นรา....ครบ 100

นรา....ครบ 100

ไปค้นหาอ่านประวัติเมืองนราธิวาสจึงได้ความกระจ่างมากมาย ว่าทำไมจึงเป็นชื่ออำเภอต่างๆ ใน 3 จังหวัดภาคใต้ในปัจจุบัน

(ท่านผู้อ่านลองค้นหาอ่านในอินเตอร์เนตก็ได้) ที่แท้เป็นชื่อบรรดา 7 หัวเมือง ที่มีการจัดการปกครองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เจ็ดหัวเมืองที่ว่านี้ ได้แก่ เมืองปัตตานี เมืองหนองจิก เมืองยะลา เมืองรามัน เมืองระแงะ เมืองสายบุรี และเมืองยะหริ่ง โดยมีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองหัวเมืองเหล่านี้ อยู่ในอาณัติของสงขลา พอมีการจัดการปกครองใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เปลี่ยนมาเป็นการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล และให้ 7 หัวเมืองมาอยู่ในการปกครองของเทศาภิบาล เลยโปรดเกล้าฯให้ยุบหัวเมืองทั้ง 7 เหลือแค่เพียง 4 หัวเมือง และให้ขึ้นอยู่กับมณฑลปัตตานีที่ตั้งขึ้นใหม่ คือ (1) เมืองปัตตานี โดยมี หนองจิก ยะหริ่ง และปัตตานี อยู่ในปกครอง (2) เมืองยะลา มีพื้นที่ของรามัน และเมืองยะลา (3) เมืองสายบุรี และ (4) เมืองระแงะ


ที่ตั้งตัวเมืองนราธิวาสเดี๋ยวนี้ แต่ก่อนเป็นชุมชนริมแม่น้ำบางนรา ชื่อบ้านมะนาลอ ก่อนนั้นขึ้นกับเมืองสายบุรี พอยุบเหลือ 4 เมือง เลยมาขึ้นกับเมืองระแงะ ซึ่งในเอกสารว่าแต่ก่อนที่ว่าการเมืองระแงะ ตั้งอยู่ที่ตันหยงมัส ในปี พ.ศ.2450 จึงได้ย้ายที่ว่าราชการเมืองระแงะ จากตำบลบ้านตันหยงมัส มาตั้งที่บ้านมะนาลอ อำเภอบางนรา ต่อมาได้ยกฐานะจากอำเภอบางนราขึ้นเป็นเมืองบางนรา ส่วนเมืองระแงะเดิมนั้นก็ให้เป็นอำเภอหนึ่งขึ้นอยู่กับเมืองบางนรา ร่วมกับอำเภอบางนรา อำเภอสุไหงปาดี อำเภอโต๊ะโม๊ะ อำเภอตากใบ และอำเภอยี่งอ เป็นเมืองบางนรา (ต่อมาชื่ออำเภอเหล่านี้บางแห่งลดฐานะไปขึ้นกับอำเภอที่ตั้งใหม่ในปัจจุบัน)


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้เสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ เมื่อ 4 มิถุนายน 2458 โดยรถไฟจากบางกอกน้อยมาถึงหัวหิน แล้วเสด็จลงเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชลงทางปักษ์ใต้ วันที่ 7-8 มิถุนายน 2458 เสด็จเยี่ยมเยือนราษฏรที่เมืองบางนรา ทั้งทรงพระราชทานพระแสงราชศัตราแก่เมืองบางนรา เพื่อเป็นที่หมายต่างพระองค์เหมือนประทับอยู่กับประชาชนชาวเมืองบางนราเสมอไป และได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองบางนราเป็นเมืองนราธิวาส นับตั้งแต่นั้นมาจนถึงปีนี้ นราธิวาสก็มีอายุครบ 100 ปีพอดี เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าฯจังหวัดนราธิวาส จึงเป็นแม่งานจัดเฉลิมฉลองการครบรอบ 100 ปี ของนราธิวาสอย่างใหญ่โต


