แบงก์ชาติจับตา3ปัจจัยเสี่ยงกดดันเศรษฐกิจไทย

แบงก์ชาติจับตา3ปัจจัยเสี่ยงกดดันเศรษฐกิจไทย

"แบงก์ชาติ" จับตาภัยแล้ง หนี้กรีซ เศรษฐกิจโลก กดดันเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ชี้มีเพียงท่องเที่ยว-การลงทุนภาครัฐช่วยหนุน

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ยังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และเปราะบาง มีเพียงภาคการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายการลงทุนของภาครัฐเท่านั้น ที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ พร้อมกันนี้ ปธปท.จะจับตาอย่างใกล้ชิด ถึงปัญหาภัยแล้ง ปัญหาความไม่แน่นอนของกรีซ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เพราะถือว่า เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง ซึ่งธปท.ไม่ได้ดูผลกระทบเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตรเท่านั้น แต่จะดูโดยรวมด้วย ว่าจะส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตหรือไม่ ส่วนกรณีกรีซนั้น ยังมองว่าตลาดการเงิน และตลาดทุนไทยสามารถรองรับความผันผวนได้ เนื่องจากได้คาดการณ์ และรับรู้ข่าวสารมาอย่างต่อเนื่องแล้ว

ทั้งนี้ การส่งออกเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา มีมูลค่า 18,228 ล้านดอลลาร์ หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 5.5% ซึ่งหดตัวมากกว่าเดือนก่อนหน้า สะท้อนแนวโน้มการส่งออกที่ยังไม่ดี โดยภาพรวม ยังคงได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ยังหดตัว เศรษฐกิจเอเชียที่ชะลอลง ส่งผลต่อความต้องการสินค้า อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกในระยะต่อไปจะขึ้นอยู่กับทิศทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า

ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 14,077 ล้านดอลลาร์ หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20.3% โดยหดตัวจากทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซา มีหมวดเชื้อเพลิง ที่หดตัวสูงตามการนำเข้าน้ำมันดิบที่ราคาในตลาดโลกยังคงหดตัว รวมทั้งปริมาณการนำเข้า หดตัวจากผลของฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งได้เร่งนำเข้าน้ำมันดิบหลังการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น

ขณะที่ยังเกินดุลการค้า 4,151 ล้านดอลลาร์ นับว่าสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.53 ที่ผ่านมา เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวสูง ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล 2,025 ล้านดอลลาร์ จากการส่งกลับกำไร และเงินปันผลของบริษัทต่างชาติในไทยเป็นสำคัญ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2,127 ล้านดอลลาร์

นางรุ่ง กล่าวว่า ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 1.27% จากปัจจัยด้านอุปทานทั้งจากราคาพลังงานและอาหารสดเป็นสำคัญ โดยราคาพลังงานหดตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และการลดเงินจัดเก็บเข้ากองทุนน้ำมันของภาครัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 0.94% อย่างไรก็ตาม มองว่าในช่วงต่อไปเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมันที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังมองว่าเงินเฟ้อระดับปัจจุบัน หรือไตรมาส 2 ถือเป็นจุดที่ต่ำสุดแล้ว

ด้านดัชนีการอุปโภคบริโภคอยู่ที่ 113.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 112.0 แต่อย่างไรก็ตาม ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากครัวเรือนยังคงระมัดระวังในการใช้จ่าย เพราะรายได้เกษตรถูกบั่นทอนจากราคา และผลผลิตสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ด้านดัชนีการลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงมาอยู่ที่ 117.2 จากเดือนก่อนที่ 117.8