มิตรขอบ “โขง” และความทรงจำสี “ใจ”

มิตรขอบ “โขง” และความทรงจำสี “ใจ”

มิตรภาพที่ผูกกันแน่นหนามานานชั่วนาตาปี จะมีอะไรสะบั้นให้ขาดออกจากกันได้ คงไม่มี

คำว่า “รากเดียวกัน” ยังใช้ได้ดีกับมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์บนโลกใบนี้ ไม่เว้นแม้แต่ชาวไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รอบชิดติดกันในอาเซียน เพราะหากสืบเชื้อสายให้ลึกลงไปแล้ว ทุกคนต่างมีเลือดข้นที่มาจาก “ต้นราก” เดียวกัน


ฉันหรี่ตาลงเล็กน้อยเพื่อหลบแสงอันแรงกล้า เบื้องหน้าคือความยิ่งใหญ่ของสายน้ำแห่งชีวิตนามว่า “แม่น้ำโขง” เมื่อลองทอดโยงสายตาไปยังฝั่งตรงข้ามก็เห็นว่ามีชาวลาวปล่อยเรือลอยลำเพื่อทำประมงพื้นบ้านอยู่ริมลำน้ำเต็มไปหมด


ไม่ผิดไปจากริมน้ำฝั่งไทยเท่าไรนัก นครพนมที่ฉันยืนอยู่นี้มีชาวบ้านกำลังออกเรือไปยัง “หาดแห่” ซึ่งเป็นเกาะกลางน้ำในตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม เกาะที่ทุกคนแบ่งสันปันพื้นที่ในการทำเกษตรอินทรีย์ และมีบ้างบางส่วนที่ผลัดกันออกเรือไปวางอวนหาปลา


ชีวิตของพวกเขาดูไม่ซับซ้อน ไม่วุ่นวาย และไหลเอื่อยไปคล้ายกับสายน้ำ และหากคำว่า “ชีวิตเนิบช้า” มีอยู่จริง ฉันว่า แผ่นดินนครพนมนี่ค่อนข้างตรงกับรูปแบบชีวิตที่ว่านั้นอยู่เหมือนกัน


1.


เป็นครั้งแรกในรอบปี แต่ดูเหมือนจะเป็นครั้งที่ 4 ในชีวิตที่ฉันมีโอกาสมาเยือนนครพนม เมืองที่มากี่ครั้งกี่หนก็รู้สึกได้ถึงความรื่นรมย์แบบไม่รู้จบ
ความรื่นรมย์ที่ว่านี้ไม่ได้มีมูลเหตุอยู่แค่เรื่องของทัศนียภาพที่งดงาม หรือความรุ่มรวยด้วยพระเจดีย์ธาตุเพียงเท่านั้น หากแต่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ผูกโยงความสัมพันธ์ของผู้คนทั้งสองฝั่งโขง ชวนให้ทุกคนต้องอมยิ้มไปด้วยกันทุกครั้งที่ได้ยิน


นครพนม เป็นจังหวัดในประเทศไทยที่ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ส่วนฝั่งตรงข้ามคือ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จะว่าไปชาวนครพนมเองเคยอาศัยอยู่บนแผ่นดินฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตรงข้ามกับพระธาตุพนมในปัจจุบันในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูร แต่สถานการณ์ทางการเมืองการปกครองที่เปลี่ยนไปทำให้ผู้คนต้องย้ายครัวเรือนมาอยู่ทางฝั่งขวา และย้ายกลับไปมาอีกหลายครั้ง สุดท้ายก็ยึดเอาแผ่นดินฝั่งขวาของแม่น้ำเป็นเรือนตาย


หลายๆ คนที่นึกสนุกกับการสืบเชื้อสายก็พยายามสืบค้นประวัติศาสตร์ ทั้งยังไล่เลียงเครือญาติกันไปมา เรียกว่า สนุกแบบไม่มีที่สิ้นสุดเลยทีเดียว
ฉันไม่ใช่ชาวนครพนม และมีความรู้เกี่ยวกับเมืองริมโขงแห่งนี้น้อยมาก แต่ก็อยากสนุกด้วย จึงตามนักวิชาการและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ไปลงพื้นที่ ทั้งยังมีโอกาสข้ามโขงไปเยือนเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้าม นับว่าทริปนี้ได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินอย่างแท้จริง


อย่างที่หลายคนพอจะทราบ นครพนมเป็นเมืองที่อยู่ริมโขงสุดชายแดน โดยมีระยะห่างจากเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ถึง 740 กิโลเมตร ฉะนั้นการเดินทางมาถึงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในละแวกนี้จึงเป็นชาวไทยในพื้นที่ภาคอีสาน รวมถึงเพื่อนบ้านอย่างลาวและเวียดนามเป็นหลัก


ทำไมชาวลาวและเวียดนามเข้ามามาก ก็เพราะประวัติศาสตร์อีกนั่นแหละ


2.


“แม่โขงสตาร์ครูส” พาเราแล่นทวนน้ำโขงขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 จากนั้นก็หันหัวเรือกลับ


ก่อนที่จะมีการปักปันเขตแดน และยกเอาแม่น้ำโขงมาเป็นหลักเขตในบางพื้นที่ ลาวกับไทยก็เป็นญาติกันโดยเชื้อสาย ดังนั้นการไปมาหาสู่กันจึงเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำได้ สายสัมพันธ์ลาวกับไทยเป็นอย่างไรจึงไม่ต้องเอ่ยอธิบายให้มากความ


ส่วนชาวเวียดนามนั้น ตามประวัติศาสตร์ว่าอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยด้วย 2 เหตุผล คือเรื่องของการเมืองและการเบียดเบียนทางศาสนา จากหลักฐานระบุว่า ชาวเวียดนามเข้ามาตั้งแต่ก่อนแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็พากันยกครัวหนีพันธนาการจากฝรั่งเศสออกมาพึ่งแผ่นดินธรรมอีกครั้ง โดยกระจายตัวกันอยู่ในจังหวัดต่างๆ ริมแม่น้ำโขง รวมถึงนครพนมที่มีประชากรส่วนหนึ่งสืบเชื้อสายมาจากเวียดนามด้วย


ความที่นครพนมเป็นเมืองสงบ เรียบง่าย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขในสังคมที่เรียกว่า “พหุวัฒนธรรม” บนความแตกต่างของคน 7 ชนเผ่า(ไทย-ลาว) และ 2 เชื้อชาติ(จีน-เวียดนาม)


3.


บนถนนเลียบโขงที่มีชื่อว่า “ถนนสุนทรวิจิตร” มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่สะท้อนภาพความรักความผูกพันของคนหลายแผ่นดินไว้มากมาย ไล่มาตั้งแต่ วัดนักบุญอันนา หนองแสง วัดคริสต์ที่สร้างขึ้นในปี 2469 โดยคุณพ่อเอทัวร์ นำลาภ อดีตอธิการโบสถ์ ความโดดเด่นของวัดแห่งนี้อยู่ที่อาคารซึ่งมีหอคอยคู่ยอดแหลม ซึ่งในช่วงสงครามเวียดนาม โบสถ์นักบุญอันนาได้รับความเสียหายจากแรงระเบิด จึงต้องมีการบูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่ ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด รวมถึงเป็นโลเคชั่นสุดน่ารักสำหรับคู่รักที่ต้องการถ่ายภาพก่อนแต่งงานด้วย


ขยับลงมาถึง พิพิธภัณฑ์จวนผู้ว่า ที่เป็นอาคารเก่าสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เพราะได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสในช่วงสงครามอินโดจีน จวนหลังนี้มีอายุเกือบร้อยปีแล้วแต่ยังคงสภาพที่สวยงามไม่แปรเปลี่ยน และครั้งหนึ่งก็เคยทำหน้าที่เป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเยียนราษฎรในจังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2498 ยังความซาบซึ้งใจแก่ชาวนครพนมเป็นอย่างยิ่ง


ปัจจุบันจวนผู้ว่าหลังนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญของจังหวัด หากอยากทราบประวัติอะไรให้มาตั้งต้นที่จวนหลังนี้จะดีที่สุด


เลาะริมโขงลงมาเรื่อยๆ จะพบกับ หอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ ที่ชาวเวียดนามสร้างไว้เป็นที่ระลึกเมื่อครั้งที่ย้ายกลับประเทศเมื่อปี พ.ศ.2503 สภาพบ้านเรือนแถบนี้เรียกว่าคลาสสิคที่สุดแห่งหนึ่งในนครพนม เพราะเป็นบ้านไม้เรือนแถว 2 ชั้นที่ยังคงสภาพความสวยงามแบบดั้งเดิมไว้ไม่เสื่อมคลาย


วัดต่างๆ ริมลำน้ำโขงฝั่งนครพนมก็มีตั้งแต่ วัดโอกาสศรีบัวบาน วัดคู่บ้านคู่เมืองที่มีมาแต่โบราณ และเป็นสถานที่ประดิษฐาน “พระติ้วกับพระเทียม” พระคู่เมืองของชาวนครพนมด้วย ส่วน วัดมหาธาตุ อยู่ไม่ไกลกัน ตามประวัติว่าวัดนี้สร้างโดยแม่ทัพใหญ่จากเวียงจันทน์ มีพระธาตุนครที่สวยงาม ตามตำราว่าเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของคนที่เกิดวันเสาร์


4.


