ไทยพาณิชย์คงเป้าเศรษฐกิจปีนี้โต 3%

ไทยพาณิชย์คงเป้าเศรษฐกิจปีนี้โต 3%

ธนาคารไทยพาณิชย์ คงจีดีพีปีนี้โต 3% หวั่นภัยแล้ง-ประมง ฉุดจีดีพีโตต่ำกว่าเป้า เชื่อกนง.ปรับลดดอกเบี้ยอีก 0.25% ช่วงปลายปี

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ยังคงประมาณเศรษฐกิจไทยในปีนี้โต 3% แม้ว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกยังชะลอตัว โดยคาดหวังการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ที่เร่งตัวขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีโอกาสโตมากกว่า 3% ได้ หากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2558 เบิกจ่ายได้มากกว่า 70% และเร่งลงทุนในโครงการก่อสร้างขนาดเล็ก จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้

นายพชรพจน์ ยังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงอีกหลายด้าน โดยเฉพาะมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับ ปัญหาภัยแล้งและผลกระทบจากการหยุดเดินเรือของเรือประมง หากสถานการณ์ยืดเยื้อจะกระทบการส่งออกสินค้าเกษตรและประมงของไทย ทำให้เศรษฐกิจมีโอกาสเติบโตต่ำกว่า 3% และยิ่งซ้ำเติมภาคการส่งออกที่ปีนี้ที่คาดว่าจะหดตัวถึง 1.5% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว 1.3% หลังจากที่ 5 เดือนแรกการส่งออกหดตัวแล้วถึง 4.2% แม้ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง อยู่ที่ 34 -35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งปีหลัง ก็ไม่สามารถจะช่วยให้การส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ ส่วนวิกฤตหนี้ในกรีซ เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย เนื่องจากนักท่องเที่ยวกรีซ และการส่งออกไทยไปยังกรีซ มีสัดส่วนเพียง 1% เท่านั้น

ทั้งนี้ เชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เหลือ 1.25% ในช่วงปลายปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ เพราะอัตราเงินเฟ้อยังต่ำสามารถที่จะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยในการกระตุ้นได้อีก

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2559 น่าจะขยายตัวได้ดีกว่าปีนี้เล็กน้อย เติบโต 3.3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะฟื้นตัว และมีเม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐเพิ่มขึ้น และการส่งออกจะกลับมาขยายตัวได้ 3.6% และมีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยจะขยับขึ้น 0.25-0.50% ตามแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐที่ปรับขึ้น

นอกจากนี้ นายพชรพจน์ ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในขณะนี้มีความแข็งแกร่งมากกว่า 18 ปีที่ผ่านมาที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เนื่องจากปัจจุบันไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 40% ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่าหนี้ระยะสั้น 2-3 เท่า และสามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกได้