อสส.สั่งฟ้อง '164ผู้ต้องหาคดียูฟัน' ผิดพรบ.อาชญากรรมข้ามชาติ

อสส.สั่งฟ้อง '164ผู้ต้องหาคดียูฟัน' ผิดพรบ.อาชญากรรมข้ามชาติ

อัยการสูงสุด สั่งฟ้อง 164 ผู้ต้องหาคดีแชร์ยูฟัน ผิดพ.ร.บ.อาชญากรรมข้ามชาติและอื่นๆ รวม 5 ข้อหา ท้ายฟ้องให้ชดใช้เงินกว่า 351 ล้าน

เมื่อเวลา 15.30 น. พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการคดีอาญา 9 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 1. นายอภิชรัชฏ์ แสนกล้า อายุ 40 ปี 2. นายรัฐวิชญ์ ฐิติอรุณวัฒน์ อายุ 34 ปี 3. นายไชธร ทองหล่อเลิศ อายุ 41 ปี 4. ว่าที่ร้อยตรีฤทธิเดช วรงค์ อายุ 39 ปี 5.นางสาวมนพรรณ์ ธาราบัณฑิต อายุ 41 ปี 6. นางสาวพีรญา หาญพรม อายุ 26 ปี 7. นายโชติพัฒน์ วุฒิพันธุ์โภคิน อายุ 38 ปี 8. นางสาวนิภาพร ละมี อายุ 36 ปี 9. นายธีรวัจน์ พัชรสุยะใหญ่ อายุ 21 ปี 10. นางสาวณัฎฐ์วรัญช์ อุตมะแก้ว อายุ 24 ปี 11. นายบุน เกียท ชู หรือ นายชัยสงค์ วนัสบดีวงศ์ อายุ 36 ปี 12. นายเควิน ลัย อายุ 48 ปี 13. นายหยาง หยวนเฉา เป็นจำเลยที่ 1 - 13 ในความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ , พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง , พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และประมวลกฎหมายอาญาในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน รวม 5 ข้อหา จำนวน 20 กระทง พร้อมท้ายฟ้องขอให้จำเลยร่วมกันคืนเงินแก่ผู้เสียหาย 2,451 คน รวม 351,556,314 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

คำฟ้องโจทก์บรรยายว่า เดิมบริษัทยูฟัน สโตร์ มี นายนีโอ  ออง กับพวก สัญชาติมาเลเซีย ซึ่งยังหลบหนี เป็นกรรมการบริหาร บริษัทซึ่งตั้งอยู่ที่แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม. โดยเมื่อปี 2557 ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้ประกอบธุรกิจขายตรงในสินค้าหลายจำพวก โดยมีการกำหนดวิธีการดำเนินการ ราคาขายปลีก ชื่อและชนิดสินค้า รวม 3 ยี่ห้อ โดยมีการจ่ายผลตอบแทนแก่สมาชิก หลายช่องทาง อาทิ กำไรจากยอดขาย โบนัส เป็นต้น ส่วนบริษัท ยูฟัน พร็อพโพรตี้ กับอีกสองบริษัท ก็เป็นบริษัทอยู่ในบริษัทของยูฟัน สโตร์ ต่อมา เมื่อ 25 ตุลาคม 2556 - 8 เมษายน 2558 จำเลยทั้ง 13 รายกับพวกที่ยังไม่ได้ฟ้อง ได้ร่วมกันขอจดทะเบียนบริษัทยูฟัน สโตร์ และบริษัทในเครือ เพื่อร่วมกันกระทำความผิดในเขตประเทศ มาเลเซีย และออสเตรเลีย โดยมีการวางแผนที่ประเทศมาเลเซียเพื่อกระทำความผิดในกฎหมายไทย และออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ ในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ให้กระทำความผิดเกี่ยวกับการขายตรง กฎหมายคอมพิวเตอร์ ร่วมกันฉ้อโกงคนไทย และกู้ยืมเงิน ฉ้อโกงคนไทย มีส่วนร่วมในการจัดการ ช่วยเหลือในการกระทำความผิดดังกล่าว ซึ่งคดีดังกล่าวมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป ทั้งนี้พวกจำเลยได้แสดงหาผลประโยชน์ทางการเงิน ทรัพย์สิน โดยกระทำในเขตแดนของรัฐมากกว่าหนึ่งรัฐ

 เมื่อบริษัทยูฟัน ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรงในประเทศไทย พวกจำเลยได้ร่วมชักชวนบุคคลเข้าร่วมในเครือข่ายในการประกอบธุรกิจ โดยตกลงว่าจะให้ผลตอบแทน จากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่าย ที่คำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมที่เพิ่มขึ้นและร่วมกันประกอบธุรกิจ โดยไม่เป็นตามแผนการจัดการจำหน่าย และไม่เป็นไปตามแบบแผนที่ได้จดทะเบียนไว้ โดยพวกจำเลยได้เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลเป็นเท็จ เสนอขายหน่วยลงทุน ผ่านระบบออนไลน์ ชื่อยูโทเคน โดยแอบอ้างว่า ค่าหน่วยลงทุนยูโทเคน จะมีราคาสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง เมื่อลงทุนในยูโทเคนและเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งล้วนเป็นความเท็จทั้งสิ้น เพราะความจริงแล้วพวกจำเลยไม่ได้ขอจดทะเบียนขาย หน่วยการลงทุนที่ชื่อ ยูโทเคน แต่อย่างใด และจำเลยยังกำหนดราคาหน่วยลงทุนยูโทเคนให้สูงขึ้นเอง ไม่ได้เกิดจากความต้องการของตลาดแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันกู้ยืมและฉ้อโกงประชาชนหลายครั้ง โดยหลอกว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่าย

 พฤติการณ์ของจำเลยมีการแบ่งหน้าที่กันทำโดยเป็นผู้บริหาร เป็นพนักงาน เป็นแม่ข่ายหาสมาชิก เป็นผู้ชักชวนจูงใจ ให้ประชาชนสมัครเป็นสมาชิก โดยมีเจตนาหลอกลวงด้วยการโฆษณา ประกาศทางคอมพิวเตอร์ สื่อสิ่งพิมพ์ มีการจัดบรรยายหลอกลวงตามโรงแรมใหญ่ๆ ในกรุงเทพ และจังหวัดต่างๆ และในต่างประเทศ ให้ประชาชนรวมกลุ่มกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ได้สร้างการประกาศหลอกลวงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมี นางสำราญ วันสุนทะ กับพวกรวม 2,451 คน ตามบัญชีที่โจทก์แนบมาท้ายฟ้องนี้เป็นผู้เสียหาย จากการกระทำของจำเลยทั้ง 13 นอกจากนี้จำเลยซึ่งไม่ใช่สถาบันการเงินตามกฎหมาย ยังได้หลอกลวงประชาชนว่า บริษัทยูฟัน สโตร์ ยังมีหน่วยลงทุนอีก คือ 1. โครงการสตาร์แพ็คเกจ 2. โครงการรีจีสเทรชั่น โดยผู้ลงทุนจะได้โบนัสและส่วนลด เพื่อไปซื้อหน่วยลงทุนยูโทเคนซ้ำซ้อนอีก และแบ่งเกรดการลงทุนเป็น 5 ระดับ คือ 1 ดาว ถึง5 ดาว มูลค่า 17,500 – 1,750,000 บาท ซึ่งมีวิธีการให้ลูกค้าเก่าไปชวนลูกค้าใหม่ โดยรายเก่าจะได้ผลตอบแทน 12 % และผลตอบแทนอื่นๆ จากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของหน่วยยูโทเคน ลงทุนมากได้มาก ลงทุนน้อยก็ได้น้อย สูงสุดถึง 410,000 บาทต่อปี เป็นอย่างต่ำ หรือเป็นร้อยละ 2,520 บาทต่อปี ซึ่งสูงกว่าของสถาบันการเงินตามกฎหมายที่จะจ่ายได้ในประเทศ ทั้งที่ความจริงจำเลยทั้ง 13 ราย มิได้ลงทุนในกิจการใดๆ ที่ให้ผลตอบแทนเลย ซ้ำค่าหน่วยลงทุนยูโทเคนก็ไม่ได้สูงขึ้น แต่พวกจำเลยได้อุปโลกน์ขึ้นมาเองทั้งหมดเป็นเพียงอุบายหลอกลวง อำพรางกิจการซึ่งล้วนแต่เป็นเท็จทั้งสิ้น สร้างความเสียหายแก่ประชาชนทั้งสิ้น 351,556,314 บาท ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้ง 13 คนให้การปฏิเสธ ซึ่งจำเลยทั้งหมดถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ

