'สุุวัฒน์ เชาว์ปรีชา'ฐานรากดี คีย์ซัคเซส 'ฤทธา'

'สุุวัฒน์ เชาว์ปรีชา'ฐานรากดี คีย์ซัคเซส 'ฤทธา'

'สุวัฒน์ เชาว์ปรีชา' ผู้นำฤทธา ก่อสร้างพันธุ์ไทย'ธุรกิจฐานรากดี มีคุณธรรม รับผิดชอบ มีวินัยการเงินและใช้ชีวิต ใช้ความรู้สู่ความสำเร็จยั่งยืน

“ผมไม่ใช่เป็นคนเห็นแก่เงิน เงินไม่ใช่กุญแจสู่ความสำเร็จ แต่เงินเอาไว้ซื้อกุญแจได้”

คำกล่าวของ “สุวัฒน์ เชาว์ปรีชา” ประธานกรรมการ บริษัท ฤทธา จำกัด วัย 71 ปี ที่บอกกับผู้เข้าฟังสัมมนา “จับเทรนด์ถูก ผูกใจลูกค้า เดินหน้ายั่งยืน” โดยธนาคารกรุงไทยที่ผ่านมา เรียกเสียงหัวเราะก้องห้องสัมมนา

ทว่า นี่ไม่ใช่มุกตลก แต่เป็นเหตุผลจริงๆ ที่ทำให้ วิศวกรโยธาอย่างเขา ตัดสินใจหันหลังให้อาชีพรับราชการที่กรมทางหลวง มาทำงานภาคเอกชนที่จ่ายเงินเดือนสูงกว่าถึง 5 เท่า !

ตลอด 20 ปี ของการเป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชน ไม่ได้มีให้แค่เงินเดือนและตำแหน่ง แต่เป็นประสบการณ์ในงานวิศวกรรมโยธา ที่เขาบอกว่า ทำมาหมดแล้วตั้งแต่ สร้างสะพาน ขุดบ่อ เจาะอุโมงค์ ทำโรงแรม สร้างเขื่อน ระบบชลประทาน ระบบประปา ระบบกำจัดน้ำเสีย ฯลฯ ทำงานกับบริษัทญี่ปุ่น บริษัทฝรั่ง ผ่านโครงการขนาดใหญ่มาสารพัด จนถึงวัย 40 ปี ก็เริ่มอยากมีอิสระ เลยออกมาตั้งธุรกิจของตัวเอง

นั่นคือที่มาของ “ฤทธา” ธุรกิจบริการด้านงานวิศวกรรมก่อสร้าง ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ 1 ล้านบาท

“ฤทธา มาจากชื่อเรือของคุณพ่อ สมัยเด็ก ท่านมีเรือชื่อ ส.ฤทธา ผมเลยเอามาตั้งเป็นชื่อบริษัท เพื่อเป็นสิริมงคลในการมาทำมาหากิน ซึ่งคำว่า‘ฤทธา’ แปลว่า Success  (สำเร็จ) ในภาษาสันสกฤต” 

หรือเป็นเพราะ “ชื่อดี” เลยประสบความสำเร็จ มีโครงการใหญ่ๆ ในมือหลายโครงการ ปีที่คนอื่นเจอวิกฤติอย่างต้มยำกุ้ง ก็ไม่เคยเจอปัญหากับเขา แถมยังรับงานในปีนั้นอยู่ถึงประมาณ 1,450 ล้านบาท วันนี้มีธุรกิจเป็นหมื่นๆ ล้าน ผ่านโครงการมาแล้วเป็นแสนล้าน ขยับทุนจดทะเบียนจากแค่ 1 ล้านบาท มาเป็น 550 ล้านบาท

แต่สำหรับ สุวัฒน์ ความสำเร็จไม่ได้มาจากชื่อ แต่คือ วิธีคิดและวิถีปฏิบัติของพวกเขา

เขาบอกว่า ทำธุรกิจเปรียบได้กับการสร้างตึกสูง โดยตัวอาคารจะสูงขึ้นมาได้ ก็เพราะ

“ฐานรากแข็งแกร่ง”  ส่วนรากฐานจะแกร่งขึ้นมาได้ ก็ต้องมีเสาเข็มที่ดี  ฐานรากของธุรกิจสำหรับเขา ก็คือ “เครดิต” ของตัวเอง

