เส้นทางศิลปะ ของ "ทราย - วรรณพร ฉิมบรรจง"

เส้นทางศิลปะ ของ "ทราย - วรรณพร ฉิมบรรจง"

จากบทบาทของ “ดารา” หรือนักแสดงวัยรุ่นที่ได้รับทั้งความนิยม ชื่อเสียง เงินทองที่กองอยู่ตรงหน้า

อะไรทำให้คนๆ หนึ่งตัดสินใจทิ้งทุกอย่างแล้วก้าวสู่เส้นทางใหม่ เส้นทางของคนทำงานศิลปะ

ไม่ใช่ความคิดชั่ววูบเพื่อสนองอารมณ์ “ติสต์” ที่เกิดขึ้นชั่วครั้งคราว แต่เป็นการเดินทางระยะยาวบนถนนสายยาวที่ทอดไกล แน่นอนว่าแต่ละก้าวไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เธอคนนี้ก็ยังมุ่งมั่นจะเดินบนเส้นทางนี้ต่อไป...และตลอดไป

เล่าเรื่องตอนเข้าวงการบันเทิงให้ฟังหน่อย

ตอนนั้นที่เข้าวงการบันเทิงจริงๆ น่าจะเป็นตอนที่ได้ตำแหน่งมิสทีนไทยแลนด์ ปี 2539 แล้วก็เล่นหนัง “ถนนนี้หัวใจข้าจอง” ของสหมงคลฟิล์ม แล้วก็ไปเล่นละครเซ็นต์สัญญาอยู่กับช่อง 7 ตอนนั้นก็มีละครอยู่หลายเรื่อง

น่าจะประมาณ 10 ปีได้ตั้งแต่ทำงานในวงการบันเทิง

ก่อนหน้านั้นก็มีงานถ่ายโฆษณา ถ่ายแบบ ประกวด แต่ว่าผลงานที่คนยังจดจำกันได้ก็น่าจะเป็นละครเรื่อง “แม่ย่านาง” ละครเรื่องนี้ก็มีการเอามาฉายซ้ำบ่อยๆ คนก็เลยค่อนข้างจำได้ เรื่องนี้เล่นเป็นฝาแฝดด้วยทั้งตัวดีแล้วก็ตัวร้าย คนก็ยังคิดว่าเรามีแฝดจริงๆ ด้วย ตอนนี้ก็ยังมีอยู่ใน Youtube

จริงๆ แล้วตอนที่ทำงานในวงการบันเทิงก็มีเขียนหนังสือด้วยนะ แต่คนไม่ค่อยรู้ เขียนหนังสือด้วย ทำภาพประกอบด้วย ก็มีอยู่ 2 เล่มเป็นหนังสือวัยรุ่นน่ะ คือเธอกับฉัน และก็ ไอ แอม แมกกาซีน นอกจากนั้นก็มีทำภาพประกอบบ้างเป็นบางเล่ม

ตอนนั้นสนใจเรื่องศิลปะแค่ไหน

ถ้าย้อนกลับไปตอนที่อยู่ในวงการบันเทิงแล้ว นักแสดงแต่ละคนก็จะมีกิจกรรมที่ตัวเองชอบ หรือมีความสามารถพิเศษอะไรสักอย่าง สำหรับทรายเวลาที่มีรายการทีวีที่จะเอาไปโชว์ก็มักจะเป็นวาดรูป ตอนนั้นก็มีอีกอันนึง ได้มีโอกาสไปวาดรูปที่บ้านอาจารย์เดชา วราชุน และช่วงนั้นก็ได้ทำงานศิลปะกับอาจารย์ธีรพันธ์ ลอไพบูลย์ แล้วก็ช่วงที่เรามีผลงานออกมาโชว์ในรายการทีวีหรืองานสังคมงานอะไรที่ต้องใช้ดาราไปทำ เราก็มักจะได้รับเลือกไปวาดรูปโชว์

จนกระทั่งมีพี่ๆ ศิลปินเค้าเห็นจากรายการทีวี หนังสือต่างๆ สัมภาษณ์ ก็ชวนไปแสดงนิทรรศการกลุ่ม ก็เป็นครั้งแรกที่มีโอกาสได้แสดงงานศิลปะ ตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกว่าการแสดงงานศิลปะมันคืออะไร คือเราเป็นคนที่ชอบทำเฉยๆ ชอบไปดูงานศิลปะตามแกลเลอรี ดูนิทรรศการต่างๆ แต่ไม่ได้คิดจะเอามาแสดง

แล้วเริ่มแสดงงานศิลปะเมื่อไหร่

ตอนนั้นแสดงงานกลุ่มครั้งแรกที่เสถียรธรรมสถานของท่านแม่ชีศันสนีย์ ตอนนั้นก็มีศิลปินใหญ่ๆ ดังๆ หลายท่าน เรานี่เป็นเด็กน้อยเลย แต่ก็เป็นโอกาสในการเริ่มต้นครั้งแรกที่เรารู้สึกดี รู้สึกประทับใจมากๆ รู้สึกว่าการทำงานศิลปะ การได้ทำงานกับสังคมด้วย มันเป็นอะไรที่น่าสนใจ มันทำให้เรารู้สึกเป็นอิสระจากงานการที่เราทำอยู่ในวงการบันเทิง ก็รู้สึกว่า...เอาละ งั้นเราจะทำงานศิลปะต่อเนื่อง วาดรูปต่อเนื่อง เรื่องแสดงตอนนั้นยังไม่ได้คิดมากว่าทำงานศิลปะแล้วต้องเอาไปแสดง แต่หลังจากครั้งแรกก็มีครั้งต่อๆ มาเข้ามาอีก พอคนรู้ว่าทราย วรรณพร ทำงานศิลปะด้วยนะ วาดรูปด้วยนะ พูดได้ด้วยนะ พูดเรื่องสังคม เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องงานที่เราไปร่วมน่ะค่ะ ก็มีงานต่อเนื่องมา ใครชวนไปไหนเราก็ดูว่างานนั้นน่าสนใจไหม จนติดใจ ทำมันเรื่อยๆ มา

