'ช้า' ยังไง.. ไปได้ชัวร์

'ช้า' ยังไง.. ไปได้ชัวร์

จากวาทกรรมคนดังว่าด้วย ‘Slow life’ ที่บานปลายหลายความเห็น แต่ถ้าหมายถึงแค่ “ชีวิตที่เลือกได้” กูรูมีคำตอบ เลือกอะไร เลือกอย่างไร แล้วจะ "ดี"

เบื่องานประจำ อยากมีอาชีพอิสระ ทำอะไรดี..

อยากไปเที่ยวแบ็คแพ็คยุโรป 6 เดือน ต้องทำยังไง..

เจ้านายขี้บ่น งานก็หนัก อยากย้ายงานใหม่ มีใครแนะนำบ้าง..

ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเห็นประโยคทำนองนี้อยู่บนโลกออนไลน์ โซเชียลเน็ตเวิร์คทั้งหลาย หรือกระทั่งคนรู้จักมาบ่นให้ฟังกันต่อหน้า โดยเฉพาะกับ “คนรุ่นใหม่” ที่หลายตำราฟันธงตรงกันว่า ขี้เบื่อ ไม่อดทน ช่างฝัน จนบางครั้งถึงขั้นไม่เข้าใจโลกก็มี!

เวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน โลกก็ย่อมเปลี่ยน ในระยะหลังจากผลสำรวจอาชีพในฝันจึงมีอาชีพนอกกระแสอย่างผู้กำกับ.. เชฟทำอาหาร.. บาริสต้าชงกาแฟ.. นักเขียนนิยาย.. ฯลฯ ติดโผเข้ามาด้วย แม้จะยังไม่ถึงขั้นนำโด่งขึ้นหัวแถว แต่แนวโน้มที่เกิดขึ้นย่อมแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ชีวิตของคนรุ่นใหม่คาดหวังทางเลือกที่มากกว่าเก่า

สอดรับกับแนวทางการใช้ชีวิตแบบ ‘Slow Life’ ที่ค่อนข้างทับซ้อนกับไลฟ์สไตล์ ‘Hipster’ โดยทั่วไปอาจนึกถึง การทำตัวนอกกระแส ไม่ทำงานประจำ ดำเนินชีวิตอย่างอิสระ มีเวลานั่งชิล อยู่ในที่สวยๆ เก๋ๆ แม้แต่กระบองเพชร หรือ กาแฟดริปก็ถูกเหมารวมเข้าไปด้วย

ความทับซ้อน และมักถูกเหมารวมจนสโลว์ไลฟ์กลายเป็นเหยื่อวาทกรรมถูกเหมารวมและปั้นใหม่ในรูปทรงของฮิปสเตอร์กระทั่งกลายเป็นเรื่องน่าหมั่นไส้ปนไม่เห็นด้วยในสายตาใครหลายคน ถ้ามองข้ามคำเรียกต่างๆ ไป และพุ่งประเด็นเฉพาะแนวทางการใช้ชีวิตได้อย่างที่ฝัน สามารถกำหนดชีวิตตัวเองได้ เป็นนายของเวลา ยามต้องเร่งก็มีกำลังและความพร้อม แต่ยามผ่อนก็ทำได้อย่างที่ต้องการ

..สุขในปัจจุบัน มีความมั่นคงพอสมควร และไม่เดือดร้อนลำบากแม้กระทั่งยามปลายทางชีวิต

ถามกันตรงๆ ว่า ถ้าเลือกได้ มีใครไม่อยากเป็นแบบนั้น ? 

ชีวิตในฝัน

สาวอุดรฯ วัย 26 อย่าง ‘มุ่ย’ รุ่งทิวา ดวงตาผา ที่เรียนจบด้านนิเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มาได้ 3 ปีกว่า ด้วยความรักในตัวอักษรโดยใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนนิยาย บวกกับอาการภูมิแพ้กรุงเทพฯ ที่เคยมาพักอาศัยอยู่หลายเดือนและรู้ใจตัวเองว่า มันไม่ใช่..

