสภาพของการกระทำความผิด สำหรับคดีหมิ่นประมาทหากเป็นการกระทำผิดครั้งแรกและพฤติการณ์คดีไม่ร้ายแรง ศาลมักรอลงอาญา แต่ก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จว่าจะต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะการลงโทษเป็น “ดุลพินิจ” ของศาล

“คดีนี้อาจเป็นเพราะจำเลยไปกล่าวหาวงการตุลาการด้วย ซึ่งอาจส่งผลทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันตุลาการโดยรวม ดังจะเห็นได้ว่าศาลอุทธรณ์ ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาในคำพิพากษาที่ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอลงอาญา ความรุนแรงมันเยอะ จากการกล่าวหาที่พาดพิงถึงสถาบันตุลาการ ถ้าพูดเรื่องนี้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ความรุนแรงไม่มาก เพราะว่าเมื่อก่อนสังคมสงบสุข บ้านเมืองไม่ได้แตกแยกอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ที่มีการโจมตีสถาบันต่างๆ ซึ่งอาจทำให้คนหลงเชื่อได้ในสิ่งที่กล่าวหา"

เจษฎา ยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่า หากเราย้อนไปดูคดีของนายสมัคร สุนทรเวช ที่ตกเป็นจำเลยในคดีหมิ่นประมาทหลายคดีด้วยกัน แต่ศาลฎีกาพิพากษารอลงอาญาทุกคดี คือ รอลงอาญาแล้ว รอลงอาญาอีก ก็เพราะว่า นายสมัคร หมิ่นประมาทนักการเมืองด้วยกัน ซึ่งเป็นคู่กรณีกันโดยตรง เป็นเรื่องของนักการเมืองทะเลาะกันไปมา ซึ่งเป็นเรื่องปกติของวงการเมือง แต่สำหรับศาลไม่ใช่คู่กรณี แต่จำเลยในคดีนี้กลับไปกล่าวหาพาดพิงถึงว่าไม่ยุติธรรม ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นยากที่จะเยียวยา เพราะว่าศาลต้องยุติธรรม