'องคมนตรี' ทำหนังสือถึง 'ประยุทธ์' ค้านร่างรธน. หมวดศาล

'องคมนตรี' ทำหนังสือถึง 'ประยุทธ์' ค้านร่างรธน. หมวดศาล

"ธานินทร์ กรัยวิเชียร" องคมนตรี ทำหนังสือถึง "พล.อ.ประยุทธ์" ค้านร่าง รธน. หมวดศาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์ พีพีทีวี ได้เผยแพร่ข่าวระบุว่า นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ได้ทำหนังสือถือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในหมวดที่เกี่ยวข้องกับศาลยุติธรรม โดยระบุว่า


นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในหมวดที่แก้ไขหลักการเกี่ยวกับศาลยุติธรรม


โดยหนังสือของนายธานินทร์ ลงวันที่ 23 มิ.ย.2558 และได้ส่งถึงนายกรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ระบุตอนต้นว่าเขียนในนามประชาชนไทยคนหนึ่ง


ทั้งนี้ประเด็นที่ นายธานินทร์ ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญมี 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ความไม่ชัดเจนในความหมายของคำว่า “ความยุติธรรม” ตามมาตรา 219 ที่บัญญัติให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยความหมายของหลักนิติธรรม ได้บัญญัติขยายความไว้ในมาตรา 217 เป็นหลักการพื้นฐานของหลักนิติธรรมจำนวน 5 ข้อ
นายธานินทร์ เห็นว่า การบัญญัติความหมายของคำว่า “ความยุติธรรม” เอาไว้เช่นนี้ อาจตีความได้อย่างกว้างขวาง เพราะเป็นได้ทั้งความยุติธรรมในสังคม ความยุติธรรมในทางเศรษฐกิจ และความยุติธรรม
ในทางอรรถคดี

ขณะที่ความหมายของ “หลักนิติธรรม” ที่กำหนดเป็นหลักการพื้นฐานไว้ 5 ข้อ ก็เป็นหลักการที่ต้องมีเป็นอย่างน้อยเท่านั้น ไม่อาจตีความถึงขอบเขตที่ชัดแจ้งได้ว่ามีความหมายเพียงใด ทำให้เกิดความเคลือบคลุม ไม่ชัดเจน จึงเสนอให้บัญญัติว่า “ความยุติธรรม” ที่ศาลต้องยึดถือในการดำเนินคดีความทั้งปวง ให้หมายเฉพาะ “ความยุติธรรมในทางอรรถคดี” ที่ศาลต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาเป็นรายคดีไปเท่านั้น


2.การกำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการ และไม่ได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นคณะกรรมการซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาล ในจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการซึ่งเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลนั้น ตามมาตรา 225 ของร่างรัฐธรรมนูญ


ประเด็นนี้ นายธานินทร์ เห็นว่า แม้จะเข้าใจได้ว่าผู้ร่างมีเจตนารมณ์ให้สร้างจุดเกาะเกี่ยวระหว่างประชาชนกับศาลยุติธรรม แต่จะส่งผลอีกด้านหนึ่งเป็นการเปิดช่องให้บุคลภายนอกแทรกแซงการบริหารงานของศาล กระทบต่อหลักการ “ความเป็นอิสระของศาล” ซึ่งเสมือนหนึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยของศาล ถือเป็นเรื่องอันตรายอย่างร้ายแรงต่อระบบศาลยุติธรรมไทยที่เพิ่มความเสี่ยงให้บุคคลซึ่งไม่มีวุฒิเกี่ยวกับกระบวนการศาลยุติธรรมเลย เข้ามาแทรกแซงการบริหารงานบุคคลของศาล มีบทบาทในการให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษาทั้งหลาย โดยนายธานินทร์ย้ำว่า ไม่เห็นด้วยหากจะมีผู้ทรงคุณวุฒิอื่นที่ไม่ใช่ผู้พิพากษาหรือตุลาการแม้แต่คนเดียวมาดำรงตำแหน่งคระกรรมการตุลาการบริหารงานศาลยุติธรรม


สำหรับโครงสร้างของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลสูงสุดของศาลนั้น ปัจจุบันมี 15 คน แบ่งเป็น 6 คนมาจากศาลฎีกาซึ่งได้รับการคัดเลือกจากผู้พิพากษาศาลฎีกา, 4 คนจากศาลอุทธรณ์ มาจากการคัดเลือกของผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์, 2 คนจากศาลชั้นต้น มาจากการคัดเลือกของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากนั้นยังมีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ก.ต.โดยตำแหน่ง และอีก 2 คนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกที่มาจากการคัดเลือกของวุฒิสภา


ก่อนหน้านี้ ผู้พิพากษาทุกระดับทั่วประเทศจำนวน 1,380 คน ได้ลงนามในหนังสือคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นการเพิ่มสัดส่วนคนนอกในคณะกรรมการ ก.ต.มาแล้ว ขณะที่คณะกรรมการบริหารงานศาลยุติธรรม หรือ กบส. ก็เคยประชุมหารือและได้จัดทำหนังสือเป็นข้อสังเกตส่งไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลในประเด็นเดียวกันด้วย

ภาพจาก-pr.prd.go.th