ยางคำเธียเตอร์ โรงหนังในโรงเรียน

ยางคำเธียเตอร์ โรงหนังในโรงเรียน

การสร้างโรงภาพยนตร์ไว้ชมเป็นการส่วนตัว ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับคนมั่งมีในยุคนี้

แต่สำหรับเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล การมีโรงภาพยนตร์เพื่อการเรียนรู้ในชั่วโมงเรียน ย่อมถือเป็นเรื่องไม่ธรรมดาเช่นกัน

 

ในกระแสที่ “สื่อ” มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะสื่อที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงผู้คนได้ทุกเพศทุกวัย อย่าง ภาพยนตร์ หากมีการนำไปใช้เพื่อสร้างความเข้าใจ ปลุกจิตสำนึก หรือการโน้มน้าวใจแล้ว ย่อมทำให้คนที่ได้เสพสื่อนั้นๆ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่คนที่เสพมากยิ่งขึ้น

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่เราจะเห็นภาพยนตร์กลายเป็นสื่อที่มีความแพร่หลาย และ นำไปใช้ในหน้าที่ของการสร้างความบันเทิง สร้างความเข้าใจ และให้ความรู้อีกด้วย

เมื่อมองในบริบททางการศึกษา สำหรับครูผู้สอนแล้ว แม้การศึกษาจากตำรา เพื่อนำมาบอกเล่าความรู้ต่อไปยังเด็ก อาจจะเป็นบทบาทหน้าที่ที่กระทำมาอย่างต่อเนื่อง แต่บางครั้ง การสร้างความเข้าใจให้แก่เด็กนั้น มีได้ผลลัพธ์ที่ไม่เท่ากัน ทำให้สื่อประเภท “ภาพยนตร์” กลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเรียนการสอนขึ้นมา โดยเฉพาะในเรื่องนี้ยากแก่การทำความเข้าใจ หรือห่างไกลประสบการณ์รับรู้

เราจึงได้เห็นภาพครูพาเด็กนักเรียนเดินทางมาดูภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ในบางโอกาส โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาปลุกใจ รักชาติ สร้างชาติ ภาพเด็กนักเรียนต่อแถวยาวเหยียดเพื่อเข้าชมภาพยนตร์จึงเป็นภาพที่ค่อนข้างเจนตา

แต่จะดีกว่านั้นไหม หากเรามีโรงภาพยนตร์ไปตั้งอยู่ที่โรงเรียนของเราเอง

 

-1-

เหมือนกับที่ ‘ยางคำเธียเตอร์’ ที่ตั้งอยู่ในโรงเรียนบ้านยางคำ ต.ยางคำ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ซึ่งวันนี้ ทีมข่าวภูมิภาคอีสาน จะพาไปแนะนำให้รู้จัก

“สาเหตุที่ชื่อยางคำเธียเตอร์ เพราะเป็นชื่อโรงเรียนและอยู่ในบ้านยางคำ ซึ่งอยากให้เป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้าน ส่วนสาเหตุที่มีการเนรมิตใต้ถุนอาคารเรียนมาเป็นโรงภาพยนตร์นั้น เพราะว่าทางกระทรวงศึกษาธิการได้มีการเพิ่มเวลาเรียน หรือคาบเรียนในรายวิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมืองเข้ามา ให้นักเรียนได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น 40 คาบเรียนต่อปี ซึ่งหลังจากได้รับคำสั่งจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ขอนแก่น เขต 5 โดยมีผู้อำนวยการเขตฯ วางแนวความคิดมาก่อน ทำให้เรานำมาสานต่อแนวความคิด เพื่อนำสู่การปฏิบัติ จึงกลายเป็นโรงภาพยนตร์ประวัติศาสตร์นี้ขึ้นมา” ชุมพล ศิริสุนทร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยางคำ เล่าถึงความเป็นมาของโรงหนังดังกล่าว

โรงภาพยนตร์แห่งนี้ ทำหน้าที่ฉายภาพยนตร์ให้แก่นักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถมศึกษา และในระดับมัธยม โดยเฉพาะเนื้อหาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของชาติไทย การเรียนรู้วิถีชีวิตของบรรพบุรุษชาติไทย รวมถึงวิถีชีวิตของคนไทยสมัยก่อน ว่ามีความเป็นมาอย่างไร เพราะวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมนั้น นับว่ามีความแตกต่างจากวิถีสมัยใหม่ในปัจจุบัน