การกลับบ้าน จึงเป็นคำตอบเดียวและคำตอบสุดท้ายที่เธอเลือกในวันนี้ 

"รถติด คนเยอะ ถ้าให้ไปอยู่จริงจังนี่อยู่ลำบากมาก ไม่ชอบเลย” มุ่ย เอ่ยถึงชีวิตในกรุงเทพฯ ที่เธอได้สัมผัส 

ด้วยความรักชอบในงานเขียน โดยเฉพาะงานเขียนนิยายที่มุ่ยกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการเขียนนิยายเรื่องที่ 5 แม้จะมีผลงานได้ตีพิมพ์บ้าง แต่หนทางยังอีกยาวไกล เพราะรายได้จากงานเขียนยังไม่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงชีพได้ 

“ทุกวันนี้ก็เขียนงาน พร้อมๆ กับการดูแลร้านแว่นซึ่งเป็นกิจการของที่บ้าน แล้วตอนนี้ก็เริ่มลองขายแว่นผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย ส่วนเวลาว่างอย่างช่วงเย็นก็จะไปออกกำลังกาย หรือไปนั่งเล่น อ่านหนังสือ” 

เพราะยังมีงานที่บ้านช่วยซัพพอร์ตความฝัน มุ่ยเองก็ยอมรับว่า ถ้าไม่มีก็คงยากที่จะใช้ชีวิตได้อย่างนี้ โดยเฉพาะอาจจะยิ่งยากหากต้องการเดินตามความฝันถ้ายังไม่สามารถหาเลี้ยงตัวเองให้อิ่มท้องได้ 

เมื่อถามเรื่องความกังวล มุ่ยบอกว่า “ความมั่นคง” คือ สิ่งที่เธอยังไม่แน่ใจ ถึงตอนนี้ยังมีกิจการที่บ้านให้อุ่นใจ แต่เธอก็ตั้งใจที่จะขยับขยายออกไปอยู่ด้วยตัวเองให้ได้ในอนาคต

ส่วนอีกหนึ่งสาวผู้มีอาการภูมิแพ้กรุงเทพฯ ไม่ต่างกันอย่าง ‘ตี๋’ กุลธิดา สุธีวร ที่เรียนจบด้านบรรณาธิการศึกษา จากม.บูรพา แน่นอนว่า หลังเรียนจบ ตี๋วนเวียนอยู่ในโลกตัวอักษร ทั้งปรูฟงาน ประสานงานอยู่ฝ่ายผลิต ย้ายงานบ้างเมื่อรู้สึกชีวิตไม่โอเค แต่เหตุที่ตัดสินใจหันหลังให้กรุงเทพฯ หลังจากทำงานได้ 2 ปีกว่านั้น ตี๋บอกว่า เหตุผลเรื่องสุขภาพล้วนๆ

“ไม่ได้คิดเรื่องสโลว์ไลฟ์อะไรหรอกนะ ที่ออกมาเพราะสุขภาพไม่ดี เราเป็นคนต่างจังหวัด คุ้นกับชีวิตบ้านสวน มีพื้นที่ให้ทำโน่นทำนี่ แต่พอมาอยู่อพาร์ทเมนท์แคบๆ ไปทำงานก็เจอรถติด เดินทางเหนื่อยมาก เลยตัดสินใจกลับบ้าน” ตี๋ บอก

เพราะโตมาในบ้านสวน ชอบปลูกต้นไม้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอมองหาว่า กลับบ้านไปจะทำอะไรดี.. การปลูกกระบองเพชรขาย คือ งานที่ตี๋เลือก และย้ำว่า ไม่ได้คิดเรื่องสโลว์ไลฟ์ หรือ ฮิปสเตอร์ เลยจริงๆ

“เราพอมีความรู้เรื่องต้นไม้อยู่บ้าง อยากทำธุรกิจเกี่ยวกับต้นไม้ ก็ไปดูงานที่ตลาดนัดต้นไม้ที่จตุจักรเลย ไปดูว่า เค้านิยมอะไร มีอะไรน่าสนใจบ้าง ก็คิดว่า กระบองเพชรน่าสนใจ และเห็นว่าพอมีช่องทางอยู่ เพราะที่ชัยภูมิไม่มีใครทำกระบองเพชรขายจริงจัง เลยอยากทำ ก็ไปขอความรู้จากชาวสวนที่เขาปลูกกระบองเพชรขายจริงจัง จอดรถหน้าสวน เดินเข้าไปถามเขาเลยว่า หนูอยากทำแบบนี้บ้าง ต้องทำยังไง ก็ได้ความรู้มาพอสมควร ก็ตัดสินใจที่จะทำ”

ด้วยเงินเก็บก้อนแรกจากงานประจำในกรุงเทพฯ ตี๋กำเงิน 5 พันบาทมาตั้งต้นกับงานเพาะและขายต้นกระบองเพชร ซึ่งเธอบอกว่า ขายได้ดี มีรายได้ค่อนข้างโอเคสำหรับการเลือกที่จะไม่เป็นมนุษย์เงินเดือน

“เฉลี่ยก็ขายได้ราวๆ วันละ 4 พันบาทค่ะ ถ้าวันไหนฟ้าฝนไม่เป็นใจ ก็ขายได้น้อยหน่อยประมาณพันห้าถึงสองพันบาท”