ถึงจุดหนึ่ง ดูเหมือนว่าจะเริ่มทำงานศิลปะมากกว่างานในวงการบันเทิง

ค่อยๆ Fade จากงานในวงการบันเทิงไปเองเลย เพราะมีความรู้สึกว่า เออ อันนี้เลยเป็นสิ่งที่เราค้นหา สิ่งที่เราอยากจะทำ เพราะตอนนั้น 10 ปีในวงการบันเทิงนั้นมีความรู้สึกว่า มีอะไรสักอย่างมันบอกเราว่าเราไม่มีความสุข เราทำงาน แค่ทำเฉยๆ ทำเพื่อที่จะได้เงินมา แล้วก็หมดไปกับสิ่งที่เรารู้สึกว่า มันทำเพื่อที่จะชดเชยความรู้สึกของเรา บ่อยครั้งที่ไปถ่ายละครเสร็จ ขับรถกลับบ้าน เรารู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมเรารู้สึกว่าไม่มีความสุข ทั้งๆ ที่คนอื่นๆ มากมายอยากเข้าทำงานในวงการบันเทิง อยากมาเป็นดารา อยากเป็นนางเอก แต่เรากลับรู้สึกว่าเราอยากหยุด ไม่อยากทำแล้ว ไม่อยากมีชื่อเสียงแบบนั้น ไม่อยากเป็นนางเอก ไม่พร้อมที่จะเป็น

คนสาธารณะแบบที่ดาราเป็น

ตอนนั้นก็อายุแค่ประมาณ 25 เอง มีคนถามเยอะมาก สัญญาช่องก็ยังไม่หมด นักข่าวก็ถามว่าทรายเพิ่ง 25 เอง ทรายยังได้อีกเยอะ ยังสามารถทำงานในวงการบันเทิงได้อีกนาน แต่ทำไมทรายถึงเลือกที่จะออก ตอนนั้นทรายพยายามหลายครั้ง ไม่ใช่อยากออกก็ออกเลย ยังมีบทเสนอมา มีงานอื่นๆ เข้ามา มันก็ยังอดไม่ได้ที่จะทำ ก็เลย...เอาอีกงานนึง เสียดายตังค์ ทำไปเถอะ เล่นละครเรื่องนึงก็ได้เงิน 6-7 แสน ถ่าย 2-3 เดือน ออกรายการทีวีนู่นนี่ ก็คือเงินเข้ามาทุกวันๆ แต่วันที่เรารู้สึกไม่ไหวจริงๆ คือ ไม่อ่านบทละ ใครเสนออะไรมาไม่เอาละ พอ จบ เลือกวิถีใหม่ในอาชีพที่เรารู้สึกว่ามันทำให้เรามีความสุข

พอถึงจุดนึงทรายคิดว่าถ้าเราทำอะไรก็แล้วแต่แล้วเราไม่มีความสุข มันเหมือน...ไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร อย่างทุกวันนี้ก็เหมือนกัน บ่อยครั้งที่มีปัญหาเข้ามากระทบใจ หรือนอนไม่หลับ ก็จะมีความรู้สึกว่าชีวิตไม่อยากได้อะไร ใครเอาเงินล้านมาให้ตรงหน้าแต่นอนไม่หลับนี่ขอแลกกับการนอนหลับดีกว่า จะรู้สึกว่าบางทีชีวิตเราก็ต้องแลกกับอะไรสักอย่าง ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ หรือฟรีๆ

ในที่สุดก็โอเค...ทรายเลือกแล้วว่า อยากจะเลือกวิถีใหม่ อยากทำงานศิลปะ

มีพื้นฐานทางศิลปะแค่ไหน

จริงๆ แล้วตอนเด็กๆ อยากเรียนช่างศิลป์มาก ที่บ้านก็จะมีลูกพี่ลูกน้อง 2-3 คนที่เรียนช่างศิลป์ แต่ที่บ้านก็ไม่เห็นด้วยที่เราจะไปเรียนเพราะต้องไปอยู่หอพัก ตอนนั้นอายุประมาณ 12-13 ทางบ้านก็คิดว่าเราเป็นเด็กผู้หญิง ขนาดไปสอบนาฎศิลป์เค้าก็ยังไม่ค่อยเห็นด้วย

เพราะต้องเดินทางไกล บ้านอยู่พระประแดงต้องไปเรียนสนามหลวง ช่างศิลป์ก็ไปอยู่ลาดกระบัง แล้วพี่ชายเราก็ทำเสียไว้หลายอย่าง (หัวเราะ) จากที่ไปอยู่หอ ไม่ค่อยกลับบ้าน เวลาญาติไปเยี่ยม ก็..นะ..สภาพเด็กหอก็น่าจะรู้ สรุปก็เลยได้ไปสอบเข้านาฎศิลป์แทน ได้เรียนวิชาเต้นรำระบำฟ้อนดนตรี แล้วก็มีแอบไปดูพวกรุ่นพี่ช่างศิลป์วาดรูปบ้างเพราะตอนนั้นปีสุดท้ายก็ยังเรียนที่วังหน้าอยู่ ก็เลยซึมซับมาโดยอัตโนมัติตั้งแต่เด็กๆ

ทำไมอยากทำงานศิลปะ

ถ้าคนๆ นึงเกิดมาแล้วเลือกที่จะเป็นอะไรสักอย่าง ทรายว่าการเป็นศิลปินมันเท่ดีนะ (หัวเราะ) ได้เลือกที่จะทำตามความคิดความฝันของตัวเอง ไม่ต้องไปศึกษาตำราท่องจำ เราแค่ฝึกฝนความคิดแล้วก็ฝีมือที่พวกศิลปินใหญ่เค้าชอบใช้คำว่าจิตวิญญาณ แต่สำหรับทรายไม่ได้มีพื้นฐานมาทางศิลปะโดยตรงๆ จะเรียนว่าฝึกฝนด้วยตัวเองล้วนๆ เลยก็ได้ หมายถึงทรายไม่ได้มี Skill หรือ Basic ที่สอนกันในโรงเรียนน่ะ ก็ดูศิลปินวาด เรียนรู้จากการทำงาน อย่างตอนที่หัดเขียนรูป Landscape ก็ไปเลย ไปลงพื้นที่ ไปกับกลุ่มพี่วสันต์ สิทธิเขตต์ กลุ่มศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มศิลปินเพื่อสันติภาพ เพื่อ...อะไรอีก (หัวเราะ) เพื่อประชาธิปไตย ศิลปินผืนป่าตะวันตก Save the Sea ศิลปินต่อต้านเขื่อน เวลาไปส่วนใหญ่ก็ไปเขียน Landscape ไปบันทึกธรรมชาติเอาไว้ในงานของเรา ครั้งแรกที่ไป คือใช้คำว่าวาดรูปไม่เป็นเลยด้วยซ้ำ เราก็ไปเรียนรู้จากการทำงานจริง ศิลปินแต่ละคนก็จะมีเทคนิค วิธีการทำงาน วิธีคิดในผลงาน มุมมองแตกต่างกันไป เราก็เริ่มจากดูคนอื่นก่อน อันไหนอยากจะรู้ก็ถาม แล้วก็เรียนจากธรรมชาติ

จากครั้งแรกเขียนยังไม่ค่อยมั่นใจ พอมีครั้งต่อๆ ไปก็เหมือนเราได้ฝึกฝนมากขึ้น ได้ดั่งใจมากขึ้น

เดินทาง ทำงานศิลปะบ่อยๆ มีทริปไหนที่ประทับใจบ้าง 

มีที่ประทับใจ ตอนที่ไปปัตตานีน่าจะปี 2548 ตอนนั้นก็เป็นกลุ่มศิลปินเพื่อสันติภาพไปวาดมัสยิดกรือเซะ ไปวาดที่หมู่บ้านชาวประมง แล้วก็เอาผลงานทั้งหมดไม่จัดแสดงที่โรงแรมที่เขาจัดงานเพื่อสันติภาพ ตอนนั้นก็

เริ่มจะมีปัญหาขัดแย้งทางภาคใต้ เริ่มระเบิด เริ่มเคอร์ฟิว คนไม่คุยกัน มีปัญหาโน่นนี่นั่น

อีกอันที่ประทับใจ ไปเขียนต่อต้านโรงไฟฟ้าที่สระบุรี ศิลปินก็ไปวาดตรงพื้นที่จะสร้างโรงไฟฟ้า ที่ประทับใจคือเราเอาผลงานมาจัดแสดง วางกับเก้าอี้เหมือนในโรงเรียน เหมือนเราได้บันทึกธรรมชาติไว้ให้คนเห็นว่า เนี่ย ก่อนที่เราจะทำลายมัน บ้านคุณมันสวยงามขนาดนี้

นอกเหนือจากนี้ ช่วงที่มีการประท้วงตั้งแต่ปี 2548 ศิลปินก็มีบทบาทมากในการที่เข้ามาร่วมกันรณรงค์หยุดคอรัปชั่น มีงานศิลปะออกมาเยอะแยะมากมายที่พูดถึงเรื่องการเมือง เรื่องสังคม เรื่องประชาธิปไตย เรื่องคอรัปชั่น เรียกว่ามีมากกว่ายุคสมัยไหนๆ เลยด้วยซ้ำ แล้วศิลปินก็กินนอนกันอยู่ในที่ชุมนุม ใครวาดรูปเก่งอะไรแค่ไหน ตอนนั้นทุกคนเท่ากัน ช่วยกันเขียนป้าย ได้มีส่วนร่วมหลายๆ อย่างเหมือนกัน

ทำอะไรเยอะเหมือนกันนะเรื่องศิลปะ

นอกจากวาดรูปทรายก็ทำอย่างอื่นด้วยเหมือนกันนะ อย่างเวลาวาดรูปแล้วมันก็สนุกสนานใช่ไหมล่ะ ก็ไม่ได้หยุดที่จะเรียนรู้ พอมารู้จักเซรามิกเราก็อยากเรียนเซรามิก ก็ไปเรียนเซรามิก ปีนั้นทั้งปีทำเซรามิกอย่างเดียวเลย พอหลังจากเรียนรู้ก็เริ่มมีงานเซรามิกมาอยู่ในนิทรรศการ

ในที่สุดก็มีนิทรรศการแสดงผลงานเดี่ยวของตัวเอง

หลังจากแสดงงานไปหลายๆ ครั้งๆ ก็มาถึงการแสดงงานเดี่ยวครั้งแรก ตอนนั้นคิดอะไรไม่ถูกเลย คิดว่าอยากแสดงงานเดี่ยวบ้าง ตอนนั้น เริ่มต้นจากทำวิดีโอ อาร์ต รู้สึกว่าเรามาจากนักแสดงเนาะ โตมากับหนัง ละคร เพลง แล้วเราก็รู้ขั้นตอนในกระบวนการสร้าง งานแรกเราก็เลยอยากทำวิดีโอ อาร์ต เป็นคล้ายๆ กับเพอร์ฟอร์แมนซ์ วิดีโออาร์ต ทรายก็ถ่ายตัวทรายเอง พูดถึงเรื่องของชีวิต เรื่องของสังขาร ตอนนั้นที่คิดก็คือว่า เราอยากเลิกเป็นดารา เราอยากทำงานศิลปะแบบที่ไม่ต้องขายหน้าตาตัวเอง ก็เลยคิดวิดีโออาร์ตชิ้นนึงขึ้นมา ชื่อ “สังขารา” ถ่ายวิดีโอเรากับคุณย่าอายุ 70-80 แล้ว หน้าเหมือนกัน อยากให้คนได้เห็นว่าผู้หญิงทุกคน วันนี้เราเป็นสาวเดี๋ยววันนึงเราก็ต้องแก่ ร่างกายเราก็ต้องเป็นไปตามวัย เหมือนกับทรายอยากให้คนเห็นเราในอายุ 70 -80 จะเป็นยังไง จากนางเอกที่คนเห็น ณ วันนี้ วันข้างหน้าเธอเป็นอย่างนั้นนั่นเอง ก็คือแก้ผ้าหมดเลย เห็นนมที่เหี่ยว ผิวหนังที่เหี่ยวย่น ผมขาว ผมร่วง คือมันเป็นสังขารไม่เที่ยงน่ะ