และยิ่งเมื่อผนวกกับพันธกิจของสถาบันการศึกษา ซึ่งมีหน้าที่หลักในการผลิตซ้ำอุดมการณ์ความรักต่อสถาบัน ทั้งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เครื่องมืออย่างโรงภาพยนตร์จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย

นั่นจึงเป็นที่มาของแนวคิดในการปลูกฝังความรู้และทัศนคติ ให้สอดคล้องกับค่านิยม 12 ประการของไทย ด้วยการปรับปรุงพื้นที่ที่มีอยู่ภายในโรงเรียนให้กลายเป็นโรงภาพยนตร์ โดยเงื่อนไขของความเป็นสื่อสมัยใหม่ที่ทรงพลัง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ขนาดใหญ่ พร้อมด้วยระบบเสียงอย่างดี ทำให้เด็กนักเรียนสามารถซึมซับรับรู้ได้โดยตรง ผ่านภาพและเสียง บางครั้งอาจจะได้เนื้อหาสาระที่ชัดเจนมากกว่าการสอนแบบปากเปล่า หรือการสอนด้วยภาพนิ่ง หรือด้วยสื่อการเรียนการสอนรูปแบบเดิมๆ ที่ยังย่ำอยู่กับที่ทั้งหลาย

"พอเรานำภาพยนตร์ที่เป็นจอใหญ่ๆ แทนที่จะเป็นภาพจากจอทีวีธรรมดา เด็กก็จะรู้สึกตื่นเต้นกับการได้ชม และเรียนรู้ไปในตัวมากขึ้น ก่อนหน้านี้ก็เคยมีแนวคิดการทำเมื่อ 13 ปีที่แล้ว โดยที่ต้องการจะทำแค่ขนาดห้องเรียนเดียว โดยจะทำเป็นชั้นขึ้นมา ใช้เก้าอี้ธรรมดา ทำเป็นห้องเรียนแบ่งเป็นชั้น ในตอนนั้นใช้เป็นจอทีวีขนาด 42 นิ้ว ซึ่งก็ได้ผลเหมือนกัน ทำให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สารคดีต่างๆ ดีขึ้น”

“แต่พอมีการเปลี่ยนแปลงมาทำให้จอภาพยนตร์ใหญ่ขึ้นอย่างปัจจุบัน เช่นเดียวกับโรงภาพยนตร์ทั่วไปที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า โดยเก้าอี้ที่ให้นักเรียนได้นั่ง ได้รับการบริจาคจากห้องประชุมคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ถูกใช้งานมานานแล้ว ได้ทำการเปลี่ยนชุดใหม่ ซึ่งเป็นโชคดีของเด็กๆที่นี่ ที่ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มองเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ของเด็กๆ และเนื่องจากจอภาพยนตร์มีความใหญ่เหมือนกับโรงภาพยนตร์ทั่ว ๆ ไป ทำให้เด็กรู้สึกสนใจ และอยากมาเรียนวิชานี้เพิ่มขึ้น" ผอ.โรงเรียนยางคำบอก

 

-2-

ส่วนการฉายภาพยนตร์ให้เด็กนักเรียนได้ชมนั้น มีขั้นตอนการฉายหรือเป็นการเขียนโปรแกรมในการเรียนการสอนที่เรียกว่า “ตารางเรียน” ในปี 2558 นี้ขึ้นมาเพิ่มด้วย โดยที่มีการวางโปรแกรม และได้ร่วมหารือกับคุณครูในรายวิชาสังคมว่าจะมีการสอนให้นักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 3 มาเรียนที่นี่ สัปดาห์ละ 1 วัน อาจจะเป็นช่วงชั่วโมงเรียนภาคบ่าย เป็นคาบเรียนที่ 5 หรือ 6 ซึ่งในระดับประถมจะเป็นคาบเรียนที่ว่าง เพราะเรียนแค่ 5 คาบเรียนต่อวัน ส่วนในระดับมัธยมศึกษา จะเรียน 6 คาบเรียนต่อวัน เพราะฉะนั้น ในคาบเรียนที่ 6 นักเรียนชั้นประถมจะว่าง ไม่มีชั่วโมงเรียนในบางวัน คุณครูก็จะจัดชั่วโมงประวัติศาสตร์เข้าไปให้เด็กได้เข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตของบรรพบุรุษไทย เพื่อปลูกฝังให้เขารักชาติ เป็นคนดีของสังคม