ประวัติศาสตร์ร่วมของผู้คนต่างเชื้อชาติวัฒนธรรมสะท้อนผ่านสถานที่สำคัญๆ หลายแห่ง รวมถึง “บ้านลุงโฮ” หมู่บ้านมิตรภาพไทย - เวียดนาม หรือ บ้านนาจอก หมู่บ้านเก่าแก่ที่อดีตประธานาธิบดีโฮจิมินห์แห่งเวียดนามเคยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งราชอาณาจักรไทย ในระหว่างปี พ.ศ. 2467-2474 เพื่อกอบกู้เอกราชของเวียดนามคืนมา


บ้านหลังนี้เต็มไปด้วยความทรงจำและกลยุทธ์ทางการเมือง หากเข้ามาแล้วแนะนำให้ศึกษาอย่างละเอียด ถ้าจะให้ดีควรรับฟังความหลังครั้งเก่าก่อนจากเจ้าหน้าที่ด้วยจะลึกซึ้งที่สุด


จะไม่เอ่ยถึง “ตำนานอุรังคธาตุ” ที่เป็นความทรงจำร่วมกันของชาวไทย-ลาว อาจมองเรื่องราวความรักระหว่างคน 2 สัญชาติไม่ออก และอย่างที่บอกว่า ก่อนจะมีการปักปันเขตแดน ผู้คนสองฝั่งโขงไปมาหาสู่กันดั่งญาติมิตร และมี “พระธาตุพนม” อันศักดิ์สิทธิ์เป็นศูนย์รวมจิตใจ


ความสำคัญของพระธาตุพนม คือเป็นพระธาตุเก่าแก่ที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ (กระดูกหน้าอก) ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า(สมณโคดม) นับเป็นพระธาตุคู่เมืองนครพนมและเป็นที่เคารพสักการะของชาวไทยและชาวลาวทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง


เอ่ยถึงพระธาตุพนมฝั่งไทยแล้ว ถ้าจะให้เท่าเทียมกันต้องข้ามฝั่งไปเยี่ยมเยือนเพื่อนบ้านอย่างลาว เพื่อสัมผัสความทรงจำที่เคยมีร่วมกับเราด้วย


จริงๆ นครพนมมีจุดผ่านแดนไปประเทศลาวทั้งหมด 6 จุด เป็นจุดผ่านแดนถาวร 2 จุด และจุดผ่อนปรน 4 จุด จุดผ่านแดนที่สำคัญและเป็นสากล คือ ด่านสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 3 ซึ่งรัฐบาลไทย-ประเทศลาว ร่วมมือกันสร้างและเป็นประตูไปสู่อินโดจีนที่ใกล้ที่สุด


ฉันใช้บริการสะพานแห่งนี้เพื่อข้ามไปสัมผัสวิถีชีวิตและมิตรภาพของผู้คนที่มีรากเดียวกันในฝั่งลาว


5.


“มิตรภาพ” เป็นชื่อสะพานที่นิยามได้อย่างถูกต้องชัดแจ้งที่สุด เพราะมันคือเครื่องมือที่ใช้เชื่อมร้อยความสัมพันธ์ของคนในเอเชียเข้าด้วยกัน และมันก็เป็นมิตรภาพที่แข็งแรงมากด้วย


สภาพภูมิประเทศของ เมืองท่าแขก ไม่ต่างจากฝั่งนครพนมของไทยเท่าไรนัก มีธรรมชาติที่สวยงามและอัศจรรย์ อย่าง กำแพงหินยักษ์ ที่ทอดยาวจากเมืองท่าแขกไปจนถึงนครหลวงเวียงจันทน์ ก็เป็นอีกหนึ่งความอัศจรรย์ของธรรมชาติ ที่ทำให้นักธรณีวิทยาพากันประหลาดใจ เพราะรูปลักษณ์แปลกตา สันนิษฐานว่าเกิดจากรอยเลื่อนท่าแขกจึงทำให้หินแยกจากกันราวกับโดนตัด


ท่าแขกเป็นเมืองชายแดนในแขวงคำม่วนของลาว อาคารบ้านเรือนภายในตัวเมืองท่าแขกส่วนมากเป็นสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส คล้ายๆ แขวงสะหวันนะเขตที่อยู่ตรงข้ามกับจังหวัดมุกดาหาร ใครที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ หรือสเก็ตภาพสถาปัตยกรรมแนะนำว่า “ต้องมา”


แต่ก่อนจะถึงตัวเมือง จะเห็นว่ามี อนุสรณ์สถานประวัติศาตร์ 21มีนาคม 1946 เป็นสถานที่บันทึกประวัติศาสตร์ที่จะบอกเล่าถึงเรื่องราวของเจ้าสุภานุวงศ์ผู้บัญชาการสูงสุด ที่ทรงร่วมมือกับกองทัพประชาชนลาวและเวียดนาม ตลอดจนประชาชนชาวลาวผู้รักชาติ ทำการต่อสู้ขับไล่ฝรั่งต่างชาตินักล่าอาณานิคมผู้รุกรานให้ออกจากแผ่นดินลาวโดยได้รับเอกราชและชัยชนะในที่สุด


ไม่ไกลกันเป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ ที่เพิ่งเปิดให้เข้าชมไม่นาน ใครอยากรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ หรือสืบค้นความทรงจำของผู้คนที่มีต่อกัน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สามารถตอบสนองความต้องการนั้นได้อย่างดีทีเดียว


ฉันมีโอกาสได้พบชาวเวียดนามที่มาตั้งรกรากอยู่ในเมืองท่าแขกมานาน 2-3 ชั่วอายุคนที่ บ้านเชียงหวาง ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปราว 1 ชั่วโมง ที่นี่เป็นหมู่บ้านชาวเวียดนามในลาว และเป็นแหล่งผลิต “ขนมใบป่าน” และ “เส้นเฝอ” ของฝากชั้นยอดของแขวงคำม่วนด้วย


แม่แก้ง หญิงชราชาวเวียดดูมีความสุขกับการทำขนมใบป่านให้นักท่องเที่ยวชิม เธอบอกว่า นี่คือขนมที่เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เมื่อชีวิตพลิกผันจนต้องพากันอพยพ ขนมใบป่านจึงกลายเป็นความทรงจำสิ่งเดียวที่เธอและครอบครัวระลึกถึงความหลังเมื่อครั้งเคยอยู่ร่วมกันในประเทศเวียดนามเสมอ


ความทรงจำร่วมดีๆ มีผลต่อการดำรงอยู่ของทุกชีวิตจริงๆ ฉันนั่งรถผ่าน วัดศรีโคตรบูร หรือที่ชาวลาวเรียกว่า วัดศรีโคตรบอง วัดนี้เป็นที่ตั้งของพระธาตุคู่บ้านคู่เมือง และมีความสำคัญกับทั้งชาวลาวและชาวไทยริมฝั่งแม่น้ำโขง


ในช่วงวันสงกรานต์และวันปีใหม่ ชาวไทยและชาวลาวจะข้ามฝั่งไปร่วมงานบุญที่วัดพระธาตุพนมและวัดศรีโคตรบูรกันอย่างเนืองแน่น สะท้อนภาพของการมี “ราก” ร่วมกันได้อย่างดี


ต่างๆ เหล่านี้คือภาพความสุขที่ฉันได้พานพบ และเก็บมาใส่ “ลิ้นชักความทรงจำ” ที่แสนประทับใจ


.................

การเดินทาง


ไปนครพนมได้สบายสุดก็คงเป็นการเดินทางโดยเครื่องบิน สายการบินแอร์เอเชีย เปิดให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ - นครพนม ทุกวัน วันละ 1 เที่ยวบิน ดูรายละเอียดที่ www.airasia.com หรือ โทร. 0 2515 9999 ใครชื่นชอบการเดินทางโดยรถไฟก็สามารถนั่งรถไฟมาลงที่สถานีอุดรธานี แล้วนั่งรถต่อมาที่นครพนมได้ ห่างกันราว 250 กิโลเมตร แต่ถ้ารู้สึกเหนื่อยเกินไป รถโดยสารปรับอากาศก็มีให้บริการอยู่หลายบริษัท ต้องลองเลือกดีๆ


ส่วนใครที่มีเวลา อยากขับรถส่วนบุคคลมาเอง เผื่อว่าจะข้ามไปเที่ยวฝั่งลาวด้วย จากกรุงเทพฯ แนะนำให้ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ถึงสระบุรี บริเวณกิโลเมตรที่ 107 แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ ผ่านนครราชสีมา ถึงอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น จากนั้นแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 23 ผ่านมหาสารคาม กาฬสินธุ์ สกลนคร ถึงจังหวัดนครพนม แต่คงต้องแวะพักคน พักรถบ้าง เพราะระยะทาง 740 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ถึงนครพนมนั้น ไม่ใช่ใกล้ๆ เลย กลับไปที่ตัวเลือกของเครื่องบินน่าจะสะดวกที่สุด


สอบถามข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานนครพนม โทร. 0 4251 3490 - 1