Siam Green Sky

Siam Green Sky

ศูนย์การเรียนรู้วิถีเกษตรและนิเวศวิทยาชุมชมเมืองในรูปแบบ 'ห้องเรียนกลางแจ้ง' แห่งใหม่ เหนือหลังคาอาคาร 'สยามสแควร์ วัน'

อาคาร สยามสแควร์ วัน (Siam Square One) ศูนย์การค้าแห่งไลฟ์สไตล์และเทรนด์แฟชั่นวัยรุ่นซึ่งตั้งอยู่ใจกลางย่านเศรษฐกิจและการเงินของกรุงเทพฯ ดาดฟ้าบนชั้น 7 ของอาคารแห่งนี้มีการ ทำนาปลูกข้าว กันเมื่อวันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา


นอกจากการปลูกข้าว บนดาดฟ้าแห่งนี้ยังปลูกผักและสมุนไพรชนิดอื่นๆ เช่น มะเขือ พริก หญ้าหนวดแมว ว่านหางจระเข้ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามโครงการ Siam Green Sky (สยาม กรีน สกาย)


“โครงการสยาม กรีน สกาย เป็นโครงการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับมหาวิทยาลัยและเมือง ซึ่งมีการพูดคุยและตกลงกันตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนก่อสร้างอาคารสยามสแควร์ วัน เมื่อสามปีก่อน” อาจารย์ กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกประจำโครงการสยาม กรีน สกาย กล่าว


นอกจากเพิ่มพื้นที่สีเขียว -พื้นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม- ด้วยการปลูกต้นไม้บนหลังคา ฟอกอากาศเพิ่มออกซิเจนให้กับเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมอบหน้าที่ให้กับ ‘สยาม กรีน สกาย’ อีกหนึ่งภารกิจ นั่นก็คือการเป็น ศูนย์เรียนรู้ เผยแพร่องค์ความรู้ให้กับคนเมือง


“การเป็นศูนย์เรียนรู้ เราต้องดูเทรนด์สีเขียว(สิ่งแวดล้อม)ของเมืองว่าเป็นยังไง” อ.กชกร กล่าว เพื่อที่ว่าจะได้จัดเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจของคนเมืองขณะนั้น หรือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นหรือกำลังจะเกิดขึ้น


‘สยาม กรีน สกาย’ สามารถตอบโจทย์ได้หลายประเด็น สร้างเนื้อหาได้หลากหลายเกี่ยวกับนิเวศวิทยาชุมชนเมือง (Urban Ecology)


“ปีนี้เราเปิดตัวด้วยเนื้อหาของพื้นที่ที่ไม่ถูกใช้งาน เช่น หลังคา ทำให้เกิดเป็นพื้นที่สีเขียวกลับสู่คน ปลูกพืชกินได้ และปลูกแบบออร์แกนิค ปีหน้าสังคมอาจให้ความสนใจเรื่องพลังงานทดแทน กรีนรูฟก็อาจเปลี่ยนเนื้่อหาเป็นเรื่องนี้ หรือศึกษาเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Architecture) ทำให้ตึกลดการใช้พลังงานยังไง ซึ่งเราก็คำนึงถึงพลังงานทดแทนอยู่แล้ว จึงมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้ด้วย อย่างแรกคือเพื่อใช้ประโยชน์กับสวน ตอนกลางคืนสวนต้องเปิดไฟตามทางเดินเพื่อความปลอดภัย ประหยัดค่าไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลและดำเนินงานเกี่ยวกับสวนที่เปรียบเหมือนศูนย์การเรียนรู้ที่ยั่งยืน มีหลังคาในเมืองที่ถูกตากแดดไม่รู้กี่แสนตารางเมตร เราสามารถทำให้กลายเป็นที่ที่สร้างผลผลิตได้”


การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้หลากหลาย เป็นเพราะโครงการ 'สยาม กรีน สกาย' ดำเนินงานโดยคณะที่ปรึกษาซึ่งประกอบด้วยคณาจารย์จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์, ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายสังคม


‘หลังคาตึกสูงใจกลางเมือง’ ไม่เป็นปัญหาสำหรับการใช้เป็นพื้นที่ทำนาปลูกข้าว เพียงแต่ต้องเตรียมการบางอย่าง


“ปกติดินในนามีความสมบูรณ์อยู่แล้ว แต่ถ้าเรานำดินขึ้นมาบนหลังคาตึก เราต้องปรุงดินให้มีความสมบูรณ์สำหรับการปลูกข้าว” เหรียญ ใกล้กลาง เกษตรกรจากมูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าว