ตอนนั้นก็ทำเป็นนม...ทำจากผ้า เป็นงานจัดวาง ถ้าเป็นนักมวยเลิกแล้วเค้าเรียกแขวนนวม ชิ้นนี้ทรายตั้งชื่อว่า “แขวนนม” ถ้าเป็นภาษานางแบบก็คือเราเลิกแล้ว ตอนนั้นทรายก็ตัดสินใจว่าเลิกแล้วเลิกเป็นดารา แขวนเต้า แขวนนม

ก็เป็นที่มาของงานโซโล่ครั้งแรก บวกกับภาพถ่ายเงาตัวเอง งานรวมๆ ชุดแรกน่าจะเป็นคอนเซปช่วล ตอนนั้นก็ศึกษาจากการดูงานของศิลปินท่านอื่นๆ ส่วนตัวทรายก็ชอบงานเพอฟอร์แมนซ์ด้วย รู้สึกว่างานมันเข้าถึงเราด้วย บวกกับตั้งแต่เด็กมาเป็นคนกล้าแสดงออก หน้าด้าน ไม่เคยอายอะไรทั้งสิ้น (หัวเราะ) ถ้ามีแนวความคิดที่ดี มีอะไรที่น่าสนใจให้เราทำ เราทำได้ค่อนข้างดี อันนี้เป็น Exhibitionism ติดตัว

พอหลังจากงานครั้งแรก ประทับใจมากต้องขอบพระคุณอาจารย์ทวี รัชนีกร เป็นคนที่ให้แรงบันดาลใจสุดๆ เลยตอนนั้น ท่านมาเป็นประธานเปิดงานให้ แล้วท่านก็บอกว่า ทรายจำไว้นะ มี (นิทรรศการ) ครั้งที่หนึ่งแล้ว เดี๋ยวมันจะต้องมีครั้งต่อไป นี่คือประโยคที่ทุกวันนี้ยังจำได้อยู่ แล้วมันก็มีครั้งต่อไปจริงๆ

ตอนนี้แสดงงานมากี่ครั้งแล้ว

ทำมาหลาย โซโล่แล้วล่ะค่ะ ตอนนั้นเราเด็กน้อยมาก บางคนก็ไม่ยอมรับว่าเราเป็นศิลปิน มองว่าเราเป็นดาราที่มาทำงานศิลปะ อาจารย์ก็บอกว่าศิลปินผู้หญิงบ้านเรามีน้อย ช่วยกันดูแลเธอหน่อยแล้วกัน บ้านเราศิลปินผู้หญิงมีน้อยจริงๆ ส่วนใหญ่ ถ้าสังเกตบ้านเราศิลปินผู้ชายจะมีบทบาทมากกว่า 

อะไรทำให้สนใจการทำงานศิลปะเกี่ยวกับผู้หญิง

เรื่องผู้หญิงสนใจเป็นพิเศษคือ หนึ่งเราเป็นผู้หญิง เราเกิดมาจากแม่ แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมทุกๆ ที่ในโลกนี้ ไม่ใช่ประเทศไทยอย่างเดียว ผู้หญิงกลับกลายเป็นเพศที่ถูกกดขี่มาก แล้วก็มีความเหลื่อมล้ำทางสังคม การยอมรับ

ค่อนข้างแตกต่าง ประเทศไทยก็เหมือนกัน 

ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ประโยคนี้เราได้ยินกันมาตลอด พอผู้หญิงออกมาพูด...มันมีคำว่าสิทธิสตรี แต่ทรายไม่ได้คิดถึงคำนี้ ทรายคิดถึงเรื่องสิทธิความเป็นมนุษย์ ทรายก็เลยสนใจที่จะนำประเด็นของผู้หญิงขึ้นมาพูด

เพราะว่าจริงๆ แล้วผู้หญิงไม่จำเป็นต้องออกมาเรียกร้องสิทธิสตรี เราแค่พูดถึงสิทธิความเป็นมนุษย์ก็คือความเท่าเทียมกัน มนุษย์ทุกคนน่าจะมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้หญิงกลับถูกกำหนดให้เป็นเพศที่จะต้องตาม และจะต้องมีขนบธรรมเนียมประเพณีพิเศษสำหรับผู้หญิง อย่างบ้านเราถ้าผู้หญิงลุกขึ้นมาพูดอะไรสักอย่างก็จะมองว่าหัวรุนแรง

ในสังคมไทยเอง พอผู้หญิงลุกขึ้นพูด มันมีประโยคนึงที่เคยอ่านเจอว่า เมื่อผู้หญิงลุกขึ้นพูด ผู้ชายจะมองหน้า มองนม มองก้นของผู้หญิงคนนั้นก่อน ถ้ารู้สึกพอใจถึงจะรับฟัง ซึ่งมันก็จริงนะ