ผมไปนราธิวาสบ่อย เรียกว่าเกือบจะทุกปีก็ว่าได้ พอไปบ่อยเข้าก็คุ้นเคย และมีความรู้สึกเหมือนกับคนนราธิวาสที่อยู่ที่นั่นทุกเมื่อเชื่อวัน ว่ากรณีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่นั้นไม่น่ากลัวอย่างที่เป็นข่าว ใครไม่เคยมานราธิวาสเลย ได้ฟังแต่ข่าวก็จะน่ากลัว ไม่อยากมา ถ้าได้มาครั้งแรกก็จะหวั่นใจอยู่บ้าง แต่ถ้ามาบ่อยแบบผมก็จะเฉยๆ เหมือนไปจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย เอาเป็นว่าช่วงสงกรานต์ในภูมิภาคอื่นๆ ยังน่ากลัวมากกว่า (น่ากลัวการเมาเหล้าเล่นสงกรานต์แล้วตีกัน)


เมืองนรานั้นเป็นเมืองเล็กๆ น่ารัก สงบ และร่มรื่น ถ้าได้มาเที่ยวแค่ในตัวเมืองจะเป็นบรรยากาศที่สบายๆ เพราะย่านที่เป็นชุมชนหลักๆ มีอยู่แค่สะพานข้ามแม่น้ำบางนราไปจนถึงหอนาฬิกา ระยะทางสักหนึ่งกิโลเมตรได้ แล้วจะมีถนนหลักๆ ในเมืองอยู่ 2 เส้น คือ ถนนภูผาภักดี ที่เลียบแม่น้ำบางนรา และ ถนนพิชิตมงคล ถนนสองเส้นนี้ขนานกันไป เมืองเล็กแค่นี้จะเดินเล่นก็ได้ หรือปั่นจักรยานเที่ยวก็สบายๆ เที่ยวเมืองนรา ไม่ต้องรีบร้อนครับ สบายๆ


ที่พักในตัวเมืองมีโรงแรมราคาถูกแต่ดี เงียบสงบ มีอยู่เยอะแยะราคาแค่ 350 บาท อยู่ริมแม่น้ำบางนราซะด้วย ผมพักมาแล้ว เช้าๆ ตื่นดูพระอาทิตย์โผล่ทักฟ้าได้สบายๆ แต่ดูเหมือนโรงแรมที่รับแขกบ้านแขกเมืองคือโรงแรมอิมพีเรียลที่อยู่ตรงข้ามตลาดสด


พูดถึงตลาดสด ท่านผู้อ่านมาที่นี่อย่าพลาดการมาดูวิถีชีวิต จะเห็นว่าวิถีไทยพุทธ-มุสลิมอยู่ร่วมกัน ทักทาย พูดคุยกันอย่างเป็นมิตร ความต่างของศาสนาไม่ใช่อุปสรรคของมิตรภาพ ตลาดสดจึงเป็นที่ที่ควรมาชมอย่างยิ่ง ที่นี่นอกจากผักผลไม้ที่มาจากสวนสดๆ แล้ว จะเห็นการห่อของด้วยวัสดุบ้านๆ ใบตอง ใบบัว และดูเหมือนว่าจะนิยมกันมาก “มานรา ปลาไม่อด” เพราะถ้าไปเห็นตลาดปลาในตลาดสดแล้วจะอยากซื้อไปทำกินเลยเพราะมันสดจากทะเล เขาไม่ให้เสียชื่อเมืองติดทะเล แล้วเดินเข้าไปให้ถึงข้างในตัวตลาดสด ไปแวะชิม นาซิดาแก ในร้านข้าวแกงในตลาดสด เป็นข้าวมันราดด้วยแกงกะทิ มีเนื้อปลาโอชิ้นหนาๆ กินแกล้มพริกใหญ่ อร่อยเด็ดจนไม่ง้ออาหารเช้าในโรงแรม แล้วตบท้ายด้วยโรตี-กาแฟ แค่นี้ก็ครบสูตรอาหารเช้าชาวนรา แล้วค่อยออกเที่ยวกัน