“ส่วนมาก ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ที่นำมาฉายให้เด็กเรียนรู้นั้น จะสอนความเป็นคนดี การมีเจตคติที่ดีในการดำรงชีวิตในสังคม”

นอกจากนักเรียนแล้ว คณะผู้นำหมู่บ้าน รวมถึงองค์กรต่างๆ ในท้องถิ่น พอเห็นโรงภาพยนตร์ของเด็กๆ แล้ว จึงอยากขอลองใช้บ้าง จึงมีการฉายภาพยนตร์ประวัติศาสตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ให้ชมกัน แต่ไม่มีการเรียกเก็บเงินแต่อย่างใด

หลังจากนั้น ทางโรงเรียนมีแนวนโยบายเปิดให้ทาง ชมรม อสม. มาประชุมที่นี่ หลังจากประชุมเสร็จแล้ว ก็มีการเปิดภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ให้ชมกันด้วย ซึ่งทางโรงเรียนจะไม่เน้นฉายภาพยนตร์ของต่างประเทศ หรือภาพยนตร์แนวอื่นๆ นอกเหนือจากแนวประวัติศาสตร์เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีการฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนมีความจงรักภักดี ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และสารคดีต่างๆ ก็อนุญาตให้ฉายได้ และส่วนขององค์กรต่างๆ ทั้ง อสม. องค์ผู้สูงอายุ เวลามีการเรียกประชุมต่างๆ ปู่ย่า ตา ยาย มารับเบี้ยยังชีพที่เทศบาลนั้น ทางเทศบาลก็จะหารือกับทางโรงเรียน เพื่อขอเวลาให้ผู้สูงอายุได้เข้ามาชมภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ที่นี่ด้วย

แม้ปัจจุบันจะเป็นการฉายภาพยนตร์ในระบบดิจิตอล แต่ทางโรงเรียนยังได้มีการนำเอาเครื่องฉายภาพยนตร์แบบเก่ามาตั้งไว้ภายในห้องฉายภาพยนตร์ด้วย คล้ายๆ เป็นการจัดนิทรรศการเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่า ก่อนจะมีเครื่องฉายแบบดิจิตอลนั้น เครื่องฉายหนังโบราณมีหน้าตาเป็นอย่างไร รวมทั้งฟิล์มสมัยเก่า กล้องสมัยเก่า และเครื่องฉายเก่าๆ ก็เช่นกัน ได้มีการนำมาจัดแสดงไว้ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เส้นทางของภาพยนตร์ ก่อนจะมาเป็นการฉายแบบระบบดิจิตอลเหมือนในปัจจุบัน

 

-3-

ทางด้านปฏิกิริยาของผู้ชมนั้น ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกดีใจและตื่นเต้นที่เข้ามาชมภาพยนตร์ที่มีขนาดเท่ากับในห้างสรรพสินค้าทั่วไป เพราะโดยส่วนตัว ไม่เคยได้ไปชมภาพยนตร์ในเมืองอยู่แล้ว พร้อมๆ กันนั้นยังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยไปในตัว รู้สึกสนุกสนานและได้อรรถรสในการชม เพราะจอภาพยนตร์ที่มีขนาดใหญ่ และระบบเสียงที่ได้ยินทั้งห้อง ซึ่งเพื่อนๆ ต่างก็รู้สึกสนุกสนานเช่นเดียวกัน นักเรียนบางคนบอกว่า ตนเองจะนำเรื่องนี้ไปบอกต่อเพื่อนๆ ที่เรียนโรงเรียนอื่นๆ ว่าที่โรงเรียนบ้านยางคำที่เรียนอยู่นั้น มีโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ให้ชมด้วย