ยกตัวอย่างเราเคยมีนายกผู้หญิงคนนึง ตอนนั้นเป็นยุคที่ประหลาดใจว่ามีนักสิทธิสตรีผู้หญิงหลายคนออกมาสนับสนุน เพียงเพราะดีใจว่ามีนายกหญิงคนแรกของประเทศไทย แต่มันไม่ใช่ประเด็น ไม่ใช่ว่าพอผู้หญิง

ได้เป็นผู้นำแล้วเราต้องยินดี มันไม่ใช่ แต่ถ้าผู้หญิงชาวบ้านสักคน อย่างยายไฮ ขันจันทา ออกมาเรียกร้องสิทธิเพื่อบ้านเกิด หรือนักเคลื่อนไหว ชาวบ้านหลายๆ ท่านที่เป็นผู้หญิง เขาไม่จำเป็นต้องเป็นคนใหญ่โต แต่สิ่งที่

เขาทำมันไม่ได้พูดถึงสิทธิสตรีแต่เป็นสิทธิความเป็นมนุษย์ คือสิ่งที่ทรายสนใจ การที่ผู้หญิงเคลื่อนไหวทำอะไรแบบนี้โดยไม่ต้องพูดถึงความเป็นเพศมันน่าสนใจกว่า

อย่างมหาลัยที่เราเรียน “สันตินิเกตัน วิศวภารติ” ทั้งคณะไม่มีอาจารย์ผู้หญิงสักคน ก็ไปคุยกับอาจารย์ที่สอนประวัติศาสตร์ศิลป์ พอเราถามคำถามนี้ทุกคนก็จะส่ายหัวแล้วก็เดินหนีไป มีอยู่ครั้งนึง เราทำโปสเตอร์ตั้งคำถามว่าทำไมคณะศิลปะถึงไม่มีอาจารย์ผู้หญิง แล้วก็แอบไปแปะตอนที่ไม่มีใครเห็น แต่สุดท้ายเค้าก็รู้แหละว่าใครเป็นคนทำ

เราก็เขียนรูปบนส่าหรีประมาณ 60 ชิ้น แล้วก็ทำทางเข้าที่แสดงงานเป็นรูปหว่างขา คนที่จะเดินเข้าไปดูนิทรรศการก็ต้องเดินผ่านเข้าไปทางหว่างขาหรือช่องคลอดอันนี้ มันก็ตลกมากเพราะผู้ชายที่จะเข้าไปดูงาน

แม้แต่อาจารย์ที่สอนศิลปะก็ยังแอบไปเปิดผ้า หาทางข้างๆ เข้า ไม่ยอมเข้าทางที่เราทำไว้ แม้กระทั่งคนทำงานศิลปะที่น่าจะมีอิสระทางความคิด มีวุฒิภาวะ ก็ยังรับไม่ได้พอเป็นเรื่องของความเป็นเพศ

เอาการทำงานศิลปะมานำเสนอแนวความคิดของตัวเองอย่างไรบ้าง

งานศิลปะที่ทรายทำคือใช้สื่อศิลปะนำเสนอความคิดของตัวเอง สิ่งที่อยากจะบอก อยากจะพูดกับสังคม อยากจะให้คนเห็น โอเค ใช้ภาพวาดเป็นสื่อชนิดหนึ่ง เพนท์ติ้ง เซรามิค วิดีโอ บทเพลง คือเรื่องที่เราสนใจแต่เราใช้สื่อทางศิลปะในการนำเสนอมันออกมา

ช่วงนึง ที่มีการเผาสยามสแควร์ ตอนนั้นทำงานออกมาชุดนึง ชื่อ “Wall>War” ก็เลือกใช้เพนท์ติ้งขีดเขียนเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นยุคนั้น ใช้เซรามิกที่ทำเป็นรูประเบิดหล่นลงมาเหมือนฝนตก มีรถถัง มีแขนขา ชิ้นส่วนของคนที่ตายช่วงนั้น เราก็ไปบันทึกข้อความตามห้องน้ำ ปั้มน้ำมัน ตามกำแพงที่คนมาขีดเขียนด่ากันไปด่ากันมา ก็สนุกดี เป็นอีกงานนึงที่เราทำแล้วดูที่ภาพรวมของงานที่เราพูดถึงสงครามกับกำแพง ช่วงนั้นคนหาที่ระบายออก คนอยากพูดกับสังคม ก็ใช้วิธีเขียนตามกำแพง ตามห้องน้ำ ก็มีคนทั้งสองฝ่ายที่ออกมาทะเลาะกัน งานชุดนั้นก็ทำให้เรารู้สึกว่าได้พูด ได้ตะโกนออกมา ซึ่งมันไม่ใช่ความคิดของเราคนเดียวด้วยซ้ำ แต่เรารวบรวมคำพูดของคนในสังคมที่เขาไปเขียนๆ กันไว้ แล้วก็เอามารวมกันเป็นงาน

หลังจากงานชุดนั้นก็รู้สึกว่ากรุงเทพฯ ไม่น่าอยู่ วันที่เขาเผาสยาม เผากรุงเทพฯ เราอยู่กับเพื่อนๆ ที่ทำเซรามิกด้วยกัน ก็รู้สึกว่ามันแย่มาก ตัดสินใจขี่มอเตอร์ไซค์จากกรุงเทพฯ ไปหัวหิน ขี่ไปก็เช็คข่าวไป เผาแล้วเหรอ มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย จนงานชุดนั้นออกมาเสร็จ ตัดสินใจเก็บเสื้อผ้าไปอยู่กระบี่ ตอนนั้นคิดว่าเราต้องหาอะไรทำสักอย่างดีกว่ามานั่งอยู่กับความคิดของตัวเองกับสังคม กับการเมือง ก็ไปกระบี่ ไปเช่าบ้านอยู่ แบกอุปกรณ์ทำงานไปด้วย ตอนนั้นขี่มอเตอร์ไซค์ไปเจอชาวบ้านเขาทำผ้าบาติกเราก็ไปเรียนรู้จากเขา แล้วก็อาศัยเทคนิคของการทำผ้าบาติกมาทำงานที่เป็นแนวความคิดของเราเอง จนได้งานอีกชุดที่แสดงที่กระบี่ Sea in Sai พูดถึงสภาวะภายในของตัวเองที่เรารู้สึก เจ็บปวด เบื่อ เหงา อะไรหลายๆ อย่าง ก็ปล่อยมันออกมาในงานหลังจากนั้นถึงตัดสินใจไปเรียนต่อที่อินเดีย