แม้รายได้จะดูเยอะ แต่ก็ต้องแลกกับการจัดสรรเงินเพื่อความมั่นคงในอนาคตที่เป็นความท้าทายสำหรับใครที่หันหลังให้การทำงานประจำ ซึ่งตี๋บอกว่า ยอดขายในทุกๆ วัน พอจะจัดสรรได้เป็นสี่ส่วน หนึ่งส่วนคือกำไร อีกหนึ่งส่วน คือ การออม โดยเป็นการออมเพื่อชีวิตในอนาคตไม่ใช่การออมเพื่อลงทุนหรือคิดต่อยอดทางธุรกิจ เนื่องจากสองส่วนที่เหลือ ตี๋กันไว้เป็นทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจต่อไป

“เอาจริงๆ มันก็ไม่ใช่ชีวิตอิสระอย่างที่คนอื่นชอบคิดกันหรอกนะ คนทำงานขายของ เขาไม่อยากหยุดขายหรอก เพราะยิ่งทำ ก็ยิ่งได้เงิน แต่มันก็ดีตรงที่ได้เป็นเจ้านายตัวเองในเรื่องของเวลา ไม่ต้องรีบไปตอกบัตร ไม่ต้องรีบเดินทาง กลับบ้านรีบนอน ตื่นเช้าไปทำงานอีก นั่นคือ ข้อดีของการกลับมาอยู่บ้าน ซึ่งถือว่า พอใจกับชีวิตตอนนี้ เพราเป็นชีวิตที่คุ้นเคย”

งานได้ผล คนเป็นสุข

มุ่ย และ ตี๋ เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของบรรดาคนรุ่นใหม่ที่กำลังค้นหาเส้นทางชีวิตที่ใช่ อย่างตี๋เอง แม้จะดูราบรื่นดี แต่ก็ไม่ได้แปลว่า จะดีได้ตลอดไป..

“สโลว์ไลฟ์ มันอาจจะเป็นวาทกรรมอย่างหนึ่งเพื่อสร้างทางเลือกให้กับชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องทำตามสิ่งที่สังคมเป็นอยู่ โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องความเร็วหรือความช้า แต่มันอาจจะหมายถึงการเลือกเองได้มากกว่า ว่า จะช้า หรือจะเร็ว” ณัฐฬส วังวิญญู กระบวนกร จากสถาบันขวัญแผ่นดินเอ่ย พร้อมแนะนำถึงใครก็ตามที่อยากจะเริ่มต้นค้นหาชีวิตในแบบที่ใช่ ไม่ว่าจะวัยไหน อาชีพอะไรนั้น สิ่งสำคัญ คือ การค้นหาตัวเองให้เจอเสียก่อนว่า รักในอะไร จากนั้นค่อยเอาสิ่งที่รักมาพัฒนาให้เกิดเป็นอาชีพ และต้องไม่ลืมที่จะพัฒนาสิ่งที่รักนั้นด้วยการมีกลุ่มเพื่อนหรือเครือข่ายที่เป็นคนคอเดียวกัน

ในความเห็นของณัฐฬส เขาเห็นว่า “ชีวิตที่มีคุณภาพ” ควรจะต้องสมดุลกันได้ทั้งเรื่องความอยู่รอด และ ความสัมพันธ์รอบตัว
เช่นเดียวกันกับ ดร.ธัญ ธำรงนาวาสวัสดิ์ Principle Partner สลิงชอท กรุ๊ป ที่แม้จะออกตัวว่า ไม่ได้เชี่ยวชาญ หรือเข้าอกเข้าใจอะไรในเรื่องสโลว์ไลฟ์ แต่ที่พอจะบอกได้ก็ในสิ่งที่มีความถนัดตามประสาคนเป็นโค้ชนั่นคือ การสรุปถึงแนวทางสำหรับใครที่อยากประสบความสำเร็จในทุกๆ ด้านของชีวิตในแบบที่เรียกว่า “งานได้ผล คนเป็นสุข” นั้นทำได้อย่างไร..