ด.ญ.วิมลธรณ์ พลธรรม นักเรียนชั้น ป.6 ที่เคยเข้ามาใช้บริการเป็นครั้งแรก รู้สึกดีใจและตื่นเต้นที่เข้ามาชมภาพยนตร์ที่มีขนาดเท่ากับในห้างสรรพสินค้าทั่วไป เพราะโดยส่วนตัวเธอบอกว่า ไม่เคยได้ไปชมภาพยนตร์ในเมืองอยู่แล้ว พร้อมกันนี้ ยังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยไปในตัว และรู้สึกสนุกสนาน ได้อรรถรสในการชม เพราะจอภาพยนตร์ที่มีขนาดใหญ่ และระบบเสียงที่ได้ยินทั้งห้อง และเพื่อนๆ ต่างก็รู้สึกสนุกสนานเช่นเดียวกัน

“หนูจะไปบอกต่อเพื่อนที่เรียนโรงเรียนอื่นๆ ว่าที่โรงเรียนบ้านยางคำของหนู มีโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ด้วย อยากไปดูด้วยกันไหม” ด.ญ.วิมลธรณ์ บอก

เช่นเดียวกับ ด.ช.สิทธิโชติ เกณฑะโกฏ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก็รู้สึกดีใจที่โรงเรียนมีโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ให้ได้เรียนรู้ ซึ่งส่วนตัวชอบดูภาพยนตร์อยู่แล้ว การได้เรียนผ่านภาพเคลื่อนไหวแบบนี้ ทำให้ตัวเองอยากเรียนวิชาประวัติศาสตร์มากยิ่งขึ้น

“ดูแล้วสนุก ตื่นเต้น ฉากรบก็เหมือนเราอยู่ในเหตุการณ์ด้วย เรียนแบบนี้ไม่เบื่อ เหมือนไม่ได้เรียน และทำให้เราจำเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ได้โดยปริยาย จำตัวละครสำคัญๆ ได้ด้วย ดีครับ ผมชอบ” ด.ช.สิทธิโชติ บอกความรู้สึกของเขา

ส่วนผู้ใหญ่อย่าง พ.ต.อ.ธนาวัชร ดีบุญมี ผกก.สภ.หนองเรือ หนึ่งในผู้ที่เคยเข้าไปใช้บริการ โรงภาพยนตร์ยางคำเธียร์เตอร์ บอกว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่มีการสร้างโรงภาพยนตร์แห่งนี้ขึ้นมา เพราะจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์แก่นักเรียนและชุมชน ในเรื่องของการเรียนรู้ การศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่จำเจในการเรียนรู้

นอกจากนี้ ไม่เพียงแค่เป็นสถานที่ฉายภาพยนตร์ประวัติศาสตร์เท่านั้น ยังสามารถกลายเป็นห้องอบรมเล็กๆ และเป็นห้องประชุมของคนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมได้อีกด้วย เพราะส่วนตัวเคยมีการนำนักเรียนประถมมาทำการอบรมอาสาจราจร ก็สามารถใช้งานในห้องนี้ได้เช่นเดียวกัน

สำหรับโรงภาพยนตร์ ยางคำเธียเตอร์ นั้น ได้ถูกสร้างขึ้นภายใต้อาคารเรียนขนาดใหญ่ ด้านหน้ามีตัวหนังสือวิ่ง เพื่อบ่งบอกว่า นี่คือโรงภาพยนตร์ ส่วนภายในตกแต่งด้วยฟิล์มฉายภาพยนตร์ชนิดเก่าติดด้านหลังห้อง และมีเครื่องฉายภาพยนตร์สมัยเก่า 2 เครื่องตั้งอยู่

ถึงแม้ว่าเก้าอี้ที่ได้รับบริจาคมาจากทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้น จะไม่ใช่เก้าอี้ใหม่เสียทีเดียว แต่สำหรับเด็กๆ ที่นี่ ต่างรู้สึกยินดีและดีใจที่โรงเรียนของตัวเอง มีโรงภาพยนตร์ไว้ให้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่อให้การเรียนนั้นไม่น่าเบื่อจำเจ

ที่สำคัญ โรงฉายภาพยนตร์ที่นี่ นับเป็นสถานที่แห่งแรกๆ ในประเทศไทยที่ทำขึ้นเพื่อให้นักเรียนศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยโดยเฉพาะ.