ประเด็นกรีซกดดัน

ประเด็นกรีซกดดัน

สรุปสภาวะตลาดสหรัฐฯ และยุโรป (25 มิ.ย.-1 ก.ค. 2558)

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐฯและยุโรปปรับตัวลง โดย DJIA -1.2%, DAX -2.5%, CAC ฝรั่งเศส -3.2% และ FTSE -3.5% ความกังวลต่อสถานการณ์ในกรีซที่มีโอกาสสูงที่จะผิดนัดชำระหนี้กับ IMF เนื่องจากขอทำประชามติในวันอาทิตย์ที่ 5 ก.ค.ว่าจะรับเงื่อนไขแผนช่วยเหลือทางการเงินจากเจ้าหนี้หรือไม่ โดยรัฐบาลกรีซประกาศปิดธนาคารพาณิชย์, ตลาดหุ้น, ตลาดตราสารหนี้จนถึงวันที่ 6 ก.ค. พร้อมจำกัดวงเงินการถอนเงินของประชาชนผ่าน ATM ที่วันละ 60 ยูโร

สรุปสภาวะตลาดหุ้นจีน (25 มิ.ย.-1 ก.ค. 2558)

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นจีนปรับตัวลง 13.6% ปรับตัวลงแรงอีกครั้ง จากความกังวลต่อการปรับตัวขึ้นร้อนแรงต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้า อีกทั้งนักลงทุนบัญชีมาร์จิ้นทยอยปิดสถานะต่อเนื่อง หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลงแรงต่อจากสัปดาห์ก่อน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ YTD ปรับตัวขึ้นมากสุด นอกจากนี้ตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังส่งสัญญาณอ่อนแอ โดยดัชนี HSBC PMI ภาคการผลิต เดือนมิ.ย. เท่ากับ 49.4 จุด สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 49.2 จุด และเป็นเดือนที่ 4 ดัชนีดังกล่าวต่ำกว่า 50 จุด แม้ว่าจะมีประเด็นบวกธนาคารกลางประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลงก็ตาม

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา (25-30 มิ.ย. 2558)

SET INDEX ปรับตัวลงในสัปดาห์ที่ผ่านมาทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก จากความกังวลต่อกรณีกรีซ หลังกรีซขอทำประชามติในวันที่ 5 ก.ค.เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะรับแผนช่วยเหลือทางการเงินจาก EU หรือไม่ ส่งผลให้กรีซผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 30 มิ.ย. ปิดที่ระดับ 1,504.55 จุด ลดลง 13.71 จุด หรือ -0.90% ณ วันที่ 30 มิ.ย.

สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้า (3-9 ก.ค. 2558)

MBKET คงน้ำหนักการลงทุนเป็น “กลาง” ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 16 พร้อมประเมินกรอบแกว่ง SET INDEX ระหว่าง 1,480-1,520 จุด ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ได้แก่

- การปรับพอร์ตการลงทุนในกลุ่มธนาคารของสถาบันทั้งในและต่างประเทศ หลังแนวโน้มผลการดำเนินงานใน 2Q58 ของกลุ่มธนาคารยังคงอ่อนแอจากระดับ NPLs ที่สูงขึ้น และแนวโน้มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่แคบลง จากผลกระทบเต็มไตรมาสของการลดอัตราดอกเบี้ย กนง.

- พัฒนาการกรีซกับผลการทำประชามติ วันที่ 5 ก.ค. เพื่อประเมินสถานภาพการเป็นสมาชิกในกลุ่มอียู รวมถึงโอกาสการขอรับเงินช่วยเหลือจากทางเจ้าหนี้ Troika รอบใหม่ จะมีความเป็นไปได้หรือไม่

         - หากผลการลงประชามติเป็น “โน” โอกาสที่กรีซจะไม่ได้รับการพิจารณาเงินช่วยเหลือรอบใหม่จากทางเจ้าหนี้ มีความเป็นไปได้สูง และอาจเกิดความเสี่ยงต่อการเป็นสมาชิกในกลุ่มอียู

         - แต่หาก ผลการลงประชามติเป็น “เยส” นั่นหมายความว่าคณะรัฐบาลของกรีซ และ นายกฯ กรีซ จะไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ แต่กรีซจะมีโอกาสได้รับเงินช่วยเหลือรอบถัดไป หากยอมรับในเงื่อนไขของเจ้าหนี้

ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุน เราคงแนะนำ “เลือกเก็งกำไรเป็นรายตัว” มากกว่าจะมองภาพรวมของตลาดหุ้นไทยที่เผชิญกับแรงกดดันของการปรับพอร์ตในหุ้นหลักกลุ่มธนาคารที่น่าจะต่อเนื่องถึงสัปดาห์หน้า

ปัจจัยสำคัญอื่นๆ ในสัปดาห์หน้า ได้แก่

1. พัฒนาการกรณีกรีซ และเจ้าหนี้ หลังผลการทำประชามติวันที่ 5 ก.ค.

2. ติดตามการเยือนญี่ปุ่นของท่านนายกฯ ตามกำหนดการจะมีการลงนามโครงการทวาย ไทย-ญี่ปุ่น-พม่า ในวันที่ 4 ก.ค.

3. การประชุม BoE ในวันที่ 9 ก.ค.

4. ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต-บริการ ของอียู และ อังกฤษ / ราคาบ้าน และผลผลิตภาคอุตฯ ในอังกฤษ / ภาวะการจ้างงาน และ รายงานการประชุม FOMC ของสหรัฐฯ / ดัชนี HSBC PMI ภาคบริการ ของจีน / ดัชนีชี้นำ ของญี่ปุ่น

                                                           ---------------------------------------

ที่มา...บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