ทำไมถึงตัดสินใจไปเรียนศิลปะที่ศานตินิเกตัน ประเทศอินเดีย

ครั้งแรกที่ไปไม่รู้เลยว่ามันคืออะไรอยู่ที่ไหน รู้มาจากหนังสือบ้าง คนที่เคยไปอยู่ที่นั่น เริ่มต้นก็คือแบคเแพคไป ไปตามหาเอาเองว่ามันมีอะไรให้เรียน มีอะไรที่น่าสนใจ แล้วต้องทำยังไงบ้าง

ก็เลยไปเจอกับอาจารย์ เราก็แบกพอร์ทโฟลิโอ สูจิบัตร งานของตัวเองที่เคยแสดง เขียนอธิบายตัวเรานิดหน่อย แล้วก็ไปถามว่าถ้าเราอยากจะมาเรียนเราต้องทำยังไงบ้าง ซึ่งขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก ตอนนั้นก็โอเค เขียนใบสมัคร ทิ้งพอร์ทโฟลิโอไว้ พอกลับมาเมืองไทยก็ได้รับจดหมายตอบรับจากมหาวิทยาลัยว่าเราได้รับคัดเลือกให้เรียนที่คณะ Kala Bhavana หรือคณะศิลปกรรมศาสตร์แห่งวิศวะภารตี

ก็ดีใจมากตอนนั้น ช่วงนั้นก็ยังมีงานอื่นๆ ที่ทำอยู่ที่เมืองไทย ก็แคนเซิลหมดทุกอย่าง ก็แพคกระเป๋าเตรียมตัวไปอยู่ที่สานตินิเกตัน

เดือนแรกก็ต้องไปหาบ้านเช่าก่อน จะมีนักเรียนหลากหลายมาก ฝรั่ง เกาหลี ญี่ปุ่นไทย เดือนแรกค่อนข้างเหนื่อยและทรมาน เพราะเวลาเขาทำงานไม่เหมือนบ้านเรา Central Office เปิด 10 โมงเช้า บ่ายสองโมงปิด

คลาสปิดบ่ายสอง ร้านค้าปิด โรงเรียนปิด เค้าจะพักผ่อนนอนหลับ เปิดอีกที 4-5 โมงเย็น ช่วงแรกไปแล้วก็ เฮ๊ย เรามาทำอะไรว้า อย่างเราอยู่เมืองไทย ไปไหนก็ต้องรีบ ต้องวางแผน ต้องจัดการ แต่ที่นู่นทุกอย่างช้า ทำอะไรช้าๆ เฮ้ย ไม่ไหววะ ไปไหนก็ปิดแล้วเหรอ นี่ก็ไม่มี นั่นก็ไม่ได้ เหมือนเด็กน้อยอยากร้องไห้กลับบ้าน หรือว่ามันไม่เหมาะกับเรา กลับบ้านดีไหม

ก็ไปปรึกษาอาจารย์ว่าเราคงไม่เรียนละ กลับเมืองไทยดีกว่า

ทีนี้การรับนักศึกษาที่นั่น เนื่องจากมหาวิทยาลัยเล็กๆ การรับนักศึกษาก็ค่อนข้างจำกัด ก็จะใช้วิธีนั่งประชุมกัน อาจารย์ก็ต้องเอาพอร์ทโฟลิโอของนักศึกษามาดูแล้วโหวต ยกมือกันว่าจะรับนักศึกษาคนไหนเข้าเรียน

อาจารย์ก็หยิบแฟ้มเอกสารของเรามา เค้าบอกดูนะ กี่ลายเซ็นต์ อันนี้คืออาจารย์ทั้งหมดที่ยกมือให้เราได้เข้ามาเรียน ก็เลยคิดว่าต้องเรียน ต้องปรับตัว ไหนๆ แล้วก็ใช้ชีวิตช้าๆ แบบที่มันควรจะเป็น เออ มันก็รู้สึกดีขึ้น

ปรับชีวิตให้ช้าลง เรียนรู้จากสิ่งที่เราไปค้นหา จากในคลาส จากธรรมชาติ จากบรรยากาศที่ท่านระพินทร์นาถ ตะกอร์ สร้างไว้ ก็ไปตามรอยสิ่งที่เรามาค้นหามีอะไรบ้าง สถานีรถไฟ ต้นไม้ของตะกอร์ บ้านของตะกอร์ ฯลฯ เข้าหมู่บ้าน ดูบ้านดิน ดูเขาทำสวนทำไร่ทำนา ดูแม่น้ำ นั่งกินชา เข้าหมู่บ้าน ไปดูเด็ก ไปสอนเด็กทำศิลปะ ก็เลยได้โปรเจกต์ เด็กเลิกเรียนก็จะมาบ้านเราเพื่อที่เราจะสอนศิลปะเด็ก

วาดรูป ทำหุ่น เอาเสื้อยืดไปให้เด็กเพนท์ แล้วก็เอามาทำนิทรรศการ Children's Voice form the Village นอกจากนั้น ก็มีเพนท์สามล้อถีบ เราก็ชวนพวกนักเรียนศิลปะมาวาดสามล้อ เราเรียกมันว่า Art Movement เพราะสามล้อจะปั่นอยู่ในศานตินิเกตัน ก็ทำให้ศานตินิเกตันมีสีสันมากขึ้น

