ชีวิตที่ไม่จบอยู่แค่คำว่า'ดีที่สุด'ชวินดา หาญรัตนกูล'

ชีวิตที่ไม่จบอยู่แค่คำว่า'ดีที่สุด'ชวินดา หาญรัตนกูล'

ลุคกระฉับเฉง คล่องแคล่ว ตัวตนแม่ทัพหญิง 'ชวินดา หาญรัตนกูล'กับชีวิตไม่มีขั้นสุดหยุดพัฒนาตัวเอง บุคคลากร องค์กร เพื่อผลลัพธ์ 'ดีดีและดีขึ้น

เข้า 6 ขวบปีกับบ้านหลังใหม่ ก็โชว์ผลงานโบว์แดงดันบริษัทรั้ง “ผู้นำ” ในการบริหารจัดการกองทุน “อสังหาริมทรัพย์” ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ภายในระยะเวลาอันสั้นราว 1 ปี แต่นั่นไม่ได้ทำให้ผู้นำหญิงสุดแอ๊คทีพเป็นปลื้มจนลืมพัฒนาตัวเอง และองค์กร นี่เป็นสไตล์การบริหารงานของแม่ทัพหญิงที่สวย เนี้ยบ เฉียบ และคม อย่าง “ชวินดา หาญรัตนกูล” กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM

“ที่ KTAM ตั้งใจจะผลักดันให้เป็นบลจ.ที่สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าในเรื่องการลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และผลตอบแทนที่บริหารโดยมืออาชีพ สำคัญทำบนความไว้วางใจและศรัทธาจริงๆ” หนึ่งในบทสนาที่บ่งชี้ความแอ๊คทีพของชวินดา

ทว่า สิ่งที่ย้ำความกระตือรือร้นกว่านั้น คือ เมื่อเธอตื่นนอนมาราว 6.00-6.30 น. จะเข้าไป Say hello ในกรุ๊ปไลน์ขององค์กรทันที  “ลูกน้องจะบอกว่า..พี่ดาวมาเฮลโหลแต่เช้า เริ่มตื่นเต้นแล้ว” เธอหัวเราะ พร้อมสำทับว่า

 “พี่เป็นคนไม่ค่อยอยู่สุข ไม่ว่างเลย จนลูกน้องบ่น”

ไม่เพียงเท่านี้ การทำงานที่เริ่มใช้โซเชียลมีเดีย “ไลน์” เป็นเครืองมืออย่างหนึ่งขององค์กร ยิ่งทำให้เธอตามติดการทำงานของบุคคลากรแบบ “ประชิดตัว” ชนิดที่เมื่อลูกค้าต้องการคำตอบกับเกี่ยวกับกองทุนประเภทต่างๆ หากภายใน 3 นาที ไม่ตอบ เจ้าตัวต้องเข้าไปจี้ตามงานด้วยตัวเอง

นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเกาะติดงาน ทว่าภารกิจของหัวเรือใหญ่ ไม่ได้มีแค่นี้ เพราะภารกิจที่เธอหมายมั่นปั้นมือจากนี้ไปมีคณานับ

ไล่ตั้งแต่การเพิ่มประเภท และขยายกองทนุให้ใหญ่ โดยเฉพาะ “กองทุนรวมต่างประเทศ” ที่ยังมีสัดส่วนน้อยล้อไปกับการบริหารจัดการองค์กรในยุคดิจิทัล ซึ่งเธอบอกว่า การหลั่งไหลของข่าวสารเร็ว ไร้พรมแดน จึงต้องมาวางระบบพร้อมทั้งหน้าบ้าน (Front office) และหลังบ้าน (Back office) ปรับระบบการบริหารจัดการกองทุน พัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ให้เอื้อต่อ “ลูกค้า” ที่ต้องการซื้อกองทุน และสนองตอบ “ผู้ขาย” ได้ง่ายและทันท่วงที

เพราะ “เป้าหมายเราอยากเป็นเหมือนคอนซูเมอร์โปรดักท์ของลูกค้าเลย คือ เข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย และไว้ใจได้”