ทั้งนี้  ศาลได้รับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำ อ.2279/2558 และนัดเบิกตัวจำเลยทั้ง 13 คน มาสอบคำให้การในวันที่ 6กรกฎาคมนี้ เวลา 09.00 น.

 ขณะเดียวกัน เมื่อเวลา 15.45 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วยนางทรงรัตน์ เย็นอุรา อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอัยการสูงสุด ร่วมแถลงข่าวอัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดียูฟัน สโตร์ แชร์ลูกโซ่ ฉ้อโกงประชาชน โดยนายวันชัย กล่าวว่า คดีนี้มีการกระทำความผิดทั้งในและต่างประเทศ และมีผู้ต้องหาหลายคนเป็นชาวต่างชาติจะถือเป็นความผิดนอกราชอาณาจักร ตามป.วิอาญา มาตรา 20 ทาง นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 164 ราย และในวันนี้ (3 ก.ค.) อัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยต่อศาลอาญาแล้ว จำนวน 13 ราย ในความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งมี โทษจำคุก 4-15 ปี ถือเป็นโทษบทหนักสุด และข้อหาอื่นๆ รวม 5 ข้อหา และสั่งไม่ฟ้องในข้อหาร่วมกันประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ซึ่งผู้ต้องหาได้มีการกำหนดหน่วยเงิน (ยูโทเคน) ขึ้นมาเอง จึงไม่เข้าเงื่อนไขข้อกฎหมาย ไม่เป็นความผิดตามฟ้อง นอกจากนี้อัยการสูงสุดยังขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ต้องหาทั้ง 164 ราย ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 351,556,314 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่กู้ยืมไป จนกว่าจะชำระให้แก่ผู้เสียหายทั้งหมด จำนวน 2,451 ราย จนแล้วเสร็จด้วย

 นายวันชัย กล่าวอีกว่า ส่วนผู้ต้องหาอีก 17 รายที่ได้ประกันตัวไปก่อนหน้านี้ ซึ่งทางอัยการได้นัดให้มารายงานตัววันที่ 28 ก.ค. นี้ หากไม่มีเหตุขัดข้องที่ต้องเลื่อนนัดทางอัยการก็จะส่งตัวฟ้องในวันดังกล่าวเลย ซึ่งตามกระบวนการผู้ต้องหาทั้ง 17 รายจะต้องยื่นประกันต่อศาลอีกครั้ง ส่วนผู้ต้องหาที่หลบหนีไปต่างประเทศ อัยการจะแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการทำสำนวนขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาที่อัยการฝ่ายสำนักงานต่างประเทศ เพื่อพิจารณาขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อไป

 ด้านนางทรงรัตน์ กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีสำคัญ อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย อัยการจากสำนักงานคดีอาญา และอัยการจากสำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร โดยมีอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาเป็นหัวหน้าคณะ รับผิดชอบดำเนินคดีในชั้นศาล ส่วนผู้ต้องหาที่ยังไม่ได้ตัวมาจำนวน 134 ราย ประกอบด้วย บุคคลธรรมดา 130 ราย และนิติบุคคล 4 ราย ทางอัยการได้แจ้งให้ทางพนักงานสอบสวนติดตามจับกุมตัวมาฟ้องภายในอายุความ 15 ปีต่อไป สำหรับการเยียวยาเงินให้แก่ผู้เสียหายคงต้องรอศาลมีคำสั่งว่าจะให้จำเลยชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายก่อนถึงจะดำเนินการได้