“ปกติต้นข้าวชอบดินเหนียว เพราะมีน้ำขัง ไม่ต้องรดน้ำบ่อย แต่ถ้าเราจะนำดินเหนียวขึ้นมาบนหลังคาตึกจะมีน้ำหนักมาก จึงต้องใช้ดินแบบเดียวกับการปลูกผักทั่วไป แต่ปัญหาคือไม่อุ้มน้ำ น้ำไม่ขังเหมือนในนาข้าว ดังนั้นจึงต้องรดน้ำให้ ‘ถึง’ คือให้ชุ่ม เพราะถ้าไม่ชุ่ม ดินที่ปรุงไว้จะแห้ง และด้วยความสูงและความโล่งของสถานที่ มีทั้งแสงแดดและแรงลม ทำให้ดินสูญเสียความชื้นได้เร็วมาก จึงต้องรดน้ำให้ทั่วและสม่ำเสมอในแต่ละวัน จริงๆ ปลูกข้าวไม่จำเป็นต้องน้ำเจิ่งตลอดเวลา ขอแค่อย่าขาดน้ำ โดยเฉพาะช่วงข้าวเริ่มตั้งท้อง”


การปรุงดินของคุณเหรียญคือการผสม ขุยมะพร้าว เพื่อดูดซับความชื้น และ อินทรีย์วัตถุ 5% โดยไม่ใช้สารหรือปุ๋ยเคมีๆ ใด เนื่องจากพันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกในโครงการสยาม กรีน สกาย ครั้งนี้คือ ข้าวหอมปทุมเทพ พันธุ์ข้าวกล้องพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ข้อดีคือเป็นพันธุ์ข้าวอินทรีย์ ที่ไม่เคยต้องการปุ๋ยเคมี


เพียงแต่ระหว่างที่ต้นข้าวเติบโต ต้องอาศัยประสบการณ์หมั่นสังเกตไปเรื่อยๆ ว่าต้นข้าวขาดแร่ธาตุอะไรไหม อาจต้องใส่ปุ๋ยหมักหรือฉีดน้ำหมักเพิ่ม


แม้เป็นครั้งแรกที่ปลูกข้าวบนตึกสูง แต่คุณเหรียญเชื่อว่าสามารถทำได้ เพราะข้าวเป็นพืชที่ต้องการแสงแดด ความสูงไม่เป็นปัญหา ทั่วทุกภาคของไทยปลูกข้าวได้ ซึ่งแต่ละภาคก็มีความสูงจากระดับน้ำทะเลที่แตกต่างกันอยู่แล้ว


ที่สำคัญคือ “อย่าไปปลูกต้นไม้ด้วยการใส่สารเคมีเลย เราต้องการให้บ้านเรา(ประเทศ)เป็นสีเขียว ปลอดสาร ปลูกต้นข้าวสีเขียวสบายตา กลางวันผลิตออกซิเจนให้เราอยู่แล้ว เหมือนเรามีสนามหญ้า แต่มันเป็นสนามข้าวเล็กๆ”


คุณเหรียญแนะนำการฟื้นฟูคุณภาพดินหลังจากปลูกข้าว “เราอาจปลูกพืชตระกูลถั่วหรือปอเทือง เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็สับลงไปในดิน สร้างอาหารโดยธรรมชาติ โดยไม่ต้องนำมูลสัตว์ขึ้นมา ใช้วิธีการปลูกปุ๋ยพืชสดลงไป ฟางข้าวที่เหลือก็ใช้คลุมดินปลูกพริกหรือผักชนิดอื่นๆ เพื่อไม่ต้องรดน้ำบ่อยๆ”


จากพื้นที่หลังคา สยามสแควร์ วัน ขนาด 2,000 ตารางเมตร จัดสรรเป็นแปลงปลูกข้าว 200 ตารางเมตร คุณเหรียญคาดว่าจะได้ผลผลิตข้าวราว 100 กิโลกรัม เมื่อถึงเวลานั้นต้องขอแรงคนกรุงเทพฯ ที่ช่วยกันดำนาวันนี้มาช่วยกันเก็บเกี่ยวอีกครั้ง


ในฐานะชาวนาปลูกข้าว คุณเหรียญมองกิจกรรมปลูกข้าวบนตึกสูงนี้ว่า “อย่างน้อยให้คนกรุงเทพฯ รู้ว่า มีพื้นที่เล็กๆ สักห้าตารางเมตร ก็สามารถมีแปลงปลูกข้าวได้ ให้เด็กๆ ในบ้านได้เรียนรู้วงจรชีวิตข้าว กว่าจะปลูก ดูแล เก็บเกี่ยว มีความลำบาก อยากกินข้าวหมดจาน ไม่กินทิ้งกินขว้าง นึกถึงชาวนา”