นอกจากนี้ “เทคโนโลยี” ก็มีบทบาทหนุนให้การทำงานคล่อง กระชับ ดึงข้อมูลข่าวสาร วิเคราะห์ ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อขจัดข้อผิดพลาดให้เหลือต่ำสุดหรือเป็นศูนย์ เพราะเรื่อง “เงิน” จะเสี่ยงไม่ได้

นี่เป็นสไตล์การทำงานแบบ Proactive หรือเชิงรุกรอบด้าน ที่เธอผลักดัน

“ในการบริหาจัดการ ต้องดีต่อเนื่อง ทำยังไงก็ได้ให้ลดความเสี่ยงได้มากสุด ถามว่าได้ถึงระดับที่ต้องการหรือยัง..ต้องพัฒนาต่อ มุ่งมั่นต่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ต้องการ” ที่น่าสนใจไม่น้อยกว่าน้ำเสียงหนักแน่น สายตามุ่งมั่น คือ อะไรทำให้ต้องพัฒนาไม่มีที่สิ้นสุด เธอบอกว่า 

“ไม่มีขั้นสุดอยู่แล้ว เค้าเรียกว่าเป็นคนไม่รู้จักพอ (หัวเราะ)”  ไม่ใช่แค่การทำงานที่ไร้ขีดจำกัด แต่ด้าน “บุคลากร” ก็ไม่เว้น เพราะเธอมักย้ำพนักงานให้หมั่นเรียนรู้ และพัฒนาตนเองเสมอ การตำหนิติติงต่างๆ ล้วนหวังดีเพื่อยกระดับให้ลูกน้องในองค์กรก้าวไปสู่สิ่งที่ “ดี ดี ดีขึ้นเรื่อยๆ”

 “พี่บอกพนักงานตลอดว่า ไม่มีคำว่าเพอร์เฟ็คสำหรับคนๆนี้ คำว่าเพอร์เฟ็คอยู่ตรงไหนไม่รู้ และห่างไกลสำหรับพี่ เราจึงต้องทำให้ดีที่สุด พัฒนาตัวเองต่อเนื่อง คนอื่นอาจมองว่าดีที่สุดแล้ว แต่เราบอกว่าไม่ใช่ เพอร์เฟ็คไม่มีคำว่าพอดี ไม่มีคำว่า 1-10 มันอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ ถ้าไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหนก็ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ”  

นั่นเป็นบริบทภายในองค์กร ส่วนภายนอกการบริหาร “ลูกค้า” ต้องมุ่งมั่นสร้างความจริงใจ ศรัทธาและความไว้วางใจให้เกิดขึ้น เพื่อให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นที่จะไหว้วานให้ KTAM บริการจัดการ “เงิน” ผ่านกองทุนได้

ทว่า จะผลักความเชื่อมั่นมาให้บลจ.ทั้งหมดคงไม่ได้ อีกขาหนึ่งจึงต้องการให้ความรู้ลูกค้าที่เข้ามาลงทุนด้วย ว่าแต่ละช่วงอายุนั้นควรมีสัดส่วนการลงทุนในกองทุนประเภทใด ความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้พวกเขามีความรู้มากพอที่จะตัดสินใจลงทุนด้วยตัวเองมากที่สุด ไม่ใช่เรา (บลจ.) แนะนำแล้วพอขาดทุน ก็มากล่าวโทษว่าสาเหตุ 

“ไม่อยากได้ยินคำนี้” ไม่แค่ผู้ซื้อที่ต้องรู้เท่าทัน ผู้ขายกองทุนก็ไม่ต่างกันด้วย เหล่านี้กลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายคนทำงานเช่นเธอ

“สิ่งที่เราพยายามทำคือให้ผู้ขายเองมีความรู้เท่าเทียมหรือรู้ในสิ่งที่เราต้องการสื่อสารกับลูกค้า ขณะที่เดียวกันถ้ามีโอกาสคุยกับลูกค้าก็ต้องอธิบายความเสี่ยงแค่นี้รับได้หรือไม่ และในอนาคตเวลาลูกค้าที่จะเข้ามาลงทุนก็จะพึ่งพาเราในฐานะที่เป็นผู้มีความรู้ และตัดสินใจด้วยข้อมูล ความจริงที่ลูกค้ามี” ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ บลจ.จะบริหารงานได้ง่ายขึ้น และสามารถไปโฟกัสกับผลประกอบการ ผลการดำเนิงานของกองทุนให้ได้ยิ่งขึ้น สร้างผลประโยชน์และผลตอบแทนตอบโจทย์ที่ลูกค้าต้องการ

การใช้ชีวิตอยู่กับแวดวง “การเงิน” มาตลอดระยะเวลา 15-16 ปี เธอยังกระตุกให้ประชาชนฉุกคิดด้วยว่า การบริหารจัดการทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญ แต่ละปี “เงินเฟ้อ” ที่เพิ่มขึ้น มีผลทำให้เงินในกระเป๋า “ด้อยค่า” ลงโดยอัตโนมัติ ฝากธนาคารอย่างเดียว อัตราดอกเบี้ยอาจไม่ตอบโจทย์ทางการเงินในอนาคต 10 ปีข้างหน้า

“คนที่ไม่เคยเรียนรู้การบริหารจัดการทางการเงิน เมื่อภายหลังได้เรียนรู้ เขาจะแบ่งสัดส่วนการใช้จ่ายประจำวัน ชำระหนี้ แล้วเก็บ จะรู้เลยว่าชีวิตมีคุณภาพมากขึ้นอีกเยอะ และจะมีความสุขกับการได้คิด และเรียนรู้ในการใช้เงินที่ได้มาแต่ละบาท” นี่เป็นหนทางการสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า"

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงเป้าหมายตัวเลข หรือตำแหน่งทางธุรกิจ ชวินดาบอกว่า 

 “มาอยู่ตรงนี้ ความรับผิดชอบฟูลสเกล ต้องเติมเต็มในทุกประเภทของกองทุนที่ KTAM ทำ ต้องการเป็นเบอร์ 1 ทุกอย่างไหม (ประเภทกองทุน) อย่างที่บอก เบอร์ 1 อาจไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่เมื่อมีลูกค้าแล้วเขาศรัทธา ไว้วางใจในการบริหารจัดการของเรา นั่นต่างหากสำคัญที่สุด และอยากไปถึงจุดนั้น” 

-----------------

ภาพรวมการดำเนินงานของ KTAM ในปี 2558 ตั้งเป้าบริหารจัดการกองทุนมูลค่า 6.87 แสนล้านบาท เติบโต 15% จากปีก่อนมูลค่า 5.9 แสนล้านบาท โดยช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา บริหารจัดการกองทุนมูลค่า 6.3 แสนล้านบาท โดยครึ่งปีหลังจะต้องผลักดันการบริหารกองทุนอีกกว่า 5 หมื่นล้านบาท 

ล่าสุดเตรียมขายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ(EGATIF) ขนาดกองทุนเบื้องต้นมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเปิดจองวันที่ 22-26 มิ.ย.นี้ “

จากการมอนิเตอร์ ทุกประเภทกองทุนมีการขยายตัวตามเป้าหมาย ไม่มีอะไรที่ไม่เข้าเป้า”

สำหรับปัจจัยที่หนุนให้กองทุนเติบโตมาจากผู้บริโภคมองหาการลงทุนที่เป็นทางเลือกของผลตอบแทนที่ดีขึ้น ทดแทนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งการสื่อสารการตลาดของ KTAM ร่วมกับธนาคารกรุงไทยซึ่งเป็นผู้ขายกองทุน มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาขั้นตอนทำงานให้กระชับ หารือกันถี่ และวางเป้าหมายร่วมกัน เกื้อกูลการเติบโตซึ่งกันและกัน