ปีแรกที่เรียนคือ Mural Painting จิตรกรรมฝาผนังสไตล์อินเดียกับฝรั่งเศส เพราะมันเป็นความรู้ที่ไม่มีสอนในบ้านเรา ปีแรกทั้งปีก็ฝนหิน สีเป็นหินก้อนๆ แล้วก็มีโม่ ฝนไปเรื่อยๆ เอาน้ำพรมๆ เพื่อจะทำเป็นสี ทำพื้น ทำสเก็ตซ์ ส่งสเก็ตซ์ให้ครูดู เจาะรู เจาะลาย เอาอิฐมาบดทำลายเส้น เทคนิคน่าสนใจมากๆ ทุกวันนี้ยังอยากจะทำจริงๆ ชิ้นใหญ่ๆ สักครั้งก่อนจะลืม ที่สนุกที่สุดคือเทอราคอตตาเทคนิค กับมิกซ์มีเดีย เอาทุกอย่างมาผสมรวมกัน ทุกวันนี้งานยังติดตั้งที่ศานตินิเกตัน เอาไปติดตั้งในหมู่บ้าน

ไปอยู่ที่นั่นต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

ที่นั่นฤดูกาลเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ไปอยู่ที่นั่นเราจะไม่ได้แค่เรียนหนังสือ เราต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตด้วย เช่น หน้าร้อนเราอยู่ยังไง ควรจะกินอะไร การแต่งตัว เสื้อผ้า การดูแลบ้าน หน้าฝนจะอยู่ยังไง พายุลูกเห็บมา หน้าหนาวเปลี่ยนชุดเครื่องนอน เปลี่ยนเสื้อผ้า หน้านี้ห้ามกินน้ำร้อน หน้านี้ห้ามกินไก่ หน้านี้กินได้แต่ผักชนิดนี้ ที่โน่นกินอยู่ตามฤดูกาลทุกอย่าง ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยตัวเอง ทำอาหาร ดูแลเสื้อผ้า ดูแลบ้าน ซ่อมจักรยานทุกวัน

จริงๆ อยากจะเรียนรู้อย่างอื่นเพิ่มเติม หลังจากจบ Mural Painting ก็คิดว่าอยากจะเรียน Textile ปักผ้า ซึ่งมันน่าสนใจมาก ไปเรียนรู้เพื่อให้เรามีอะไรใหม่ๆ เข้ามาในสมอง งานที่อยากจะทำคืองาน Textile มันมีเทคนิคที่เรียกว่า Mural Textile เอาผ้ามาเย็บ มาปัก มาเรียงร้อยต่อๆ กัน เอาเทคนิคต่างๆ มาผสมกัน เลยเอางานที่เคยทำชุด My Body My Weapon ที่เขียนภาพบนส่าหรี 60 ชิ้น เอามาตัดต่อ แปะ วางสี ใหญ่เท่าสนามฟุตบอล ก็แบกกลับมาแต่ยังหาที่แสดงในไทยไม่ได้

ถือว่าเป็นศิลปินไทยที่ไปแสดงงานต่างประเทศหลายที่ ไปที่ไหนมาบ้าง

มีที่ไหนบ้าง ก็นานมากแล้วก่อนที่จะมาแสดงเดี่ยวชุดแรก ก็มีเอาภาพถ่ายไปแสดงที่นิวยอร์ค มีไปเขียนเป็น Public Art ที่เวียนนา ออสเตรีย คือมันเป็นพื้นที่สาธารณะที่ให้ศิลปินมาเขียนรูป แล้วก็มีที่บูดาเปส ฮังการี มีเทศกาลศิลปะ มีแคมป์ให้ศิลปิน นักท่องเที่ยว มาอยู่ร่วมกัน 7 วัน มีดนตรี การแสดง มีของขาย ฯลฯ หลากหลายมาก มีไปเพอฟอร์แมนซ์ที่จีน อินเดีย แล้วก็มีไปเรสิเดนซีที่เกาหลี ก็ไปทำโปรเจกต์สวนสันติภาพของตัวเอง เอาดอกไม้ ต้นไม้มาปลูก ทำวิดีโออาร์ต ทำเพอฟอร์แมนซ์ แล้วก็ไปเรียนรู้เทคนิคภาพพิมพ์ของเกาหลี คือไปประเทศไหนก็อยากจะเรียนรู้ Traditional Style ของเขา แล้วเราก็ค่อยมาดัดแปลงเป็นสไตล์ของเราเอง อีกอันที่อยากทำคือเทคนิคเขียนพู่กันของจีน เป็นสิ่งต่อไปที่อยากจะเรียนรู้

ทำไมเขาสนใจงานเรา ไม่รู้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เขาเชิญเรานะ เราต้องไปเสนองานเราให้เขาดู ถ้าเขาชอบก็เลือก

จนกระทั่งวันนึงตัดสินใจทำแกลเลอรี

คือทรายไม่ได้มาจากสายตรงทางศิลปะ แต่ได้มีโอกาสเดินทางไปทำงานศิลปะ ไปแสดงงาน ไปเพอฟอร์มานซ์ ในต่างประเทศ ก็เลยนึกถึงคนอื่นๆ น่ะ ว่าถ้าเรามีพื้้นที่ในการแลกเปลี่ยน แชร์ไอเดีย ประสบการณ์ ความคิด มันก็น่าสนใจ อย่างพี่วสันต์เองก็เดินทางไปหลายๆ ประเทศ ก็มีเพื่อนศิลปินที่เดินทางมาอยู่กับเรา ทำงาน แสดงงาน ตอนที่กลับมาจากอินเดีย เลยคุยกับพี่วสันต์ว่าน่าจะทำแกลเลอรี ซึ่งไม่ใช่เพื่อการค้า แต่เราอยากจะมีพื้นที่ให้ศิลปินรุ่นใหม่หรือใครก็แล้วแต่ได้มีพื้นที่ในการโชว์งาน แล้วแกลเลอรีของเราน่าจะแตกต่างจากที่อื่นตรงที่เราไม่ได้เน้นการขาย แต่เราเน้นเรื่องความคิด เรื่องวิธีการนำเสนอ

