‘Fisherfolk’ เรื่องเล่าของ ‘คนจับปลา’

‘Fisherfolk’ เรื่องเล่าของ ‘คนจับปลา’

อาหารทะเลสดๆ ผลิตจากชาวประมงพื้นบ้าน ใช้เครื่องมือถูกกฎหมายและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมส่งถึงมือผู้บริโภค นี่คือ “คนจับปลา" SE ของ"ชาวประมง"

อาหารทะเลสดๆ แพคสุญญากาศอย่างดี ประทับแบรนด์ “คนจับปลา” (Fisherfolk) ที่ปรากฏอยู่ใน “ร้านคนจับปลา” สาขาประจวบคีรีขันธ์และนครศรีธรรมราช หน้าร้านที่ Root Garden ทองหล่อ ซ.3 ออกบูธตามงานต่างๆ และผ่านเฟซบุ๊ก เป็นผลงานของกิจการเพื่อสังคมน้องใหม่ที่ชื่อ “คนจับปลา Fisherfolk” หนึ่งในกิจการเพื่อสังคมต้นแบบที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แนะนำให้กับนักลงทุนในงาน Money Expo 2015 ที่ผ่านมา

“คนจับปลา” คือผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลสด อาหารทะเลแปรรูปและอาหารสำเร็จรูป ที่ผลิตขึ้นโดยชาวประมงพื้นบ้าน และได้รับการรับรองว่า ใช้เครื่องมือประมงที่ถูกกฎหมายและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สารเคมี และยาฆ่าแมลง ขณะการจำหน่ายก็ส่งตรงถึงผู้บริโภคโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ผู้คนได้ทานอาหารปลอดภัย ในราคาที่เหมาะสม ชาวประมงก็ได้ราคารับซื้อที่เป็นธรรม เวลาเดียวกันเม็ดเงินส่วนหนึ่งยังวนกลับไปใช้ในงานอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเพื่อความยั่งยืนอีกด้วย

“เราไม่เหมือนโครงการ SE ทั่วๆ ไป ตรงไม่ได้ก่อตั้งขึ้นเพราะมีเป้าหมายว่า จะทำกิจการเพื่อสังคม แต่เริ่มจากการเป็น NGO มาก่อน โดยเราทำงานอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลในนามสมาคมรักษ์ทะเลไทย เข้าไปส่งเสริมชาวบ้านเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ใช้เครื่องมือที่ไม่ทำลายล้าง รวมถึงให้เขารู้ถึงสิทธิของตัวเอง”

“เสาวลักษณ์ ประทุมทอง” ตัวแทนสมาคมรักษ์ทะเลไทย หนึ่งพลังขับเคลื่อน “คนจับปลา” บอกเล่าจุดเริ่มต้นของกิจการเพื่อสังคมน้องใหม่ ที่แตกต่างไปจากคนอื่น

แล้วทำไมเอ็นจีโอ ถึงสนใจโมเดล “กิจการเพื่อสังคม” (Social Enterprise: SE) เสาวลักษณ์ บอกเราว่า หลังสมาคมฯ เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนประมงพื้นบ้านที่ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ 8-9 ปีก่อน พบว่า งานฟื้นฟูนั้นประสบผลสำเร็จอย่างดี เมื่อชาวบ้านเริ่มมีความเข้าใจ ยอมเปลี่ยนวิถีการทำประมงแบบเก่า มาสู่แนวทางใหม่ที่ช่วยอนุรักษ์ไปพร้อมกันด้วย จนทรัพยากรเริ่มมีมากขึ้น ทว่าปัญหากลับยังไม่ถูกจัดการอย่างเบ็ดเสร็จ เมื่อไม่สามารถแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจได้

“ทรัพยากรเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ทำไมวิถีชีวิตชาวประมงยังเหมือนเดิม เขายังถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง เพราะไม่มีสิทธ์กำหนดราคาสินค้าของตัวเอง มองไปในตลาด สินค้าประมงราคาแพงก็จริง แต่ชาวประมงไม่ได้เงิน แถมผู้บริโภคก็ไม่ได้กินอาหารที่ปลอดภัยด้วย เพราะพ่อค้าต้องรับซื้อในจำนวนที่เยอะมาก ทำให้ต้องดูแลพวกมันด้วยสารเคมี”

นี่คือเรื่องจริงที่จุกออกชาวประมงและคนรักอาหารทะเลมานานนม ทางเดียวที่จะปลดล็อกได้ ก็คือชาวประมงต้องลุกมาผลิตสินค้าของตัวเอง และมีช่องทางขายเองโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร เพื่อที่ชาวประมงจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์ตรงได้ทานอาหารปลอดภัย สดใหม่จากชาวประมง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

นั่นเองที่ทำให้เราได้รู้จักกับร้าน “คนจับปลา” ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากชาวประมงพื้นบ้านขนานแท้ ใช้นวัตกรรมแพคสุญญากาศ และแช่แข็ง เพื่อยืดอายุ ให้นำพาความสดใหม่ถึงมือผู้บริโภคได้นานขึ้น

ร้านคนจับปลา เป็นกิจการของชาวประมง โดยชาวประมงลงหุ้นลงขันร่วมกัน ในนามเครือข่ายประมงพื้นบ้าน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ถือหุ้น 20% สมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยถือ 20% ที่เหลือถือโดยสมาคมรักษ์ทะเลไทย 60%

แม้สมาคมรักษ์ทะเลไทยจะถือครองหุ้นสูงสุด แต่นั่นเป็นเพียงช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เพราะเป้าหมายของพวกเขา กิจการคนจับปลาจะต้องเป็นของชาวประมง “ร้อยเปอร์เซ็นต์”

“เป้าหมายของเราคือ ชาวประมงต้องเป็นเจ้าของร้อยเปอร์เซ็นต์ วันหนึ่งเมื่อร้านคนจับปลาดำเนินกิจการคล่องตัวขึ้น สมาคมรักษ์ทะเลไทยก็จะผ่องถ่ายหุ้นทั้งหมดคืนให้กับชาวประมง” พวกเขาให้คำมั่น

กิจการเล็กๆ ดำเนินมายังไม่ถึงปี พวกเขาเลือกจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน และบริหารจัดการในโมเดลกิจการเพื่อสังคม

“ตอนแรกอยากให้เป็นบริษัทจำกัดด้วยซ้ำ แต่เรายังไม่มีความเชี่ยวชาญขนาดนั้น เพราะเติบโตมาจากสายเอ็นจีโอ การจะก้าวกระโดดแบบนั้นยากมาก เลยเริ่มจากเป็น วิสาหกิจชุมชน ซึ่งถ้าเติบโตไปได้ ก็มีโอกาสที่อนาคตจะจดเป็นในรูปบริษัทจำกัด และบริษัทแห่งนี้ก็จะเป็นบริษัทของชาวประมงโดยแท้จริง”

บริษัทของชาวประมง ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนคนประมงให้มาเป็นนักธุรกิจ และไม่ต้องมาขายของเองด้วยซ้ำ เพราะเมื่อบริษัทแข็งแรงขึ้น พวกเขาสามารถจ้างงานคนเก่งๆ กระทั่งดึงลูกหลานของตัวเองที่ไปเรียนกลับมา
ให้มาทำงานแทนได้

ร้านคนจับปลา รับซื้อผลผลิตในราคาที่สูงกว่าตลาดประมาณ 20% ซึ่งพวกเขาย้ำว่า ไม่ใช่ราคาที่จูงใจหรือดึงดูดอะไรทั้งนั้น แต่เป็นราคาที่ยุติธรรมสำหรับชาวประมง และพวกเขาก็ “สมควรได้รับ” ตั้งแต่ต้นแล้ว
ขณะเงื่อนไขสำคัญของกิจการคนจับปลา คือ กำไรที่ได้ต้องคืนสู่การทำงานด้านการฟื้นฟูทรัพยากรด้วย

“อย่างกำไรสุทธิ 100 บาท ส่วนหนึ่งปันคืนให้กับชุมชน อย่างน้อย 30% ที่เหลือ 10% บริจาคให้กับวัดสี่แยกบ่อนอก ซึ่งเราใช้เป็นสถานที่ตั้งร้านคนจับปลา ส่วนที่เหลือจะคืนสู่งานฟื้นฟูฯ ทั้งหมด”

แล้วชาวบ้านจะได้อะไรจากการนำกำไรไปฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ พวกเขาบอกว่า ก็จะได้ทรัพยากรที่ยั่งยืนกลับคืนมา ซึ่งนั่นหมายถึง ความมั่นคงของอาชีพประมงของพวกเขาด้วย

จากเอ็นจีโอ มาทำ SE เธอยอมรับว่า ไม่ง่าย งานใหญ่สุดคือ ต้องจัดการกับความคิดของตัวเอง จากเดิมที่เคยมองว่า ธุรกิจ คือระบบที่ไม่เป็นธรรม วันนี้ต้องปรับความคิดใหม่ว่า จริงๆ แล้ว การทำธุรกิจก็สามารถทำอย่างเป็นธรรมได้ นั่นคือ ไม่เอาเปรียบทั้งชาวประมง และผู้ซื้อ เวลาเดียวกันยังคืนสู่สังคมได้อีกด้วย โดยการใช้โมเดลของกิจการเพื่อสังคม

วันนี้ยังมีอุปสรรคมากมายให้ฝ่าฟัน ตั้งแต่ ไม่มีทุนไปรับซื้อผลผลิตในล็อตใหญ่ ไม่มีตลาดที่มากพอ และยังมีปัญหาเรื่องระบบขนส่ง ทำให้สินค้าของคนจับปลายังกระจายไปได้ไม่ไกลนัก แต่คนทำบอกเราว่า จะยังมุ่งมั่นต่อไปเพื่อให้กิจการอยู่รอด และเติบโตได้ มีเงินจ่ายค่าจ้างพนักงานได้เหมือนองค์กรทั่วไป โดยขอเวลาอีก 2 ปี ที่จะทำให้ร้านคนจับปลาเป็น SE ที่สมบูรณ์ขึ้นมาให้ได้

สะท้อนมุมมองของเอ็นจีโอ ที่มาโตด้วยโมเดลกิจการเพื่อสังคม คนทำบอกเราว่า ความยั่งยืนขององค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน และความมั่นคงของคนทำงานภาคสังคมนั้น สามารถเกิดได้ด้วยการทำ SE

“ถ้าพูดถึงแหล่งทุนจากการบริจาค อนาคตเชื่อว่า จะไม่เติบโตไปกว่านี้ มีแต่จะน้อยลงๆ ฉะนั้นทำอย่างไรให้คนที่มีหัวใจอยากทำงานเพื่อสังคม ยังคงทำหน้าที่ของตัวเองต่อไปได้ และมีค่าตอบแทนที่เหมาะสมด้วย มองว่า SE นี่แหล่ะคือคำตอบ”

กับหนึ่งกิจการเพื่อสังคมที่เกิดจากเอ็นจีโอ แต่เลือกวิถีกิจการเพื่อสังคม มาแก้ปัญหาชาวประมงพื้นบ้านและร่วมฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน