ติดยารักษาได้

 ติดยารักษาได้

กรมสุขภาพจิต เผย ผู้ป่วยติดยามีอาการทางจิตหายได้หากรีบเข้ารับการรักษา

กรมสุขภาพจิต เผย ผู้ป่วยติดยามีอาการทางจิตหายได้หากรีบเข้ารับการรักษา

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การติดสารเสพติดเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่เกิดขึ้นทีละน้อย จากการใช้ยาเป็นครั้งคราวสู่การใช้ถี่ขึ้น จนใช้ทุกวัน วันละหลายครั้ง ซึ่งเมื่อใช้บ่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จะนำไปสู่ภาวะ "สมองติดยา" โดยสารในตัวยาจะเข้าไปทำลายสมองส่วนคิด ทำให้การใช้ความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลเสียไป ทำให้สมองส่วนอยาก ซึ่งมีการนำเข้าสารเสพติดสู่สมองส่วนนี้ จนเข้ามามี อิทธิพลเหนือสมองส่วนคิด

โดยเฉพาะช่วงอยากสารเสพติด ทำให้ผู้เสพติดทำอะไรตามใจตามอารมณ์มากกว่าเหตุผล ผู้ที่ใช้สารเสพติดจึงมักแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา เช่น อารมณ์ก้าวร้าว หงุดหงิด ไม่สามารถควบ คุมตัวเองได้ ขาดความยับยั้งชั่งใจ นำไปสู่ความรุนแรงในสังคมที่พบเห็นอยู่บ่อยๆ ทั้ง การปล้น ลักขโมย ทำร้ายคนใกล้ชิด ก่อเรื่องที่ผิดศีลธรรมผิดกฎหมาย ฯลฯ บางรายเกิดอาการทางจิตจนกลายเป็นผู้ป่วยสาร เสพติดที่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย ซึ่งนอกจากสมองส่วนอยากที่ผิดปกติแล้ว สมองส่วนคิดก็ถูกทำลายเรื้อรังจนเสื่อมถาวรได้

ปัญหาสารเสพติดจึงสำคัญมากถือเป็นวาระแห่งชาติ ต้องได้รับการติดตามแก้ไขอย่างจริงจัง ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ เช่น การให้ความรู้ เข้าใจและตระหนักในการเฝ้าระวังอาการเสพติดและอาการทางจิตเวช การส่งเสริมให้เยาวชนและครอบครัวมีการฝึกวินัยตั้งแต่เรื่องกินอยู่ การนอน การเล่น รู้จักการจัดการอารมณ์โกรธ ฝึกทักษะรู้จักการแก้ปัญหา การปฏิเสธ และมีพื้นที่สร้างสรรค์ในการใช้เวลาว่างอย่างมี ประโยชน์ เช่น สถานที่ออกกำลัง สถานที่ให้คำปรึกษา และกลุ่มบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม

ระดับทุติยภูมิ ในการดูแลเบื้องต้นและส่งต่อผู้เสพติดที่มีอาการทางจิตร่วมด้วย ซึ่งต้องได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 หาก บุคคลดังกล่าวไม่ยินยอมสามารถใช้มาตรา 22 บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา คือ 1) บุคคลนั้นมีภาวะเป็นอันตราย 2) มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา เพื่อนำบุคคลดังกล่าวไว้ในสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบำบัดรักษาเพื่อผลดีต่อตัวของเขาเอง

ขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันความปลอดภัยให้กับสังคมอีกด้วย และระดับตติยภูมิ ในการดูแลบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดสารเสพติด ทั้งอาการเสพติดและอาการทางจิตเวช มิให้ป่วยซ้ำจน สามารถช่วยเหลือตัวเองตามศักยภาพ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัย ผู้ที่มีความรู้ ความใส่ใจช่วยเหลือทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคมและสามารถบูรณาการองค์ความรู้และทักษะ เน้นการมีส่วนร่วมจากบุคลากร สหวิชาชีพ ทั้งในและนอกระบบสาธารณสุข เช่น ครู ตำรวจ องค์กรการปกครองท้องถิ่น พัฒนาสังคม ทหาร เป็นต้น