โครงการสยาม กรีน สกาย นอกจากมี ‘พื้นที่หลังคา’ เป็นเสมือนห้องเรียนกลางแจ้ง ยังมีการจัด เวิร์คชอป ที่มีเนื้อหาสัมพันธ์กับนิเวศวิทยาชุมชนเมือง พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ที่ใกล้ตัวคนเมือง ซึ่งเนื้อหาจะเปลี่ยนไปทุกเดือน อาจารย์กชกรกล่าว


เวิร์คชอปเดือนมิถุนายน (20 มิ.ย.) ที่กำหนดไว้ขณะนี้คือ ปลูกผักเปลี่ยนชีวิต วิทยากรโดย ครูช่าง-ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง และ ปริ้นซ์ เจ้าของฉายา ‘เจ้าชายผัก’ จากกลุ่มฮาร์ดคอร์ ออร์แกนิค ช่วยกันให้คำแนะนำเรื่องการปลูกผักสำหรับนักปลูกมือใหม่ ร่วมกับการสอดแทรกแนวคิดด้านทักษะชีวิตและเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการเล่าเรื่อง การละคร


นอกจากนี้เพื่อให้เกษตรกรชานเมืองได้มีหน้าร้านในเมืองบ้าง และเปิดโอกาสให้คนซื้อพูดคุยกับคนขายหรือผลิตสินค้าออร์แกนิคโดยตรง จึงจัดให้มีตลาดนัดสีเขียว สยาม กรีน มาร์เก็ต (Siam Green Market) จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Green product บริการด้านการเกษตรปลอดภัยจากกลุ่มเกษตรกร และอาหารเพื่อสุขภาพ ได้แก่ มูลนิธิการศึกษาเพื่อโลกสีเขียว ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสองสลึง เครือข่ายคนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา Memo Design & Make Eco Shop Common เป็นอาทิ


เวิร์คชอปและตลาดนัด สยาม กรีน มาร์เก็ต มีกำหนดจัดทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ สัปดาห์ที่สามของทุกเดือน


ส่วนการเข้าชม 'สยาม กรีน สกาย' หรือพื้นที่ 'หลังคาสีเขียว’ ของอาคาร สยามสแควร์ วัน เปิดบริการเฉพาะวันพุธและวันเสาร์ วันละ 3 รอบ คือ 10.30-11.30 น. รอบที่สองเวลา 14.30-15.30 น. และรอบสุดท้ายเวลา 16.30-17.30 น.


ผู้สนใจเข้าชม ‘สยาม กรีน สกาย’ กรุณาสำรองรอบการเข้าชมล่วงหน้า หากต้องการวิทยากรสำหรับนำชมเป็นหมู่คณะก็สามารถแจ้งได้ หรือสนใจร่วมจำหน่ายสินค้าในกิจกรรม ‘สยาม กรีน มาร์เก็ต’ ติดต่อได้ที่ฝ่ายกิจกรรมสถานที่ ศูนย์เกษตรกรรมเมือง สยาม กรีน สกาย โทร.09 9001 8514 อีเมล [email protected] และเว็บไซต์ www.siamgreensky.com


“เชื่อว่า สยาม กรีน สกาย จะสร้างแรงบันดาลใจได้ทุกระดับในสังคม” อ.กชกร กล่าวและว่า เช่นเปลี่ยนวิสัยทัศน์สัยทัศน์ระดับบุคคล การมาสยาม ทำไมต้องมาซื้อสินค้าอย่างเดียว แต่สามารถมาปลูกข้าวได้ เรียนรู้การเกษตร การทำปุ๋ย ช่วยเกษตรกรไทย เชิงการศึกษานี่คือห้องเรียนเปิดที่ภาควิชาต่างๆ สามารถใช้เป็นห้องเรียนได้ ในระดับอาคารพาณิชย์ก็ทำได้ มีการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ปล่อยแต่ความร้อน มาเรียนรู้ที่อาคาร ‘สยามสแควร์ วัน’ ต่อไปเราอาจมีเป็นกฎหมาย เช่น อาคารทั้งหมดในมหาวิทยาลัยน่าจะมีกรีนรูฟ หรืออาคารพาณิชย์ขนาดเกินเท่าใดต้องมีกรีนรูฟ มีการผลักดันอยู่ แต่เรายังไม่ชัดเจนเหมือนสิงคโปร์และญี่ปุ่น"


หากขึ้นไปยืนบนหลังคาตึกสูงแล้วเห็นขอบฟ้าเป็นสีเขียว...จากหลังคาตึกรอบด้าน.. จะดีขนาดไหน


ภาพ :เอกรัตน์ ศักดิ์เพชร