“คนเรา รวยอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีคุณธรรมในใจ ต้องซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา รับผิดชอบ และมีวินัย ทั้งด้านการเงินและการใช้ชีวิต เหล่านี้เป็นฐานของการทำธุรกิจและดำเนินชีวิตในทุกๆ อย่าง”

เท่านั้นไม่พอ เขาเล่าว่า การทำธุรกิจต้อง “มีความรู้” (Knowledge) ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดและแก้ไม่ได้ก็เพราะขาดความรู้ เพราะไม่รู้เท่า และไม่รู้ทัน 

เขาเลยย้ำว่า เราต้อง ‘รู้เท่าเอาไว้กัน รู้ทันเอาไว้แก้’

เริ่มอย่างไรดี ก็แค่ กลับมามองตัวเอง เพราะถ้าผู้นำยังบริหารจัดการตัวเองไม่ได้ ก็คงไม่สามารถไปบริหารจัดการลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงาน แล้วแบบนี้ใครจะไปบริการลูกค้าให้ดีได้เล่า นั่นคือเหตุผลที่เขาย้ำความสำคัญของการสร้างดีเอ็นเอ ความซื่อสัตย์ มีวินัย ตรงไปตรงมา ทั้งเรื่องเงิน งาน เวลา ตลอดจนคำมั่นสัญญาต่างๆ ให้กับ “คนฤทธา” 

“ผมไม่เคยผิดสัญญากับใคร ตั้งแต่เปิดบริษัทมาก็ไม่เคยจ่ายเงินเดือนช้าแม้แต่วันเดียว ซัพพลายเออร์ ที่ทำกับผม ถึงเวลาจะรับเงินแล้วไม่มา ลูกน้องผมยังโทรตาม นี่คือสิ่งที่เรียกว่า เครดิตของตัวเรา ถ้าเรามีเครดิต เราได้เปรียบ เช่น ซื้อของได้ถูกกว่า ร้านค้าจะขายใคร ก็ขายให้ฤทธาเพราะได้เงินแน่นอน ตรงเวลา เชื่อขนมกินได้เลย” เขายกตัวอย่าง

การทำงานที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ชนิดเคยมีแรงงานสูงสุดถึง 32,000 คน ในปีที่ร่วมสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เขาบอกว่า ทำงานกับคน ต้องเข้าใจ อ่านคนออก บอกคนได้ ใช้คนเป็น โดยใช้ประสบการณ์จากการเป็นลูกจ้างมาก่อน จึงเข้าใจหัวอกลูกน้อง  “ผมเอามาจากตัวเอง ผมเคยกินเงินเดือนมาก่อน ผมต้องการอะไร ทำไมถึงลาออก แล้วจะทำอย่างไรให้ Key person ของผม ไม่ลาออกแล้วหนีไปเหมือนอย่างผม ผมรู้ว่าเขาคิดอย่างไร ก็คิดไม่ต่างจากผมนั่นแหล่ะ” 

การถอดหัวใจของลูกจ้าง จากคนที่เคยเป็นลูกจ้างมาก่อน ทำให้ค้นพบว่า คนทำงานองค์กรหวังแค่ การมีค่าตอบแทนที่เป็นธรรม มีความมั่นคงในการทำงาน มีโอกาสเติบโต และความสบายใจในบรรยากาศที่ทำงาน และนั่นคือสิ่งที่เขาต้องตอบสนอง เพื่อชนะใจลูกน้อง

จากนั้นก็มาหาสูตร “พิชิตใจลูกค้า” เขาว่า ไม่ต่างกัน คือต้องเริ่มจากรู้ว่า “ลูกค้าต้องการอะไร” คำตอบที่ได้ คือ “คุณภาพ ราคา เวลา บริการ ความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” 