ที่แรกที่ผมว่าต้องไปดูให้ได้คือ บนสะพานปรีดานราทัศน์ที่อยู่หัวถนนพิชิตมงคล หรือจะเป็นสะพานวีระพัฒนาที่อยู่หัวถนนภูผาภักดีก็ได้ เพราะสะพานทั้งสองนี้จะทำให้เราเข้าใจและรักเมืองนรามากขึ้น สะพานทั้งสองจะทอดข้ามช่วงปลายของแม่น้ำบางนราที่ไหลออกทะเล และสองฝั่งแม่น้ำช่วงสองสะพานนี้ จะเป็นหมู่บ้านชาวประมงพื้นบ้าน ที่ใช้เรือกอแระเป็นพาหนะ พอเช้าเรือกอแระจะกลับจากทะเล เอาปลาขึ้นขายที่ตลาดสด(ปลาในตลาดจึงสดมาก) แล้วเรือก็จะจอดกันเรียงรายในแม่น้ำ เห็นมัสยิดเมืองนราเป็นฉากหลังอย่างลงตัวและสวยงาม เรียกว่ามาที่นี่อย่าพลาดการมาเก็บภาพช่วงเช้าๆ ที่สองสะพานนี้เด็ดขาด


อีกด้านของหัวสะพานทั้งสองคือย่านสวนสาธารณะและชายหาดนราทัศน์ ซึ่งเป็นหาดที่สวย สงบ และแนวสนเรียงราย ชาวบ้านเอาเสื่อ เอาอาหารมานั่งพักผ่อน เด็กๆ ลงเล่นน้ำ หรือมาวิ่งออกกำลังกาย ผมว่าเป็นสวนสาธารณะที่บรรยากาศเนี๊ยบที่สุด


เข้ามาในเมืองอย่าลืมแวะถ่ายตึกเก่าศิลปะแบบชิโนโปรตุกิส ริมถนนภูผาภักดี ที่เดี๋ยวนี้เขามาแปลงเป็นโรงแรมบ้าง หรือเป็นร้านอาหารที่น่านั่งน่านอนที่สุด แล้วอย่าลืมไปแวะดูวัดบางนรา วัดเก่าแก่กลางเมืองนราธิวาส ที่มีเสาไฟแบบโบราณแต่สวยงามและคลาสสิค ทั้งน่าจะเป็นเสาไฟที่สวยที่สุดก็ว่าได้ ยังหลงเหลืออยู่ในวัดบางนรา แล้วเดี๋ยวนี้เขามีพระพิฆเนศองค์สีชมพูที่สวยงามเป็นที่สุด ภาพถ่ายไม่อาจงดงามเท่าที่ดวงตาเห็น ผมบอกได้แค่นี้ อยู่ติดกับศาลเจ้าเก่าแก่ของเมืองนรา โก้วเล่งจี่ ...เหล่านี้เดินเที่ยวได้หรือปั่นจักรยานเที่ยวก็เหมาะเพราะอยู่ในตัวเมือง


แต่ถ้าออกไปนอกเมืองอีกนิดก็จะมีพุทธสถานเขากง ที่มีพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล และชายหาดอุทยานฯอ่าวมะนาว-เขาตันหยงที่ยาวเหยียด รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ซึ่งบอกได้เลยว่านราธิวาสมีที่เที่ยวมากกว่าที่เราคิดไว้เยอะ สงสัยอะไรให้โทรไปถาม ททท.นราธิวาส 0 7352 2411, 0 7354 2345


เดี๋ยวนี้นราธิวาสไปง่ายมี 2 สายการบินให้บริการทั้งแอร์เอเชียและไทยสไมล์ นำพามาสู่นราธิวาสเพียงลัดนิ้วมือ เมื่อเครื่องบินจะลงจอดที่สนามบินบ้านทอน ให้มองลงมาจะเห็นชายหาดยาวเหยียดและเมืองที่ร่มรื่นที่อยู่ระหว่างแม่น้ำและทะเล


นราธิวาส...สวยงามตั้งแต่แรกเห็นจากบนฟ้า