"เรื่องแรกที่ต้องทำ คือ การวางเป้าหมาย ซึ่งถึงจะมีนิยามที่แตกต่างกันไป แต่ก็ต้องวางให้ชัดเจนว่า ต้องการอะไร คิดเห็นตัวเองในอนาคต 5 ปี 10 ปีไปในทางไหน แล้วจำกัดความให้ชัดทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว" ดร.ธัญ บอก

และแถมเช็คลิสต์ให้ประกอบการตั้งเป้าหมายว่า มีทั้งหมด 4 ประการ ได้แก่ เป้าหมายนั้นมันสร้างแรงบันดาลใจให้เราอยากจะทำให้ได้ตามนั้นหรือไม่ และมันมีความท้าทายมากพอไหม มีความเป็นไปได้หรือไม่ และ จะวัดผลได้อย่างไร

“คนอยากแบ็กแพ็คไปยุโรป 6 เดือน ใครๆ ก็พูดได้ แต่ถ้ามันไม่สร้างแรงบันดาลใจได้มากพอ นั่นก็อาจไม่ใช่เป้าหมายเรา หรืออย่างเรื่องความเป็นไปได้นี่ก็สำคัญ ไม่ใช่ว่า เห็นสตีฟ จ๊อบส์, มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก เรียนไม่จบแล้วยังประสบความสำเร็จได้ ก็จะเอาแบบนั้นบ้าง มันก็ไม่ใช่แล้ว ส่วนเรื่องการวัดผลก็ยิ่งสำคัญ และจะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรมก็ได้ แต่ขอให้ชัดเจน”

ถัดจากการวางเป้าหมาย คือ การวางแบบแผนของชีวิต ว่า จะทำอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้..

“บางคนอาจจะบอกว่า ทนลำบากก่อนเพื่อจะไปสบายที่ปลายมือ ก็ตั้งใจทำงาน เก็บหอมรอมริบ เพื่อจะเลิกทำงานตอนอายุ 45 แต่บางคนก็อยากจะใช้ชีวิตสบายๆ ตั้งแต่วันนี้ โดยอาจจะเลือกทำงาน 4 วัน หยุด 3 วัน เขาก็มีสิทธิเลือกได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า อาจต้องทำงานถึงอายุ 65 นะ.. อะไรอย่างนี้เป็นต้น ไม่สำคัญว่า จะเลือกแบบไหน แต่สำคัญว่า เลือกแล้วต้องทำให้ได้ตามแผนที่วางไว้ ไม่ใช่ปากบอกว่า จะหยุด 3 วัน ไม่มีลองวีคเอ็นด์ แต่พอเพื่อนมาชวนไปเที่ยวญีปุ่นบอกตั๋วถูก ซื้อหนึ่งแถมหนึ่งก็ตัดสินใจไป แบบนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะเราไม่ได้มีวินัยทำตามแผนที่วางไว้มากพอ”

เมื่อมีเป้าหมาย มีแนวทางที่จะเดินไป ต่อมาก็ถึงเวลาค้นหาตัวเอง โดยหาจุดแข็งของตัวเองให้เจอ

“คนที่มีสิทธิจะเลือกได้ ต้องเป็นคนที่ งานง้อเรา ไม่ใช่เราง้องาน ซึ่งคนที่จะเป็นแบบนั้นได้ ต้องเป็นคนที่มีจุดเด่นชัดเจน มีความสามารถพิเศษที่คนอื่นๆ ไม่มี เราต้องหาตรงนั้นให้เจอ และเมื่อเจอแล้วก็ต้องหมั่นพัฒนาตัวเองตลอดเวลา”

หนทางหนึ่งที่จะพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นได้นั้น ดร.ธัญ แนะว่า ให้สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับตัวเอง

“เคยเห็นไหม.. ใครที่คิดอยากลาออกจากงาน แล้วไปบ่นกับคนที่อยากออกจากงานเหมือนกัน โอกาสที่คนๆ นั้นจะตัดสินใจลาออกจริงๆ ก็มีมาก นั่นเพราะสมองเราอ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นถ้าอยากประสบความสำเร็จ ก็ควรเอาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่รายรอบด้วยคนที่ประสบความสำเร็จ”

ทริคสุดท้ายจาก ดร.ธัญ คือ ฟังความเห็นจากคนรอบข้าง เพราะเราอาจไม่สามารถเห็นตัวเราเองได้ชัดเจนเท่ากับที่คนอื่นเห็น ยกตัวอย่างเช่น ครู ก็คงจะบอกว่า ตัวเองสอนเก่งหรือไม่เก่ง ได้เท่ากับให้นักเรียนบอก

“การฟังคำแนะนำจากคนอื่น ไม่ได้แปลว่า เราต้องทำตามเสียทั้งหมด เพราะสิทธิที่จะบอกว่า ไม่ใช่ หรือไม่เชื่อ ก็ยังคงเป็นของเราอยู่ดี ฉะนั้นคงไม่เสียหายอะไร ถ้ารับฟังไว้เสียก่อน” ดร.ธัญ เอ่ยตบท้าย