เขาเริ่มอธิบายตั้งแต่ว่า “คุณภาพ” ที่ต้องเป็นที่หนึ่ง ไม่ผิดเพี้ยน “ราคา” ต้องสมเหตุสมผล ขณะ “เวลา” ถือเป็นหัวใจของธุรกิจก่อสร้าง ที่ต้องตรงต่อเวลา ไม่ล่าช้า กำหนดเวลาได้แน่นอน ตามมาด้วย “บริการ” ทั้งขณะก่อสร้างและบริการหลังการขาย แม้แต่อาคารสร้างเสร็จแล้วแต่เกิดปัญหาก็ต้องรับผิดชอบ มีปัญหาลงพื้นที่แก้ไขทันที ส่วน “ความปลอดภัย” ต้องให้ความสำคัญสูงสุด หากเกิดความผิดพลาด หรือกระทบกับใครต้องรับผิดชอบ และดูแลให้ดีกว่าข้อกำหนดทางกฎหมาย ปิดท้ายกับ “สิ่งแวดล้อม” ที่ต้องไม่ละเลยความสำคัญ แล้วบริหารทุกมิติเหล่านี้ให้ “ดีที่สุด”

“ผมทำธุรกิจมาไม่ค่อยประสบปัญหาอะไร ส่วนหนึ่งเพราะมีประสบการณ์เป็นลูกจ้างมาก่อน ฐานรากผมค่อนข้างแข็งแรง แล้วผมมองเห็นปัญหาทั้ง การเงิน การบริหารคน ปัญหาด้านเทคนิคต่างๆ ที่สำคัญผมไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่มีทีมงานช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ฉะนั้นทุกปัญหาแก้ได้ ทุกปัญหามีทางออก ถ้าไม่มีทางออก ผมก็แค่ออกทางเข้า”

ในวันนี้มีแต่คนตั้งคำถามว่า ทำธุรกิจอย่างไรให้ยั่งยืน สำหรับผู้นำแห่งฤทธา เขาบอกว่า ต้องมองปัญหาล่วงหน้า โดยยกตำราที่เคยศึกษามาเมื่อหลายปีก่อน อย่าง “การวิเคราะห์ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น” (Potential Problem Analysis) เพื่อหาวิธีรับมือกับปัญหาและการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ขณะปัญหาใหญ่ๆ ในโลก เขาว่า มีแค่ 3 แบบ หนึ่ง เกิดขึ้นแล้วไม่ต้องไปทำอะไร ปล่อยให้เวลาเป็นตัวแก้ปัญหา สอง เกิดแล้วต้องใช้ความรู้ความสามารถในการแก้ และสาม เกิดแล้วไม่ต้องแก้ ก็แค่ปล่อยวาง เพราะมัน..เป็นเช่นนั้นเอง

“ผมมีประสบการณ์มาไม่น้อยกว่า 40 ปี สิ่งที่อยากแชร์คือ นักธุรกิจ ต้องมีความเชื่อมั่นว่า เราทำได้ มันจะดึงศักยภาพภายในจิตใต้สำนึกมาช่วยเราเอง สอง ต้องรู้จริงในสิ่งที่ทำ ไม่มีอะไรยาก แล้วก็ไม่มีอะไรง่าย เพราะถ้ายาก ต้องไม่มีคนทำได้ แต่ถ้าง่าย เขาก็คงทำได้ทุกคน ฉะนั้นทุกอย่างอยู่ที่การบริหารจัดการของเราเอง” เขาบอก

ก่อนปิดท้ายกับกุญแจแห่งความสำเร็จ อย่าง R-Responsibility มีความรับผิดชอบ I-Integrity มีความซื่อสัตย์ T-Technology ใช้วิทยาการใหม่ๆ มาบริหารจัดการ T-Time ทำอะไรให้ ทันเวลา ถูกเวลา และตรงเวลา ปิดท้ายกับ A-Altruism ต้องเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น  

ถ้ายาวไปก็จำสั้นๆ แค่ “RITTA” เพราะนี่แหล่ะวิถีซัคเซสของพวกเขา

.................................................

Key to success

คมคิด“สุวัฒน์ เชาว์ปรีชา”

๐ ความสำเร็จเกิดจากความรู้และการลงมือทำ

๐ ทุกความสำเร็จต้องผ่านการทำงานหนักและอดทน

๐ ทำธุรกิจต้อง เรียนรู้ ฝึกหัด ปฏิบัติ และพัฒนา

๐ สงคราม ความรัก และธุรกิจ เริ่มต้นแล้วไม่รู้จุดจบ

๐ ทำธุรกิจฐานรากต้องแข็งแกร่ง