'ไทยพาณิชย์' แจงปมจำกัดคุณสมบัติตำแหน่งเฉพาะ

'ไทยพาณิชย์' แจงปมจำกัดคุณสมบัติตำแหน่งเฉพาะ

"แบงก์ไทยพาณิชย์" เข้าพบ สกอ. ชี้แจงเหตุรับคนเข้าทำงานจำกัดมหา'ลัย ลั่นเป็นตำแหน่งเฉพาะ ส่วนตำแหน่งทั่วไปรับทุกมหาวิทยาลัย

พร้อมเดินสายชี้แจงทุกแห่ง ด้าน "พินิติ" แนะควรรับคนเข้าทำงานตามศักยภาพมากกว่าชื่อเสียงสถาบัน เผยมหาวิทยาลัยเป็นนิติบุคคล สกอ. ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวยกเลิกธุรกรรมทางการเงินได้ ขณะที่ ประธาน ทปอ.มรภ. ยอมรับมหาวิทยาลัยเรื่องคุณภาพอาจแตกต่างกันบ้าง แต่ธนาคารควรเปิดโอกาสรับเด็กเข้าทำงาน


รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวภายหลังหารือกับทางผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ นำโดยนายวรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดทรัพยากรบุคคล และ น.ส.อารยา ภู่พานิช รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกิจกรรมเพื่อสังคมและสื่อสารองค์กร เกี่ยวกับกรณีที่มีการแชร์ในโซเซียลเน็ตเวิร์ต การประกาศรับสมัครงานของ ธ.ไทยพาณิชย์ ในตำแหน่งที่ปรึกษาทางการเงินฝึกหัด (Financial Advisor Trainee) สาขาเศรษฐศาสตร์ บริหารการเงิน สาขาการเงินการธนาคาร สาขาการบัญชี โดยระบุคุณสมบัติว่าเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.75 จากมหาวิทยาลัยเฉพาะ 14 สถาบัน
ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ม.มหิดล ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ม.อัสสัมชัญ ม.กรุงเทพ ม.บูรพา ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ ม.สงขลานครินทร์ ม.หอการค้าไทย ม.แม่ฟ้าหลวง ว่า ทางผู้บริหารธนาคารได้เข้ามาพูดคุยและยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดทางเทคนิคของธนาคาร และยืนยันว่าทางธนาคารรับนิสิตนักศึกษาทุกแห่งเข้าทำงาน แต่สำหรับในตำแหน่งดังกล่าวที่รับเฉพาะจากสถาบันการศึกษา14แห่งนั้น เนื่องจากเป็นตำแหน่งเฉพาะจึงไม่ได้เปิดรับทั่วไป ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ก็เปิดโอกาสให้บัณฑิตจากทุกสถาบันเข้ามาแข่งขันและไม่มีการปิดกั้นใด ๆรวมทั้ง บุคลากรของธนาคารขณะนี้ก็รับมาจากหลายสถาบันทั่วประเทศ ทั้งนี้ ต่อจากนี้ทางธนาคารจะไปชี้แจงให้สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ


“ผมได้รับฟังคำชี้แจงจากผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ และได้แนะนำไปว่าการคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงานควรดูจากสมรรถนะ ศักยภาพของแต่ละคนมากกว่าดูจากสถาบันการศึกษา หรือเอาปริญญาเป็นตัวตั้ง เพราะขณะนี้บัณฑิตทุกสถาบันการศึกษาล้วนมีความรู้ความสามารถ อีกทั้งเนื้อหา หลักสูตรก็ไม่น่าจะแตกต่างกัน” เลขาธิการ กกอ.กล่าว


อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจำนวนสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย มีประมาณ151แห่ง ซึ่งถือว่ามีมากและเพียงพอแล้วที่จะรับคนเข้าทำงาน แต่จากนี้มหาวิทยาลัยก็ต้องเน้นเรื่องของคุณภาพเป็นหลักและที่ผ่านมา สกอ.เองดูแลมาตรฐานการศึกษามาตลอด โดยย้ำว่าการจัดการศึกษาต้องเน้นที่คุณภาพของบัณฑิตเป็นสำคัญยิ่งตอนนี้เปิดประชาคมอาเซียน สถาบันอุดมศึกษาต้องปรับตัว แข่งขันกันเรื่องของคุณภาพมากขึ้นเพื่อให้บัณฑิตไทยสามารถไปแข่งขันกับนานาชาติได้และสกอ.มีนโยบายจะพัฒนากลุ่มมหาวิทยาลัยใหม่อย่าง
กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ40แห่งและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)9แห่งเพื่อให้มีความชัดเจนในการพัฒนาแรงงานที่มีความสามารถทักษะระดับสูง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมไฮเทคของประเทศไทยในอนาคตด้วยโดยทางสกอ.จะมีการจัดโครงการพื้นฐาน เชิญกลุ่มมหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่มาประชุม สนับสนุนพัฒนาคน ทิศทางในการพัฒนาคนเร็วๆ นี้


รศ.ดร.พินิติ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ (ทปอ.มรภ.)มีท่าทีจะยกเลิกการทำธุรกรรมกับธนาคารไทยพาณิชย์ นั้นสกอ.คงไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะมหาวิทยาลัยราชภัฎ และมหาวิทยาลัยทุกแห่งเป็นนิติบุคคล มีอำนาจในการบริหารจัดการเรื่องการเงินของตนเอง ดังนั้น ทุกอย่างเป็นเรื่องของสถาบันอุดมศึกษาที่สามารถดำเนินการได้ สกอ.ไม่มีอำนาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวแต่อย่างไร


ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.)เพชรบุรี ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ (ทปอ.มรภ.)กล่าวว่าขณะนี้ทางธ.ไทยพาณิชย์ ได้ติดต่อมาว่าจะเข้ามาพูดคุยทำความเข้าใจในที่ประชุม ทปอ.มรภ. ในวันที่3ก.ค.นี้ ซึ่ง ทางทปอ.มรภ.ก็ยินดีรับฟังความคิดเห็นจากทางธ.ไทยพาณิชย์ ดังนั้น ในการประชุมทปอ.มรภ. จะหารือกันอีกครั้งหลังจากรับฟังข้อชี้แจงของธ.ไทยพาณิชย์ ว่าจะดำเนินการยกเลิกธุรกรรมทางการเงินกับทางธนาคารหรือไม่อย่างไร ส่วนกรณีที่ทางธนาคารชี้แจงว่า เปิดรับเฉพาะ14สถาบัน เนื่องจากเป็นตำแหน่งเฉพาะนั้น เป็นเหตุผลที่ไม่สมควรจะมากล่าวอ้าง เพราะหลักสูตรที่ใช้ในการเรียนการสอนของทุกมหาวิทยาลัยล้วนไม่แตกต่างกัน และผ่านการรับรองจากสกอ.


ดังนั้น ทางธนาคารควรเปิดกว้างในการรับคนเข้าทำงานจากทุกสถาบันการศึกษา ไม่ใช่จำกัดเฉพาะสถาบันใดสถาบันหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้น ทางมหาวิทยาลัยก็ต้องกลับมาทบทวนถึงการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเราก็ยอมรับเรื่องคุณภาพที่แต่ละมหาวิทยาลัยอาจมีมากมีน้อยแตกต่างกันไป แต่ทุกแห่งล้วนได้มีการปรับปรุง พัฒนาการจัดการเรียนการสอนมาตลอด เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ


ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏ มี 40 แห่ง มีนักศึกษา ประมาณ522,773คนปรัชญาของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้น เพื่อพัฒนาท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดที่มหาวิทยาลัยจัดตั้งอยู่ ซึ่งแต่ละแห่งล้วนมีการกำหนดปรัชญา ที่แตกต่างกันออกไป ตามบริบทของแต่ละท้องถิ่น โดยมีปณิธานเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น โดยท้องถิ่นและเพื่อท้องถิ่น


มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มี 9 แห่งมีนักศึกษา ประมาณ147,780คนปรัชญาของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อเป็นมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี ควบคู่กับทำการวิจัยสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม เป็นเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดแรงงานอย่างแท้จริง โดยที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ได้ดำรงภารกิจในการผลิตบัณฑิตที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผลิตบัณทิตในสายวิชาชีพเพื่อออกมารับใช้ประเทศชาติ พัฒนาประเทศชาติซึ่งแต่ละแห่งจะมีปรัชญาแตกต่างกันออกไป

ภาพ-onec.go.th