ชื่อก็บอกอยู่แล้วนะ “Rebel Art Space” คือถ้าคุณมีความคิดที่แตกต่างจากตลาดหรือสิ่งที่เป็นอยู่คุณก็มาที่นี่ มาทำงานร่วมกัน มาโชว์งาน แล้วก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องเปลี่ยนงานทุกเดือน ถ้ามีนี้ไม่มีอะไรน่าสนใจเลยก็ไม่ต้องแสดง หรือถ้ามีอะไรที่น่าสนใจนอกเหนือจากการวาดรูปหรือการโชว์งานศิลปะ จะเป็นพื้นที่ให้คนมาแลกเปลี่ยนกัน ทำละคร ฉายหนัง มันก็เป็นไปได้ในพื้นที่เล็กๆ ของเรา

อีกอย่างคือทำเรสิเดนซีหรือที่พักสำหรับศิลปินที่จะเข้ามาพักอาศัยและทำงานในไทยด้วย ก็น่าสนใจที่ได้แลกเปลียนกับคนอื่น ถ้าเรามีพื้นที่แสดงงานอยู่แล้ว มีอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์งานให้คนได้มาใช้ก็น่าสนุกดีในการอยู่ด้วยกิน ทำกับข้าว กินข้าวด้วยกัน ได้แลกเปลียนความคิด

ที่เราทำโครงการนี้ก็เพราะเราเดินทางไปเป็นคนพำนัก สมบุกสมบันมาเยอะ เราก็เจอเรื่องราวมากมาย รู็สึกว่าการทำเรสิเดนซีมันก็เหมือนการแลกแลกเปลี่ยน ตามจุดประสงค์มุ่งหมายของโครงการอื่นๆ ในประเทศอื่นซึ่งเราคิดว่าถ้ามีศักยภาพทำได้ก็ควรทำ มาอยู่ร่วมกัน ทำงานด้วยกัน ใช้ชีวิจร่วมกัน หนุกจะตายเนอะ และเปลี่ยนไอเดีย คุยกันความเป็นไปของโลกและงานศิลปะ เหมือนได้ศึกษาเรื่องราวของคนอื่นๆไปด้วย มันก็น่าทำใช่มั้ย?

เคยคิดไหมว่าจะมาไกลขนาดนี้ บนเส้นทางนี้ 

จริงๆ อยากแค่ได้ทำงานศิลปะและ สะสมงานศิลปะที่ชอบ เรารักศิลปะมาก มันมีความรู้สึก เรื่องราว และประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นที่นั่น ณ เวลานั้น แล้วเกิดอะไรขึ้นที่นี่ ณ เวลานี้ ทำให้เราได้คิดได้เห็น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือตั้งแต่เล็กมา ทรายสนใจมากกว่าสิ่งอื่นใด เหมือนกับว่ามันเป็นความทรงจำ งานศิลปะเหมือนบันทึกเรื่องราวความรู้สึกของเราไว้ด้วย เราเป็นคนที่ดราม่ามาก อ่าน ดู รู้ เห็น เรียนรู้ กระทบที่จิตใจ

ทำแกลเลอรีก็แค่อยากให้มีเวทีของคนรุ่นใหม่ๆ ที่มีความแหกคอกแหวกแนว ที่เป็นไปแบบที่ตัวเองเป็น ไม่ต้องสนใจตลาด เพราะเราไม่คิดเรื่องขาย เพื่อให้มีพื้นที่ให้เราได้อ้าปาก คนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่เล็กๆ ทำงานก็พอแล้วเนอะ พี่วสันต์โอเค และสนับสนุนอย่างยิ่ง ที่อย่างน้อย เราก็ได้มีโอกาสเริ่มต้นทำอะไรดีๆ ที่เราอยากจะทำ เพื่องานศิลปะที่เรารักและคนอื่นๆ

เคยคิดหรือตั้งเป้าหมายไว้ไหมว่าอยากจะไปให้ไกลได้ขนาดไหนบนเส้นทางศิลปะ

ไม่เคยคิดอะไรทั้งสิ้นว่าจะไปไกลแค่ไหน เพราะหลังจากชีวิตเราผ่านไปเรื่อย เจออะไรมากขึ้น พบ สบ เจอ ปัญหา ทั้งเรื่องดี เรื่องแย่ มันทำให้เรารู้สึกสึกว่าชีวิตก็แค่นี้ ให้กูไปได้แค่มีความสุขในชีวิต

เส้นทางศิลปะอะไรก็แล้วแต่ ไม่ได้คิดถึงแค่เป็นจุดประสงค์ที่เราอยากทำ เราเหมือนเด็กๆ ที่อยากเล่นสนุก แต่ในขณะเดียวกันเราก็โครตจะจริงจังกับการมีชีวิตอยู่ การใช้ชีวิตของเราเป็นแบบไม่สมประกอบ ปล่อยปละละเลยไปในแบบที่เราคิดว่ามันดี และบังคับขัดเกลามันในแบบที่เราคิดว่าจำต้องควร ศิลปะจึงเป็นสิ่งเดียวที่เราคิดว่าคืออิสระ ที่เด็กคนหนึ่งจะมีชีวิตได้ แต่เราก็ต้องกลับมาในโลกของความจริงด้วยน่ะนะ

ถามว่าเราจะไปให้ไกลแค่ไหนบนเส้นทางของศิลปะ...ถ้าชาติหน้ามีจริงก็คงไปจนถึงชาติหน้าค่ะ