เปลี่ยนผ่านสู่กระทรวงดีอี ส.ค.นี้

เปลี่ยนผ่านสู่กระทรวงดีอี ส.ค.นี้

กระทรวงดิจิทัล รอขั้นตอนกฎหมายจัดตั้ง พร้อมเตรียมคลอดกฎหมายประกอบต่างๆ เพื่อให้เกิดโครงสร้างการดำเนินงานที่สมบูรณ์

นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ความคืบหน้าล่าสุด การเปลี่ยนผ่านจากไอซีทีไปสู่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ตามนโยบายดิจิทัล อีโคโนมีนั้นได้ร่างกฎหมายใหม่ 8 ฉบับ ซึ่งที่คืบหน้ามากที่สุดและอยู่ในชั้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) วาระ 2 คือพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ... ซึ่งคาดแล้วเสร็จได้ภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้รองรับการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่น่าจะเสร็จในไม่เกินส.ค.แน่นอน

โดยตามนโยบายรัฐบาลต้องปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3กลุ่ม โดยกลุ่มแรก คือ กลุ่มกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ กฎหมายปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว กฎหมายการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ซึ่งได้รวมกฎหมาย 3 ฉบับไว้ในฉบับเดียวกัน คือ กฎหมายการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กฎหมายการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และกฎหมายกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะเสร็จเดือนมิ.ย.2558

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มกฎหมายที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้แยก พ.ร.บ.เป็น 2 ฉบับ คือ กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และกฎหมายจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา สำหรับกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

และกลุ่มที่สาม คือ กลุ่มกฎหมายด้านความมั่นคง ได้แก่ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และกฎหมายการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ทั้ง 3 ฉบับ ทั้งหมดอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

แผนบรอดแบนด์แห่งชาติ
นายพรชัย ยังกล่าวถึงการจัดตั้งโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในโครงการที่จะเข้ามาสนับสนุนนโยบายดิจิทัล อีโคโนมีซึ่งปัจจุบันได้หารือร่วมกับทุกหน่วยงานราชการที่มีโครงข่ายบรอดแบนด์ในครอบครองไม่ว่าจะเป็นไฟเบอร์ออพติก อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และเสาโทรคมนาคม เป็นต้น

ขั้นตอนของการจัดตั้งบริษัทกลาง อยู่ระหว่างคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาหลังจากทีโออาร์เสร็จคาดว่าการคัดเลือกจะเสร็จไม่เกินก.ค.นี้โดยบริษัทที่ปรึกษาเพื่อมาวิเคราะห์มูลค่าทรัพย์สินและรูปแบบการจัดตั้งบริษัทก่อน ขณะนี้มี 4 บริษัทจาก 3 ประเทศ เช่นฝรั่งเศส ตะวันออกกลาง และสหรัฐอเมริกา ที่มีผลงานและประสบการณ์วางโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่

“กรอบการจ้างที่ปรึกษาคาดว่าจะอยู่ประมาณ 20-30 ล้านบาท โดยหลังจากเลือกบริษัทที่ปรึกษาเรียบร้อยแล้ว ตามทีโออาร์ต้องวางแผนให้เสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งหน่วยงานที่นำทรัพย์สินมารวมไว้ที่บริษัทกลางนี้จะได้ค่าตอบแทนเป็นการจัดสรรหุ้นในบริษัท”

เขา กล่าวว่า การตั้งบริษัทกลางมารวมโครงข่ายนั้น จะรวมโครงข่ายหลักจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บมจ.กสท โทรคมนาคม และบมจ.ทีโอที รวมทั้งโครงข่ายไฟเบอร์ออพติกของภาคเอกชน ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์

อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และกลุ่มทรู

โดยต้องนำทรัพย์สินมารวมกันเพื่อให้บริษัทกลางที่รัฐบาลจะจัดตั้งขึ้นมาบริหารจัดการทำบรอดแบนด์แห่งชาติ เพื่อให้เป้าหมายการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่ายไฟเบอร์ออพติกไปยังทุกหมู่บ้านทั่วประเทศภายในปี 2559และเข้าถึงทุกหมู่บ้านภายในปี 2560

ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาได้เข้าชี้แจงงบประมาณประจำปีจำนวน5,000 ล้านบาท แก่สำนักงบประมาณ โดยงบประมาณดังกล่าวเป็นลักษณะบูรณาการ เรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประจำปีงบประมาณ 2559 ซึ่งต้องการขับเคลื่อนกระทรวงไอซีทีตามนโยบายภาพรวมของนโยบายดิจิทัล อีโคโนมีของรัฐบาล

จัดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์แห่งชาติ
ขณะที่ โครงการจัดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์แห่งชาติ (เนชั่นแนล ดาต้า เซ็นเตอร์) นั้นเป็นการส่งเสริมให้เอกชนทั้งต่างประเทศ และในประเทศลงทุนสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ให้รัฐเช่าใช้จัดเก็บข้อมูลส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเปิดให้เอกชนต่างๆ เช่าใช้งานได้ โดยส่วนที่ให้บริการแก่หน่วยงานของรัฐจะได้รับบีโอไอ และพิจารณาให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า หากคัดเลือกผู้ให้บริการได้จะต้องจัดสร้างเสร็จพร้อมให้บริการภายใน 18 เดือน

ส่วนของข้อมูลรัฐที่จะนำมาเก็บไว้ที่ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์เอกชน จะมีกำหนดประชุมกำหนดเฟรมเวิร์ควันที่ 22 มิ.ย. นี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ระบุว่า เป็นข้อมูลทั่วไป ข้อมูลที่ให้บริการประชาชน จะไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลความมั่นคงของกระทรวงกลาโหม และกระทรวงการคลัง